ปี 2023 เป็นวาระครบรอบ 10 ปีที่จีนเสนอข้อริเริ่ม“หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง” และยังเป็นจุดเริ่มต้นใหม่ของจีนในการก้าวสู่ความทันสมัยแบบจีน ภายใต้สถานการณ์ความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจโลกที่กำลังทวีความรุนแรงขึ้น แนวทางการพัฒนาความทันสมัยแบบจีนจะเชื่อมโยงกับการพัฒนาของโลกผ่านการร่วมสร้าง“หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง” ได้อย่างไรนั้น กลายเป็นประเด็นที่ทั่วโลกสนใจ
เมื่อเร็วๆ นี้ในงานสัมมนานานาชาติเกี่ยวกับ “ความทันสมัยแบบจีนและอนาคตของหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง” จัดขึ้นที่กรุงปักกิ่ง ผู้เชี่ยวชาญและนักวิชาการจากจีนและต่างประเทศที่เข้าร่วมงานได้แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับอนาคตแห่งการร่วมสร้าง“หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง”ที่มีคุณภาพสูงและกระบวนการพัฒนาความทันสมัยแบบจีน
นายจอห์น รอสส์ อดีตผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายเศรษฐกิจและธุรกิจลอนดอนแสดงความคิดเห็นว่า ช่วงหลายปีที่ผ่านมา สภาพแวดล้อมการประกอบธุรกิจ การใช้ชีวิต และสิ่งแวดล้อมทางธรรมชาติในจีนดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง ปัจจุบันถึงแม้ว่าสหรัฐฯ และบางประเทศในยุโรปจะยังไม่ค่อยสนใจข้อริเริ่มอ“หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง” แต่ตามการคาดการณ์ของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ ใน 5 ปีข้างหน้า การเติบโตทางเศรษฐกิจโลก 56% จะเกิดจากประเทศกำลังพัฒนา
เขายังกล่าวด้วยว่า อารยธรรมที่สำคัญต่างๆ ของมวลมนุษยชาติส่วนใหญ่อยู่ในทวีปเอเชีย เช่น อารยธรรมอินเดีย อารยธรรมจีน และอารยธรรมในเอเชียตะวันตก ความทันสมัยแบบจีนแสดงให้เห็นถึงบทบาทของจีนอีกครั้งในวิวัฒนาการการพัฒนาทางประวัติศาสตร์ของอารยธรรมแห่งมนุษยชาติ จีนควรจะกลายเป็นแบบอย่างสำหรับนานาประเทศมากขึ้น
นายเอเดรียน นาสตาส (Adrian Nastase) อดีตนายกรัฐมนตรีโรมาเนีย มองว่า ข้อริเริ่ม “หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง” ที่เสนอโดยประธานาธิบดีสี จิ้นผิงของจีน เป็นกรอบความร่วมมือที่ดีมาก เป็นประโยชน์กับประเทศกว่า 170 ประเทศทั่วโลก จะช่วยให้ประเทศเหล่านี้บรรลุความเจริญรุ่งเรืองและการพัฒนา ตลอดจนสร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจที่มากขึ้นเรื่อยๆ
จากข้อมูลล่าสุด นับตั้งแต่จีนเสนอข้อริเริ่ม “หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง” เป็นต้นมา จีนได้ลงนามในเอกสารความร่วมมือกับ 151 ประเทศและ 32 องค์กรระหว่างประเทศ เพื่อร่วมกันสร้าง“หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง” ปัจจุบัน “หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง” ได้กลายเป็น “แถบการพัฒนา” ที่เป็นประโยชน์ต่อทั่วโลก และเป็น “เส้นทางสู่ความสุข” ที่เป็นประโยชน์ต่อประชาชนประเทศต่างๆ แล้วอะไรจะเป็นปัจจัยที่ทำให้ความทันสมัยแบบจีนและข้อริเริ่ม “หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง” สามารถดำเนินไปอย่างลึกซึ้ง มั่นคง ยั่งยืน ?
นายหลี่ เซี่ยงหยาง ผู้อำนวยการศูนย์ยุทธศาสตร์ระหว่างประเทศของสถาบันบัณฑิตสังคมศาสตร์จีน(National Institute Of International Strategy, CASS) กล่าวว่า คุณลักษณะสำคัญของความทันสมัยแบบจีนคือ จีนจะเดินตามแนวทางการพัฒนาอย่างสันติ และข้อริเริ่ม“หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง” ที่สอดคล้องกับความต้องการนี้เป็นอย่างดี
นาย Vijay Prashad ผู้อำนวยการฝ่ายบริหารของสถาบันวิจัยสังคมสามทวีป (Tricontinental: Institute for Social Research) แสดงความคิดเห็นว่า ข้อริเริ่ม “หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง” ได้แสดงวิสัยทัศน์การพัฒนาอย่างชัดเจนต่อประเทศกำลังพัฒนาทุกประเทศ ทำให้ทุกประเทศมีรูปแบบการพัฒนาสู่ความทันสมัยของตนเอง
นายเหลียง เฮ่ากวาง ผู้อำนวยการฝ่ายบริหารของศูนย์วิจัยความทันสมัยจีนแห่งสถาบันบัณฑิตวิทยาศาสตร์จีน (Chinese Academy of Sciences – CAS) กล่าวว่า “หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง” เป็นแนวทางปฏิบัติสากลที่ดีที่สุดในการพัฒนาความทันสมัยแบบจีน ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา ข้อริเริ่ม “หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง” มีบทบาทสำคัญยิ่งในกระบวนการสร้างห่วงโซ่คุณค่าระดับโลก ห่วงโซ่อุปทาน ตลอดจนธรรมาภิบาลทางเศรษฐกิจและสังคมของโลก ในแง่มุมประโยชน์ทั่วโลก ข้อริเริ่ม “หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง” และรูปแบบการพัฒนาความทันสมัยแบบจีนทำให้โลกสามารถหลีกเลี่ยงเกมการแข่งขันแบบต้องมีฝ่ายแพ้ชนะ และการปะทะกันทางอารยธรรม
นอกจากนี้ กระบวนการพัฒนาความทันสมัยแบบจีนยังจะสำรวจโมเดลใหม่และค้นหาตัวอย่างใหม่สำหรับประเทศกำลังพัฒนาและประเทศอธิปไตยมากขึ้น ในช่วง 10 ปีข้างหน้า ข้อริเริ่ม “หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง” จะสร้างโอกาสให้กับโลกมากขึ้น
(bo/cai)