แต่ก่อนร่อนชะไร มีคนไทยน้อยคนนักอยากไปเที่ยวลาว เพราะลาวก็คล้าย ๆ กับไทย เจริญสู้ไทบไม่ได้ด้วยซ้ำ คนไทยเห็นอะไรเชย ๆ ก็จะหลุดปากออกมาง่าย ๆ ว่า “มันล๋าว...ลาว..” แต่วันนี้รอบตัวผู้เขียนมีแต่คนที่เคยไปเที่ยวลาวมาแล้วหรือที่กำลังจะไปเที่ยว ถ้าไปกับทัวร์มักจะเป็นแบบ 3 คืน 4 วัน ส่วนใหญ่จัดให้บินจากกรุงเทพฯไปลงเวียงจันทน์ เที่ยวเวียงจันทน์ครึ่งวัน รุ่งขึ้นก็พาไปขึ้นรถไฟความเร็วสูง (จีนเป็นผู้สร้าง) นั่งจากสถานีเวียงจันทน์ไปลงสถานีหลวงพระบาง ประมาณ 1 ชม.
ถามว่าทำไมเลือกไปเที่ยวลาว ? เกือบทุกคนบอกว่าอยากไปลองนั่งรถไฟความเร็วสูง เพราะรถไฟความเร็วสูงบ้านเรายังเป็นวุ้นอยู่เลย ถามว่านั่งแล้วรู้สึกอย่างไร ตื่นเต้นหรือไม่ เกือบทุกคนตอบว่า “ก็งั้น ๆ ไม่รู้สึกอะไร ความเร็วแค่ 150 กม.ต่อชม.เท่านั้น” อันที่จริงจากเวียงจันน์ไปหลวงพระบางที่ทัวร์จัดให้คนไทยไปนั่งพอหอมปากหอมคอนั้น เป็นเพียงครึ่งหนึ่งของเส้นทางรถไฟลาว-จีน จากเวียงจันทน์รถไฟยังวิ่งต่อไปถึงชายแดนลาวที่ “บ่อเต็น” ที่นั่นรถไฟจากจีนกับลาวจะมาเจอกัน จากนั้นก็ขนถ่ายผู้คนและสินค้าขึ้นรถไฟจีน ซึ่งจะแยกไปสู่จุดหมายปลายทางได้ทั่วประเทศ
รถไฟความเร็วสูงลาว-จีน คือตัวอย่างหนึ่งของโครงการ “เส้นทางสายไหมแห่งศตวรรษ 21”ที่สำเร็จสมบูรณ์แล้ว จีนตั้งความมุ่งหวังว่าจะทำให้ทั่วโลกไม่ว่าใกล้ว่าไกล สามารถเชื่อมต่อถึงกันได้ ค้าขายกันได้ นำความเจริญไปสู่ประเทศที่อยู่ห่างไกลปืนเที่ยง แต่คนที่มองเส้นทางสายไหมไปในทางลบ ก็จะเฝ้าเตือนว่า โครงการนี้ผู้ได้ประโยชน์คือฝ่ายจีน ประเทศเล็กประเทศน้อยที่ไปร่วมมือกันมีแต่จะต้องตกเป็นลูกหนี้ของจีนเท่านั้น เพราะแต่ละโครงการที่จีนนำเสนอล้วนเป็นอภิมหาโปรเจ็กท์ที่ต้องใช้ทุนมหาศาล เช่น สร้างถนนซุปเปอร์ไฮเวย์ สร้างทางรถไฟความเร็วสูง สร้างอู่เทียบเรือน้ำลึกให้เรือสินค้าเข้าถึง ฯลฯ จีนเองก็รู้จึงได้ประกาศตั้งแต่เริ่มต้นโครงการว่า One Belt One Road Initiative (BRI) หรือเส้นทางสายไหมแห่งศตวรรษที่ 21 จะเกิดขึ้นได้ต่อเมื่อทั้งสองฝ่ายต่างยินยอม เป็นโครงการร่วมมือแบบพหุภาคี ส่วนปัญหาเรื่องเงินทุนจีนก็ได้ริเริ่มจัดตั้งธนาคาร Asian Infrastructure Investment Bank (AIIB) ขึ้นมาเพื่อการนี้โดยเฉพาะ ประเทศคู่สัญญามีสิทธิกู้เงินจาก AIIB ได้ในอัตราดอกเบี้ยต่ำ
