สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) จัดสัมมนาเรื่อง “เจาะตลาดจีน ตีโจทย์ส่งออกตลาดจีน หลังเปิดประเทศใหม่อีกครั้ง” โดย ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร รองประธานและเลขาธิการหอการค้าไทยในจีน กล่าวว่า ประเทศจีนมีประชากรประมาณ 1,400 ล้านคน หรือ มีจำนวนประชากรมากกว่าประเทศไทย 20 เท่า ในเชิงภูมิศาสตร์มีพื้นที่ใหญ่กว่าประเทศไทยประมาณ 18 เท่า นับตั้งแต่จีนเปิดประเทศมาเป็นเวลา 45 ปี มีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจที่เติบโตอย่างต่อเนื่อง ทำให้ประชาชนกว่า 800 ล้านคน หลุดพ้นความยากจน
จีนพัฒนาความสามารถด้านฐานการผลิตภายในประเทศ จนได้รับการขนานนามว่าเป็นหลังคาของโลก และตอนนี้ยังปรับเปลี่ยนจากการเป็นโรงงานของโลกยุคเก่าที่ใช้แรงงานเข้มข้นไปสู่แรงงานฝีมือและการใช้เทคโนโลยีเข้มข้น จนกลายเป็นศูนย์กลางนวัตกรรมโลกในอนาคต ในด้านการลงทุน จีนไม่เพียงแต่รองรับการลงุทนจากต่างประเทศที่มาลงทุนในจีน แต่จีนมียุทธศาสตร์ไปลงทุนต่างประเทศมากขึ้น ตามยุทธศาสตร์ข้อริเริ่มหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง ทำให้ภาพของจีนในมิติเศรษฐกิจในเวทีโลกขยายตัวอย่างรวดเร็ว
ในด้านการท่องเที่ยว ยุคก่อนโควิด-19 นอกจากชาวจีน 1,400 ล้านคน ที่ท่องเที่ยวในประเทศ ยังมีนักท่องเที่ยวต่างชาติประมาณ 100 ล้านคนมาท่องเที่ยวปรแทศจีน และจีนหวังอย่างมากว่า หลังสถานการณ์โควิด-19 จีนจะพลิกฟื้นให้ตัวเลขนักท่องเที่ยวต่างชาติกลับมาสู่สถานะคงเดิม โดยมีอัตราการใช้จ่ายต่อหัวที่เพิ่มสูงขึ้น
ดังนั้น เมื่อจีนเปิดประเทศหลังสถานการณ์โควิด-19 จะเห็นการพัฒนาของจีนในหลายด้าน ได้แก่
1. การพัฒนาเศรษฐกิจคุณภาพสูง
จีนจะพัฒนาเศรษฐกิจเชิงลึกและเปิดกว้างมากขึ้น ทำให้จีนขยายกรอบเรื่องการค้าการลงทุนในเวทีโลกมากขึ้น โดยจีนตั้งเป้าการเติบโตทางเศรษฐกิจในปีนี้ที่ร้อยละ 5 โดยพยายามทำให้เศรษฐกิจภายในเติบโตสูงขึ้นแทนการพึ่งพากำลังจากภายนอกเช่น การค้า การลงทุน โดยให้ความสำคัญการขับเคลื่อนการบริโภคในประเทศ การลงทุนภายในประเทศจากบทบาทภาครัฐ และให้ความสำคัญการพัฒนาเศรษฐกิจคุณภาพสูงเพื่อก้าวเข้าสู่การเป็นประเทศพัฒนาแล้วในอนาคต
2. การขับเคลื่อนนวัตกรรม
จีนให้ความสำคัญกับการพัฒนาด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมผ่านความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ ทำให้จีนมีนวัตกรรมที่พัฒนาด้วยตนเอง เช่นการพัฒนา Virtua Showroomด้วยเทคโนโลยี Metaverse พัฒนาสังตคมไร้เงินสด พัฒนารถยนต์ไฟฟ้า รถยนต์ไร้คนขับ รถไฟความเร็วสูงรูปแบบต่างๆ พัฒนาหุ่นยนต์ในอุตสาหกรรมต่างๆ เป็นต้น
3. การใส่ใจสิ่งแวดล้อม
จีนให้ความสำคัญเรื่องการดูแลสิ่งแวดล้อม เช่น มีโครงการปลูกต้นไม้เพื่ออากาศที่บริสุทธิ์ ผลักดันการใช้พลังงานสีเขียว เช่นพลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานน้ำ พลังงานลม สามารถเปลี่ยนโครงสร้างด้านพลังงาน เพิ่มความสามารถด้านการแข่งขัน กลายเป็นประเทศที่ส่งออกผลิตภัณฑ์สีเขียวรายใหญ่ของโลก
4. การพัฒนาในเชิงภูมิศาสตร์
จีนให้ความสำคัญกับการพัฒนาหัวเมืองต่างๆ เริ่มจากการพัฒนาหัวเมืองใหญ่ๆ แล้วเริ่มขยายการพัฒนาชุมชนเมืองไปยังเมืองรอง และพัฒนากลุ่มเมือง เช่นการพัฒนาพื้นที่ Greater Bay Area พื้นที่ปากแม่น้ำแยงซี แต่ละหัวเมืองมีการออกแบบ วางผังเมือง ให้เป็นเมืองน่าอยู่ เช่น การพัฒนา “ชุมชน 15 นาทีเดิน” ที่เซี่ยงไฮ้ นอกจากนี้ ยังให้ความสำคัญกับการพัฒนาพื้นที่ชนบท นำเทคโนโลยีไปพัฒนาชนบท ให้มีโครงสร้างพื้นฐานและสิ่งอำนวยความสะดวกรองรับการใช้ชีวิตและการท่องเที่ยว
5. การสร้างภาพลักษณ์ของประเทศจีนในเวทีโลก
จีนเดินหน้าเรื่องการสร้างภาพลักษณ์ของประเทศอย่างจริงจัง มีการจัดงานแสดงสินค้า ปีนี้มีการจัดงานเอเชียนเกมส์ที่เมืองหางโจว ผู้ประกอบการมีการพัฒนาสินค้าและให้ความสำคัญกับการสร้างแบรนด์ ทำให้แบรนด์ของผลิตภัณฑ์ท้องถิ่นเติบโต โดยมีการนำเสนอการรับรู้แบรนด์ในเรื่องความเป็นธรรมชาติ สุขอนามัย ความปลอดภัย ความสะดวก ความสงบ ความสุข เป็นต้น
นี่เป็นส่วนหนึ่งของการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในประเทศจีนหลังสถานการณ์โควิด-19 ถือเป็นโอกาสที่ผู้ประกอบการไทยจะหาช่องทางเดินหน้ารุกตลาดจีนต่อไป
บทความ : ประวีณมัย บ่ายคล้อย