บทวิเคราะห์ : จีนเป็นผู้ขับเคลื่อนการพัฒนาธรรมาภิบาลด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลก

2023-12-12 08:54:05 | CMG
Share with:

วันที่ 30 พฤศจิกายนที่ผ่านมา มีพิธีเปิดการประชุมรัฐภาคีอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สมัยที่ 28 หรือ COP28 ที่เมืองดูไบ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์   

การประชุมครั้งนี้จะมีการประเมินความคืบหน้าโดยรวมของโลกในการบรรลุเป้าหมายตามข้อตกลงปารีสปี 2015 เป็นครั้งแรก  ซึ่งเป็นเรื่องที่มีความสำคัญยิ่งต่อกระบวนการธรรมาภิบาลด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลก

ประชาคมระหว่างประเทศคาดหวังให้ทุกฝ่ายปฏิบัติตามวัตถุประสงค์ หลักการ และกฎระเบียบที่ระบุไว้ในอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ  และส่งสัญญาณเชิงบวกที่จะมุ่งเน้นในการปฏิบัติ และกระชับความร่วมมือมากขึ้น 

จีนเป็นผู้ขับเคลื่อนการพัฒนาธรรมาภิบาลด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลก  ตั้งแต่ต้นปีนี้เป็นต้นมา จีนมีการแลกเปลี่ยนอย่างใกล้ชิดกับทุกฝ่าย เพื่อผลักดันให้การประชุมรัฐภาคีอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลกครั้งที่ 28 ประสบความสำเร็จ และส่งเสริมการดำเนินการตามข้อตกลงปารีสอย่างครอบคลุมและมีประสิทธิภาพ

เมื่อเร็วๆ นี้ นายสี จิ้นผิง ประธานาธิบดีจีนได้พบกับนายโจ ไบเดน ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาที่ซานฟรานซิสโก ประมุขของทั้งสองประเทศได้เน้นย้ำถึงความสำคัญในการทำงานร่วมกัน เพื่อใช้ความพยายามในการจัดการกับวิกฤตสภาพภูมิอากาศในทศวรรษที่สำคัญนี้ 

ผู้นำจีนและสหรัฐอเมริกาได้แสดงความยินดีต่อการหารือระหว่างทูตพิเศษด้านสภาพภูมิอากาศของจีนและสหรัฐอเมริกา ที่จัดขึ้นเมื่อเร็วๆ นี้ ในประเด็นที่น่าสนใจต่างๆ  เช่น การดำเนินการระดับชาติเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในทศวรรษ 2020 แนวทางทั่วไปในการบรรลุเป้าหมายของการประชุม COP28  และการดำเนินงานของคณะทำงานว่าด้วยการส่งเสริมการปฏิบัติด้านสภาพภูมิอากาศในทศวรรษ 2020 เพื่อเร่งให้มีการดำเนินการด้านนี้ให้เป็นรูปธรรม

เมื่อเร็วๆ นี้ นายสี จิ้นผิง ประธานาธิบดีจีนได้เน้นย้ำในการพูดคุยทางโทรศัพท์กับประธานาธิบดีเอ็มมานูเอล มาครงของฝรั่งเศสว่า จีนพร้อมที่จะทำงานร่วมกับฝรั่งเศส ส่งสัญญาณที่เข้มแข็งในการร่วมกันแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เพื่อสนับสนุนให้การประชุม COP28 ประสบความสำเร็จ  

จีนในฐานะประเทศกำลังพัฒนาที่มีความรับผิดชอบ  ได้จัดการกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอย่างแข็งขัน ซึ่งเป็นความต้องการที่แท้จริงของจีนเอง เพื่อบรรลุการพัฒนาที่ยั่งยืน นอกจากนี้  จีนยังมีส่วนร่วมอย่างแข็งขันในธรรมาภิบาลด้านสภาพภูมิอากาศโลก

จีนได้ดำเนินยุทธศาสตร์ระดับชาติเพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอย่างแข็งขัน  ได้ประกาศเป้าหมายบรรลุการปล่อยคาร์บอนในระดับสูงสุด (Carbon Peak) ภายใน ค.ศ. 2030 และบรรลุความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutral) ภายในค.ศ. 2060   พร้อมทั้งได้วางกรอบนโยบาย “1+N” สำหรับการบรรลุเป้าหมายดังกล่าว 

จีนได้ส่งเสริมการปรับโครงสร้างอุตสาหกรรม พลังงาน และการขนส่ง ได้นำมาตรการประหยัดพลังงานและการยกระดับประสิทธิภาพการใช้พลังงานมาใช้   ตลอดจนได้สร้างและปรับปรุงกลไกการตลาด และเพิ่มการกักเก็บคาร์บอนในป่าด้วย  

ในปี 2022 การปล่อยก๊าซคาร์บอนของจีนลดลงกว่า 51 เปอร์เซ็นต์เมื่อเทียบกับปี 2005   จีนยังมีส่วนร่วมอย่างแข็งขันในความร่วมมือใต้-ใต้ และในกระบวนการพหุภาคีเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ทั้งนี้แสดงให้เห็นถึงความรับผิดชอบของจีนในฐานะหนึ่งในประเทศใหญ่  

ล่าสุด โรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ Al Dhafra ในสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ที่บริษัทจีนแห่งหนึ่งรับเหมาก่อสร้างได้สร้างเสร็จ โรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์แห่งนี้สามารถผลิตไฟฟ้าให้กับ 200,000 ครัวเรือน และลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนได้ 2.4 ล้านตันต่อปี   

จนถึงเดือนกันยายนปี 2023 จีนได้ลงนามบันทึกความเข้าใจเกี่ยวกับความร่วมมือด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศกับประเทศกำลังพัฒนาหลายสิบประเทศ ได้ร่วมมือกับต่างชาติในการสร้างเขตสาธิตคาร์บอนต่ำ 4 แห่ง และดำเนินโครงการ 75 โครงการในการบรรเทาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ  นอกจากนี้ จีนยังได้ฝึกอบรมเจ้าหน้าที่และบุคลากรด้านเทคนิคในการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศมากกว่า 2,300 คนให้กับประเทศกำลังพัฒนามากกว่า 120 ประเทศ

จีนจะยังคงทำงานร่วมกับทุกฝ่าย เพื่อใช้โอกาสการประชุม COP28  ยกระดับการดำเนินการ เสริมสร้างมาตรการสนับสนุนทุกประการ และร่วมกันสร้างระบบธรรมาภิบาลด้านสภาพภูมิอากาศโลกที่เที่ยงธรรม สมเหตุสมผล และสามารถช่วยให้ทุกฝ่ายได้รับประโยชน์   


(IN/cai)

 

  • เกาะกระแสจีน (27-04-2567)

  • เสียงข่าวประจำวัน (26-04-2567)

  • สานสัมพันธ์ไทย-จีน (26-04-2567)

  • เสียงคุยกันวันละประเด็น (26-04-2567)

  • เสียงข่าวประจำวัน (25-04-2567)