บทวิเคราะห์ : สหรัฐอเมริกากลายเป็นตัวการหลักที่ทำลายระบบการค้าระหว่างประเทศ

2023-05-22 19:18:55 | CMG
Share with:

ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา สหรัฐอเมริกาไม่เพียงแต่ดำเนินลัทธิกีดกันทางการค้าฝ่ายเดียวเท่านั้น หากยังทำให้เศรษฐกิจและการค้ากลายเป็นอาวุธทางการเมือง นักสังเกตการณ์โดยทั่วไปเห็นว่า ในความเป็นจริงในแง่การค้าโลกนั้นสหรัฐอเมริกาได้กลายเป็นตัวการหลักที่ทำลายระบบการค้าระหว่างประเทศ ซึ่งสะท้อนให้เห็นจากเหตุปัจจัยดังต่อไปนี้

ประการแรก ทำลายระเบียบระหว่างประเทศ

สงครามการค้าที่ก่อขึ้นโดยสหรัฐอเมริกาทำให้เกิดภัยคุกคามที่ส่อนัยล้างระเบียบเศรษฐกิจระหว่างประเทศและระบบการค้าพหุภาคี นอกจากทำสงครามการค้ากับจีนฝ่ายเดียวแล้ว สหรัฐอเมริกายังเรียกเก็บภาษีเพิ่มกับเครื่องบินพลเรือนขนาดใหญ่และสินค้าเกษตรจากสหภาพยุโรป ตลอดจนผลิตภัณฑ์อลูมิเนียมของแคนาดา กระทั่งขัดขวางการเลือกผู้พิพากษาประจำองค์กรอุทธรณ์กลไกแก้ไขข้อพิพาทขององค์การการค้าโลกเป็นเวลายาวนาน ส่งผลให้กลไกดังกล่าวต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่ พฤติกรรมลัทธิกีดกันทางการค้าอย่างโจ่งแจ้งและการกระทำตามอำเภอใจที่ถือเอาผลประโยชน์ของตนอยู่เหนือกฎหมายสากลและกฎเกณฑ์ระหว่างประเทศของสหรัฐอเมริกานั้น ย่อมถือเป็นการเพิกเฉยและเหยียบย่ำระบบการค้าพหุภาคี ทำให้ระเบียบการค้าระหว่างประเทศต้องเผชิญกับความท้าทายอย่างหนัก 

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง สหรัฐอเมริกาได้บีบบังคับประเทศที่เกี่ยวข้องให้ตัดขาดกับจีนทางเศรษฐกิจ ดำเนินการคว่ำบาตรทางเทคโนโลยีต่อจีน และใช้มาตรการกดดันบริษัทจีนอย่างไร้เหตุผล นี่ไม่ใช่ "การแข่งขันที่เป็นธรรม"อย่างแน่นอน แต่เป็นการละเมิดหลักการระบบเศรษฐกิจแบบตลาดและกฎขององค์การการค้าโลกอย่างร้ายแรง

รายงานการวิจัยขององค์การการค้าโลกแสดงให้เห็นว่า สหรัฐอเมริกาเป็น "ผู้ที่ไม่เคารพกฏเกณฑ์ที่สุด"  โดย 2 ใน 3ของกรณีละเมิดกฏขององค์การการค้าโลกนั้นเกิดจากสหรัฐอเมริกา เว็บไซต์ East Asia Forum ของออสเตรเลียได้เผยแพร่บทความซึ่งระบุว่า การกระทำของสหรัฐอเมริกาในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาเป็นการทำลายระเบียบเศรษฐกิจที่อิงกฎเกณฑ์อย่างร้ายแรง และสหรัฐอเมริกา ได้กลายเป็นตัวการหลักที่ทำลายระบบการค้าระหว่างประเทศ

