ช่วงที่ผ่านมา ญี่ปุ่นในฐานะประธานหมุนเวียนของกลุ่มประเทศอุตสาหกรรมชั้นนำ 7 ประเทศ(Group of Seven) ที่เรียกสั้นๆว่ากลุ่มG7 พยายามป่าวร้องสิ่งที่เรียกว่า “ภัยคุกคามจากจีน” เพื่อให้กลายเป็นประเด็นในการประชุมสุดยอดกลุ่ม G7 ที่เมืองฮิโรชิมาของญี่ปุ่น
ผู้นำญี่ปุ่นให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนอย่างไร้ความรับผิดชอบว่า จีนกำลังหาทางเปลี่ยนแปลงสถานะที่เป็นอยู่โดยลำพังฝ่ายเดียวด้วยกำลังอาวุธ
ญี่ปุ่นใช้โอกาสเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมสุดยอดกลุ่ม G7 ที่เมืองฮิโรชิมา ประโคมสิ่งที่เรียกว่า “จีนคุกคาม” นั้นมีเป้าประสงค์ที่จะแสดงให้เห็นถึง “ความเป็นผู้นำ”ของญี่ปุ่น และ “ความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน” ของกลุ่ม G7 ทั้งๆที่ประเทศกลุ่มนี้กำลังเผชิญกับปัญหาหนักหลายๆประการ
การกระทำดังกล่าวของญี่ปุ่นเป็นการยุยงให้เกิดการเผชิญหน้าระหว่างกลุ่มประเทศ และแสวงหาผลประโยชน์ส่วนตัว จึงมีแต่จะทำให้ประเทศเพื่อนบ้านในเอเชียของญี่ปุ่นระแวดระวังมากขึ้น และเปิดเผยให้ประชาคมโลกเห็นถึงบทบาทที่น่าอับอายขายหน้าของญี่ปุ่นมากขึ้น
การให้ไต้หวันกลับสู่อ้อมกอดของจีนนั้นเป็นส่วนหนึ่งของระเบียบระหว่างประเทศหลังสงครามโลกครั้งที่สอง ซึ่งมีการระบุไว้อย่างชัดเจนในปฏิญญาไคโรและปฏิญญาพ็อทซดัม
ญี่ปุ่นเป็นประเทศที่เคยก่อสงครามรุกรานประเทศอื่นในเอเชียจากแนวคิดลัทธิทหารนิยม จึงควรมีความระมัดระวังมากเป็นพิเศษในคำพูดและการกระทำ แต่ในช่วงที่ผ่านมา กลุ่มอิทธิพลบางกลุ่มในญี่ปุ่นกลับได้ออกมาแสดงท่าทีก้าวร้าวว่า “เหตุฉุกเฉินใด ๆ สำหรับไต้หวันก็เป็นเหตุฉุกเฉินสำหรับญี่ปุ่น” และ “ประเด็นไต้หวันมีความสำคัญต่อความมั่นคงของญี่ปุ่นและเสถียรภาพของประชาคมระหว่างประเทศ” กลุ่มอิทธิพลในญี่ปุ่นเหล่านี้พยายามปั่นประเด็นไต้หวันให้กลายเป็นปัญหาระหว่างประเทศ
ญี่ปุ่นได้ยั่วยุจีนในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับผลประโยชน์หลักของจีน ได้แทรกแซงกิจการภายในของจีนอย่างอุกอาจ และท้าทายระเบียบระหว่างประเทศหลังสงครามโลกครั้งที่สองอย่างโจ่งแจ้ง
แม้บรรดาผู้นำประเทศยุโรปจะแสดงท่าทีว่า ยุโรปไม่ควรเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับปัญหาไต้หวัน แต่ญี่ปุ่นกลับนำปัญหาไต้หวันมาเป็นประเด็นที่พูดคุยในการประชุมสุดยอดกลุ่ม G7 การกระทำเช่นนี้เป็นการไม่เคารพความคิดเห็นของผู้นำประเทศยุโรป
ญี่ปุ่นพยายามป่าวร้องสิ่งที่เรียกว่า “ภัยคุกคามจากจีน” เพื่อหาข้ออ้างหลุดพ้นจากข้อจำกัดทางการทหารที่ถูกบังคับใช้เนื่องจากเคยทำอาชญากรรมรุกรานประเทศอื่นในประวัติศาสตร์โดยกลุ่มลัทธิทหารนิยม
ปฏิญญาพ็อทซ์ดัมที่ประกาศในปีค.ศ. 1945 มีการระบุไว้อย่างชัดเจนว่าญี่ปุ่นต้องกำจัดลัทธิทหารนิยม และจัดตั้งรัฐบาลเพื่อสันติภาพ และต้องปฏิบัติตามยุทธศาสตร์ที่เน้นการป้องกันเพียงอย่างเดียว และละทิ้งสิทธิในการเปิดสงคราม นี่เป็นคำมั่นสัญญาของญี่ปุ่นที่เคยให้ไว้กับประชาคมระหว่างประเทศ