ลองพิเคราะห์ดูจากกรณีของลาวที่เล่ามาในตอนต้น จริงอยู่ขณะนี้ลาวเป็นลูกหนี้ของ AIIB อย่างแน่นอนเพราะกู้เงินไปสร้างทางรถไฟ แต่คำนวณจากนักท่องเที่ยวไทยที่แห่กันเอาเงินไปให้ลาวอยู่ในเวลานี้ บวกกับข้อเท็จจริงที่ปฏิเสธไม่ได้ว่าลาวเป็นประเทศปิดไม่มีทางออกทะเลเลย แต่ด้วยเส้นทางรถไฟที่สร้างขึ้นใหม่ บัดนี้ลาวจะขนถ่ายสินค้าจากไทย (โดยเฉพาะทุเรียน) ไปส่งให้จีนได้แบบทันอกทันใจ ขากลับก็ขนผักสดผลไม้จากจีนมาให้ไทยได้ในเวลาสั้น ๆ ศักยภาพที่จะคืนทุนให้ AIIB ย่อมเป็นไปได้ นอกจากนี้ เพื่อนบ้านของลาวอีก 2 ประเทศคือพนมเปญของกัมพูชา และโฮจิมินห์ซีตี้ของเวียดนามก็มีทางด่วนซุปเปอร์ไฮเวย์วิ่งถึงกันแล้ว โอกาสที่ 3 ประเทศทั้งลาว กัมพูชา เวียดนามจะไปมาหาสู่กันสะดวกขึ้น ลาวเองก็มีทางเลือกออกสู่ทะเลได้หลายทางขึ้น
สีจิ้นผิงเป็นผู้ริเริ่มโครางการ Belt and Road Initiative (BRI) หลังจากขึ้นสู่อำนาจได้ 3 ปี 2 ปีแรกเขาเลือกที่จะใช้ทุ่มกำลังทั้งหมดลงไปกับการปราบปรามคอรัปชั่นในประเทศให้สิ้นทราก เมื่อมะเร็งร้ายถูกกำจัดไปแล้ว เขาก็หันมาจับเรื่อง BRI ในปี 2013 BRI เป็นโครงการที่มีมูลค่าสูงที่สุดโครงการหนึ่งของจีน ประเทศต่าง ๆ ให้ความสนใจเข้าร่วมมากขึ้นเรื่อย เพราะจีนเป็นทั้งฐานการผลิตสินค้า และเป็นตลาดผู้บริโภคที่มีกำลังซื้อมหาศาล เวลานี้มีประเทศต่าง ๆ เข้าร่วมโครงการแล้ว 147 ประเทศ แน่นอนว่าโครงการนี้ขัดแย้งกับผลประโยชน์ของอเมริกาโดยตรง แต่จากผลสำรวจความนิยมเมื่อเร็ว ๆ นี้ (ข้อมูลจาก อสมท. 96.5) ชี้ให้เห็นว่า ประเทศต่าง ๆ ในเอเชียให้คะแนนนิยมกับจีนมากกว่าอเมริกาทุกประเทศ แม้แต่สิงคโปร์ กับฟิลิปปินส์ ก็ยังให้คะแนนจีนสูงกว่าอเมริกาเล็กน้อยอย่างไม่น่าเชื่อ
ในทางยุทธศาสตร์ประเทศไทยเป็นข้อต่อสำคัญที่จีนจะเชื่อมลงมาหาประเทศต่าง ๆ ในอาเซียน แต่ปัญหาการเมืองของไทยเป็นเหตุให้โครงการไม่เป็นโล้เป็นพาย ไทยได้เซ็นสัญญาร่วมกับจีนในการสร้างทางรถไฟความเร็วสูง 3 ช่วง คือ กรุงเทพ-โคราช / โคราช-หนองคาย/ หนองคาย-เวียงจันทน์ แต่จนป่านนี้ก็ยังไม่มีโครงการไหนคืบหน้าให้เห็นเป็นชิ้นเป็นอัน อ้างว่าติดปัญหาเวนคืนที่ดินบ้าง ติดปัญหาเทคนิคในการสร้างซึ่งจีนกับไทยใช้ต่างกันบ้าง ไม่อยากเป็นหนี้ AIIB บ้าง ผลก็คือโครงการรถไฟช่วงแรกสุดคือกรุงเทพฯ-โคราช ซึ่งเซ็นกันมาแล้วเมื่อ 6 ปีก่อน บัดนี้ยังเป็น”วุ้น” คืบหน้าไปได้เพียง 17.53 %
เป็นที่น่าสังเกตว่า ในการประชุม APEC ที่ไทยเป็นเจ้าภาพเมื่อเร็ว ๆ นี้ สีจิ้นผิงได้มาร่วมประชุมและถือโอกาสนี้พูดถึงผลสำเร็จของ “เส้นทางสายไหม” สีฯได้ยกตัวอย่างความสำเร็จหลาย ๆ อย่าง เช่นทางรถไฟระหว่างจีน-ลาว ทางรถไฟความเร็วสูงในอินโดนีเซีย ท่าเรือน้ำลึกศรีลังกา ฯลฯ
แต่ละเว้นไม่เอ่ยถึงโครงการร่วมมือสร้างทางรถไฟไทย-จีนเลย !!