ประการที่สอง ทำให้ความไม่สมดุลรุนแรงขึ้น

ภายใต้นโยบาย "อเมริกามาก่อน" สหรัฐอเมริกาจงใจ "สร้างกำแพงและป้อมปราการ"  บีบบังคับให้ "แยกตัวและตัดขาดห่วงโซ่"  ประกาศใช้นโยบายอุตสาหกรรมชุดใหญ่เพื่อกีดกันและเลือกปฏิบัติต่อผู้อื่น ซึ่งบั่นทอนการก่อตัวของโครงสร้างการแบ่งงานอย่างสมเหตุสมผลสำหรับอุตสาหกรรมทั่วโลก  สิ่งนี้ไม่เพียงแต่จะไม่ช่วยปรับสมดุลเศรษฐกิจโลกในปัจจุบันเท่านั้น แต่ยังจะสร้างความไม่สมดุลแก่เศรษฐกิจโลกใหม่อีกด้วย เมื่อห่วงโซ่อุตสาหกรรมทั่วโลกผ่านวิวัฒนาการมาหลายทศวรรษ บนพื้นฐานการแบ่งงานจากความเชี่ยวชาญและความสมเหตุสมผล ประกอบกับปัจจัยต่างๆ เช่น ทรัพยากร ต้นทุนแรงงาน และสภาพแวดล้อมทางธุรกิจ เป็นต้น จึงก่อรูปโดยธรรมชาติขึ้นเป็นโครงสร้างที่อุตสาหกรรมการผลิตขั้นพื้นฐานจำนวนมากได้ถูกถ่ายโอนไปยังตลาดเกิดใหม่ และอุตสาหกรรมการผลิตระดับไฮเอนด์กระจุกตัวอยู่ในประเทศพัฒนา ความดื้อรั้นของสหรัฐอเมริกาที่ต้องการย้ายอุสาหกรรมการผลิตกลับไปยังสหรัฐอเมริกานั้นยิ่งเป็นการซ้ำเติมปัญหาทั้งกำลังการผลิตส่วนเกินและการแข่งขันที่มากเกินไปที่ประเทศกำลังพัฒนาบางแห่งซึ่งอยู่ปลายน้ำของห่วงโซ่คุณค่ากำลังเผชิญอยู่ ส่งผลทำให้ช่องว่างระหว่างเหนือ-ใต้ขยายตัวมากยิ่งขึ้น

ประการที่สาม ฉุดการเติบโตให้ตกต่ำลง

ในช่วงวิกฤตที่เศรษฐกิจโลกกำลังเผชิญแรงกดดันขาลงมากขึ้น สหรัฐอเมริกาได้ส่งเสริมประชานิยมทางเศรษฐกิจและการสวนกระแสโลกาภิวัตน์ให้แพร่กระจายไปทั่วโลกเพื่อผลประโยชน์ของตนเองฝ่ายเดียว ส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อการหมุนเวียนตามปกติของห่วงโซ่อุตสาหกรรม ห่วงโซ่อุปทานและห่วงโซ่คุณค่า ฉุดการเติบโตของเศรษฐกิจโลกให้ตกต่ำลง รายงานของกองทุนการเงินระหว่างประเทศที่เผยแพร่เมื่อต้นปีที่ผ่านมาคาดการณ์ว่า หากเศรษฐกิจโลกแตกแยกอย่างรุนแรงหลังการหลอมรวมเป็นหนึ่งเดียวกันมาหลายทศวรรษ ผลผลิตทางเศรษฐกิจโดยรวมอาจจะหดตัวมากถึง 7เปอร์เซ็นต์ และหากเกิดการแตกแยกทางเทคโนโลยีอีก ผลผลิตของบางประเทศอาจหดตัว 8 -12 เปอร์เซ็นต์

ผู้เชี่ยวชาญชี้ว่า สหรัฐอเมริกากดดันและยับยั้งประเทศอื่นโดยใช้ประเด็นความมั่นคงของชาติเป็นข้ออ้าง กลั่นแกล้งผู้อื่นฝ่ายเดียวตามอำแภอใจ บีบบังคับพันธมิตรของตนให้ตั้งกลุ่มผูกขาด เพื่อกีดกันประเทศอื่น ทำลายความมั่นคงและเสถียรภาพของห่วงโซ่อุตสาหกรรมและห่วงโซ่อุปทานทั่วโลกโดยมีเป้าหมายเพื่อทำให้โลกแตกแยกออกเป็นสองตลาดและสองระบบ ซึ่งกลายเป็นภัยคุกคามหลักต่อเศรษฐกิจโลกในปัจจุบัน

ทว่าหนทางเดียวที่เศรษฐกิจโลกจะหลุดพ้นจากภาวะตกต่ำได้ก็คือการที่ทุกฝ่ายร่วมทุกข์ร่วมสุขช่วยเหลือกัน ร่วมมือกันและแบ่งปันชัยชนะร่วมกันทุกฝ่าย หวังเป็นอย่างยิ่งว่านักการเมืองอเมริกันจะละทิ้งการแข่งขันที่มุ่งผลแพ้ชนะและหันมาร่วมมือกันเพื่อมุ่งการเติบโต ทำให้เศรษฐกิจโลกเติบโตอย่างต่อเนื่องและบรรลุผลประโยชน์สูงสุดร่วมกันในที่สุดโดยผ่านการส่งเสริมความร่วมมือ การเชื่อมโยงตลาด และการรักษากฎเกณฑ์ระหว่างประเทศ


IN/LU 

 

  • เสียงข่าวประจำวัน (14-11-2567)

  • สานสัมพันธ์ไทย-จีน (14-11-2567)

  • เสียงคุยกันวันละประเด็น (14-11-2567)

  • เสียงข่าวประจำวัน (13-11-2567)

  • สานสัมพันธ์ไทย-จีน (13-11-2567)