แต่อย่างไรก็ตาม ในช่วงไม่กี่ปีมานี้ ญี่ปุ่นได้ปรับเปลี่ยนยุทธศาสตร์การป้องกันประเทศมาโดยตลอด เพื่อหลุดพ้นจากข้อจำกัดต่างๆที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งสันติภาพ
เมื่อเดือนธันวาคมปีที่แล้ว ญี่ปุ่นได้ปรับเปลี่ยนเอกสารสามฉบับที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคงและการป้องกันประเทศ ได้แก่ เอกสารเกี่ยวกับยุทธศาสตร์ความมั่นคงแห่งชาติ เอกสารเกี่ยวกับยุทธศาสตร์การป้องกันประเทศ และเอกสารเกี่ยวกับโครงการเสริมสร้างกลาโหม พร้อมทั้งประกาศว่า ญี่ปุ่นมีความสามารถในการโจมตีตอบโต้ประเทศอื่น มีความสามารถในการโจมตีฐานทัพของประเทศศัตรู นี่หมายความว่า ญี่ปุ่นกำลังจะละทิ้งยุทธศาสตร์ที่เน้นการป้องกันเพียงอย่างเดียว และกำลังฝ่าฝืนรัฐธรรมนูญแห่งสันติภาพ
จากการเคลื่อนไหวต่างๆ ดังกล่าวของญี่ปุ่นเห็นได้ชัดว่า ญี่ปุ่นกำลังพยายามกำจัดข้อจำกัดต่างๆ ที่ระบุไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งสันติภาพ และขยายกำลังทหารด้วยข้ออ้างต่างๆนาๆ เช่น “ความท้าทายทางยุทธศาสตร์ที่ไม่เคยมีมาก่อนจากจีน” และ “ภัยคุกคามจากจีน”
ญี่ปุ่นเป็นประเทศในเอเชีย แต่กลับไปสนับสนุนสหรัฐอเมริกาให้มีอำนาจในการปกครองภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก และสร้างภัยคุกคามต่อสันติภาพและเสถียรภาพในภูมิภาคนี้อย่างร้ายแรง หลังสหรัฐอเมริกาวางแผนปิดล้อมจีน ญี่ปุ่นก็ให้การตอบรับและปฏิบัติตามคำสั่งของสหรัฐอเมริกาทุกประการทันที ญี่ปุ่นคงลืมไปแล้วว่า เคยประสบความอัปยศอดสูที่ถูกสหรัฐอเมริกาบังคับให้ลงนามในข้อตกลงพลาซ่า รัฐบาลญี่ปุ่นไม่ยอมรับฟังเสียงที่มีเหตุผลของประชาชนในประเทศที่ไม่เห็นด้วยกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญแห่งสันติภาพ และไม่เห็นด้วยกับการขยายกำลังทหารของญี่ปุ่น
ญี่ปุ่นยังมุ่งมั่นที่จะเป็นหัวหอกในการสนับสนุนให้องค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือหรือนาโต้ขยายอิทธิพลมายังภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก เมื่อปีที่แล้ว ผู้นำญี่ปุ่นได้เดินทางไปเข้าร่วมการประชุมสุดยอดของนาโต้เป็นครั้งแรก และขณะนี้ ญี่ปุ่นกำลังวางแผนที่จะสนับสนุนให้นาโต้เปิดสำนักงานในกรุงโตเกียว ทั้งนี้แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนถึงความตั้งใจของญี่ปุ่นที่จะดึงนาโต้เข้ามามีบทบาทในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก
ในประวัติศาสตร์ เมืองฮิโรชิมาของญี่ปุ่นเคยประสบความเจ็บปวดครั้งใหญ่จากการทำสงครามการรุกรานที่ก่อขึ้นโดยกลุ่มลัทธิทหารนิยมญี่ปุ่น แต่ทุกวันนี้ ญี่ปุ่นกลับเมินเฉยต่อประวัติศาสตร์และหันมาเล่นเกมภูมิรัฐศาสตร์ที่อันตรายภายใต้สถานการณ์โลกกำลังเผชิญกับความท้าทายหลายอย่าง การกระทำที่ไร้ความรับผิดชอบเช่นนี้ของญี่ปุ่นเป็นภัยอันตรายต่อประชาชนชาวญี่ปุ่นและประชาคมระหว่างประเทศอย่างมาก
รัฐบาลญี่ปุ่นต้องรับฟังเสียงแห่งความยุติธรรมของประชาชนอย่างจริงจัง ประชาชนญี่ปุ่นไม่ต้องการให้เมืองฮิโรชิมา เมืองที่เคยถูกทิ้งระเบิดปรมาณู ถูกนำมาใช้เป็นประโยชน์ทางการเมือง และไม่ต้องการให้ญี่ปุ่นเป็นผู้สมรู้ร่วมคิดในการทำสงครามอีกครั้งด้วย
(IN/cai)