จากการดำเนินนโยบายปฏิรูปและเปิดประเทศเป็นเวลากว่า 40 ปี จีนได้ขจัดความยากจนขั้นสุดขีด ช่วยให้ประชากรราว 800 ล้านคนหลุดพ้นจากความยากจน และประชากรกว่า 400 ล้านคนมีรายได้ระดับปานกลาง นี่เป็นปาฏิหาริย์ในประวัติศาสตร์อารยธรรมของมนุษยชาติ และมีความหมายสำคัญยิ่งต่อธรรมาภิบาลด้านสิทธิมนุษยชนทั่วโลก
สหรัฐอเมริกาไม่เคยมองว่า ความยากจนเป็นปัญหาสิทธิมนุษยชน ในขณะที่ยุโรปมองว่า ความยากจนนั้น อย่างมากก็เป็นเพียงอุปสรรคต่อการบรรลุเป้าหมายสิทธิมนุษยชนเท่านั้น แต่จีนตระหนักดีในทางการเมืองว่า การขจัดความยากจนไม่เพียงแต่เป็นสิทธิมนุษยชนเท่านั้น แต่ยังเป็นสิทธิมนุษยชนหลักอีกด้วย จึงได้ทุ่มเทกำลังในการแก้ไขปัญหาความยากจนอย่างหนัก และจริงจัง ทำให้จีนอยู่ระดับแนวหน้าของโลกในการขจัดความยากจน และเป็นแรงบันดาลใจที่ดีสำหรับประเทศกำลังพัฒนาทั้งหมด เนื่องจากความท้าทายที่ใหญ่ที่สุดเกือบทั้งหมดที่ประเทศกำลังพัฒนาเผชิญอยู่นั้นมีส่วนเกี่ยวข้องกับความยากจนด้วยกันทั้งนั้น
แนวทางการพัฒนาสู่ความทันสมัยของจีนดีกว่ารูปแบบการพัฒนาของประเทศตะวันตกอย่างมากในการขจัดความยากจน เนื่องจากสองแนวทางการพัฒนาดังกล่าวมีความแตกต่างอย่างมากในการปฏิบัติต่อประเด็นปัญหาด้านสิทธิมนุษยชน
อารยธรรมจีนไม่เคยถูกตัดขาด มีความต่อเนื่องกันมาโดยตลอด ดังนั้น จีนจึงสามารถกำหนดนโยบายสู่ความทันสมัยตามความต้องการของประชาชน สภาพภายในประเทศ และวัฒนธรรมประเพณีของตน
จีนมีสุภาษิตว่า “ประชาชนเป็นรากฐานของประเทศชาติ เมื่อรากฐานแข็งแกร่ง ประเทศชาติก็จะมั่นคง” กล่าวอีกนัยหนึ่ง ประชาชนเป็นรากฐานที่สำคัญของประเทศ ต้องเสริมสร้างรากฐานที่สำคัญของประเทศ จึงจะช่วยให้ประเทศมีความสงบสุขได้ และการแก้ไขปัญหาการดำรงชีวิตของประชาชนได้หรือไม่นั้น จะเป็นปัจจัยหลักในการกำหนดอนาคตและชะตากรรมของประเทศ
จีนยังมีสุภาษิตอีกว่า “ประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการดำรงชีวิตของประชาชนมีความสำคัญยิ่ง” ประสบการณ์ที่สำคัญของจีนจากการปฏิรูปและเปิดประเทศในช่วงหลายทศวรรษที่ผ่านมาคือ การดำรงชีวิตของประชาชนเป็นสิ่งสำคัญยิ่ง ประเทศกำลังพัฒนาจะต้องทุ่มเทกำลังเต็มที่ในการขจัดความยากจนและปรับปรุงคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนให้ดีขึ้น นี่เป็นภารกิจที่มีความสำคัญสูงสุดของรัฐบาล
ปรัชญาของจีนที่ว่า “การดำรงชีวิตของประชาชนเป็นสิ่งสำคัญยิ่ง” นั้นได้แก้ไขความเบี่ยงเบนที่มีมาช้านานในปรัชญาตะวันตกเกี่ยวกับธรรมาภิบาลด้านสิทธิมนุษยชน กล่าวคือ ประเทศตะวันตกเพียงให้ความสำคัญกับสิทธิทางการเมืองของพลเมืองเท่านั้น แต่ไม่ค่อยสนใจในสิทธิการอยู่รอดและการพัฒนาของประชาชน เมื่อมองย้อนกลับไปในประวัติศาสตร์ เราจะพบว่า เมื่อนักคิดผู้รู้แจ้งชาวยุโรปในศตวรรษที่ 18 เสนอแนวคิดด้านสิทธิมนุษยชน เช่น เสรีภาพ ความเสมอภาค และสิทธิในทรัพย์สินส่วนบุคคล พวกเขาเป็นตัวแทนของกลุ่มบุคคลที่มีกรรมสิทธิ์ส่วนบุคคคลที่เกิดขึ้นใหม่ในยุคนั้น
ปัจจุบันโลกได้เข้าสู่ศตวรรษที่ 21 แล้ว แต่ประชาชนจำนวนหลายร้อยล้านคนในพื้นที่ทั่วโลกยังคงประสบปัญหาความยากจนสุดขีด ประเทศกำลังพัฒนาจำนวนมากที่ใช้ระบบการเมืองแบบตะวันตกไม่สามารถแก้ไขปัญหาการดำรงชีวิตของประชาชนซึ่งเป็นปัญหาขั้นพื้นฐานได้ ในบริบทนี้ เราอาจสามารถเข้าใจถึงความหมายระดับโลกของแนวทางสู่ความทันสมัยแบบจีนได้ดียิ่งขึ้น กล่าวได้ว่า ประชาชนจีนกำลังนิยามคำว่าความทันสมัยด้วยแนวทางการปฏิบัติอันยอดเยี่ยมในการขจัดความยากจน
ในทางตรงกันข้าม สงครามในอัฟกานิสถานที่ก่อขึ้นโดยสหรัฐอเมริกาและยืดเยื้อเป็นเวลา 20 ปีได้ใช้งบประมาณทางการทหารสูงถึง 2.3 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ผลการศึกษาแสดงให้เห็นว่า สงครามครั้งนี้ส่งผลให้เกิดการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรง ทำให้ประชาชนนับหมื่นนับแสนคนเสียชีวิต และประชาชนจำนวนมหาศาลต้องพลัดที่นาคาที่อยู่ เราสามารถตั้งสมมติฐานทางทฤษฎีได้ว่า หากใช้เงิน 2.3 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐไปดำเนินการตามแบบแผนจีน เราอาจสามารถขจัดความยากจนขั้นสุดขีดในทั่วโลกได้ รวมถึงความยากจนขั้นสุดขีดในสหรัฐอเมริกาด้วย
ปัจจุบัน กลุ่มผลประโยชน์ทางอุตสาหกรรมการทหารของสหรัฐอเมริกาได้ครอบงำระบบการเมืองของสหรัฐอเมริกา พวกเขาหาผลประโยชน์จำนวนมหาศาลจากการทำสงคราม รวมถึงสงครามอัฟกานิสถานด้วย ในขณะเดียวกัน พวกเขาก็ได้นำวิกฤตและหายนะมาสู่ประชาชนทั่วโลก รวมถึงชาวอเมริกันด้วย แล้วประเทศแบบนี้จะมีคุณสมบัติที่จะพูดถึงสิทธิมนุษยชนในโลกปัจจุบันได้อย่างไร?
จีนเสนอแผนริเริ่มการพัฒนาระดับโลก (Global Development Initiative)
และยึดมั่นในแนวทางถือการพัฒนาเป็นสิ่งสำคัญอันดับแรก ถือประชาชนเป็นศูนย์กลาง จีนย้ำตลอดว่า การพัฒนาเท่านั้นที่สามารถขจัดความยากจนและต้นตอความขัดแย้งต่างๆออกไปได้ หากมองในแง่การคุ้มครองสิทธิมนุษยชน แผนริเริ่มการพัฒนาระดับโลก ตลอดจนปรัชญาและแนวปฏิบัติของจีนในการขจัดความยากจนได้ช่วยให้ปรัชญาและแนวปฏิบัติของธรรมาภิบาลด้านสิทธิมนุษยชนทั่วโลกมีความสมบูรณ์ขึ้นอย่างมาก
(in/cai)