บทบาทจีนต่อปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

2023-12-19 20:36:20 | CMG
Share with:

UN Climate Change Conference (COP 28)

ปิดฉากแล้ว สำหรับการประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สมัยที่ 28 หรือ COP 28 จัดขึ้นที่นครดูไบ ประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ระหว่างวันที่ 30 พฤศจิกายน - 12 ธันวาคม 2566

ความสำคัญคือเป็นการประชุมประจำปีขนาดใหญ่ระดับรัฐบาลที่เน้นการดำเนินการด้านสภาพภูมิอากาศ หรือที่เรียกว่า COPs ด้วยการประชุมของภาคีอนุสัญญากรอบสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (UN Framework Convention on Climate Change-UNFCCC)

โดยอนุสัญญา UNFCCC มีผลบังคับใช้เมื่อ 21 มีนาคม 2537 เพื่อป้องกันการกระทำที่มีผลร้ายแรงต่อระบบภูมิอากาศ จัดขึ้นครั้งแรกในปี 2538 หลังอนุสัญญามีผลบังคับใช้ 1 ปี ณ นครเบอร์ลิน ประเทศเยอรมนี จากนั้นจึงจัดต่อเนื่องกันในทุกปี จนนำมาสู่ “ข้อตกลงปารีส” ซึ่งชาติสมาชิก 198 ชาติรวมถึงประเทศไทยร่วมลงนามในการจำกัดการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกให้ต่ำกว่า 2 องศาเซลเซียส และพยายามรักษาการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิโลกให้ไม่เกิน 1.5 องศาเซลเซียส เมื่อเทียบกับยุคก่อนอุตสาหกรรม

ข้อตกลงปารีส เริ่มใช้ในปี 2558 ถือเป็นส่วนขยายของอนุสัญญา UNFCCC ด้วยเหตุนี้เอง การประชุม COP28 จึงไม่เพียงมีความสำคัญ แต่ยังถูกจับตามองด้วยความคาดหวังว่า จะผลักดันการรักษาการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิโลกได้จริงจังเพียงใด เมื่อใด และจะทำอย่างไร

เพราะมีการประเมินว่าปี 2566 ยังคงเป็นปีที่ร้อนที่สุดอยู่ ในขณะที่ 8 ปีที่ผ่านมาเป็นปีที่ร้อนที่สุดเป็นประวัติการณ์ทั้ง 8 ปี เป็นผลจากความเข้มข้นของก๊าซเรือนกระจกที่เพิ่มขึ้นและความร้อนสะสม

นายอันโตนิโอ กูเตอร์เรส เลขาธิการองค์การสหประชาชาติ เตือนในระหว่างการเยือนแอนตาร์กติกก่อนการประชุม COP28 ว่า แอนตาร์กติกาถูกเรียกว่ายักษ์หลับ แต่ตอนนี้ถูกปลุกให้ตื่นขึ้นจากความปั่นป่วนของสภาพภูมิอากาศ น้ำแข็งในทะเลแอนตาร์กติกต่ำสุดเป็นประวัติการณ์

“ทั้งหมดนี้ทำให้เกิดหายนะไปทั่วโลก หากไม่มีการเปลี่ยนแปลงใดๆ อุณหภูมิกำลังสูงขึ้น 3 องศาเซลเซียส เข้าสู่โลกที่อันตรายและไม่มั่นคง” นาย กูเตอร์เรส กล่าว

ที่สำคัญ ประชากรเกือบครึ่งหนึ่งของโลก อาศัยอยู่ในภูมิภาคที่มีความเสี่ยงสูงต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งหนึ่งในประเทศที่มีพลเมืองจำนวนมากย่อมหนีไม่พ้นประเทศจีน ซึ่งได้มีบทบาทในการตื่นตัวและผลักดันในเรื่องของการพัฒนาสีเขียวมาอย่างต่อเนื่อง

และเนื่องจากจีน ก้าวสู่เป็นประเทศที่มีบทบาทความสำคัญของโลก เช่นเดียวกับ สหรัฐฯ ซึ่งแม้ช่วงที่ผ่านมา สหรัฐฯอาจจะประสบกับปัญหาหลากหลายจากข้อพิพาทในพื้นที่ต่างๆของโลก แต่หลายๆประเทศทั่วโลก เชื่อว่า หากจีนกับสหรัฐฯ จับมือกันผลักดันเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ หรือ climate change อย่างจริงจัง ย่อมจะต้องเกิดผลเชิงบวกอย่างแน่นอน โดยเมื่อ 18 เมษายน 2564 จีนและสหรัฐฯได้มีการทำความตกลงที่จะร่วมมือกัน หลังจากการประชุมระดับสูงในนครเซี่ยงไฮ้ ระหว่างผู้แทนพิเศษของจีนด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ นายเซี่ย เจิ้งฮวา กับ ผู้แทนพิเศษของประธานาธิบดีสหรัฐด้านสภาพภูมิอากาศ นายจอห์น เคอร์รี เมื่อวันที่ 15-16 เมษายน

แถลงการณ์ร่วม ระบุว่า วิกฤตสภาพภูมิอากาศต้องได้รับการแก้ไขด้วยความจริงจังและเร่งด่วน และตกลงที่จะทำงานร่วมกันเพื่อเสริมสร้างการปฏิบัติตามข้อตกลงปารีส โดยจีนและสหรัฐฯจะมีการหารือกันต่อไป ทั้งในการการประชุม COP และอื่นๆ เพื่อให้เกิดการดำเนินการที่เป็นรูปธรรมในการลดการปล่อยก๊าซ

“จุดมุ่งหมายเพื่อรักษาการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิตามข้อตกลงปารีสให้เป็นไปตามเป้าหมาย” แถลงการณ์ระบุ

ขณะที่ จีนเอง ซึ่งมีการพัฒนาประเทศไปสู่ความทันสมัยยุคใหม่ จึงถูกมองในฐานะที่เป็นผู้ปล่อยก๊าซคาร์บอนรายใหญ่ในปัจจุบัน การที่ รัฐบาลจีน ภายใต้การนำของประธานาธิบดี สี จิ้นผิง ให้ความสำคัญผลักดันเรื่องนี้อย่างจริงจัง รวมทั้งมีบทบาทกำหนดมาตรการต่างๆอย่างชัดเจน อาทิ การเสริมสร้างมาตรการเชิงนโยบาย การส่งเสริมการเปลี่ยนผ่านสีเขียวและคาร์บอนต่ำ และสนับสนุนการพัฒนาพลังงานและคาร์บอนต่ำของประเทศกำลังพัฒนา จะเป็นส่วนสำคัญที่ประสบความสำเร็จในการจัดการกับวิกฤตสภาพภูมิอากาศได้

สอดคล้องกับวาระสำคัญของการประชุม COP28 ที่ต้องการผลักดันให้เกิดข้อตกลงการใช้งานพลังงานฟอสซิลให้ชัดเจนระหว่าง 2 แนวทางด้วยกัน คือ 1.จะเป็นลักษณะ Fade Out  คือค่อยๆ ลดการใช้จนกระทั่งเลิกใช้พลังงานฟอสซิล  หรือ 2.จะเป็นลักษณะ Fade Down คือค่อยๆ ลดการใช้พลังงานฟอสซิล แต่ยังคงมีการใช้งานอยู่ ซึ่งปัจจุบันยังอยู่ในระหว่างการติดตามท่าทีของประเทศแถบตะวันออกกลาง จีน อินเดีย รวมทั้งรัสเซีย กับอีกเรื่องหนึ่ง คือ เรื่องกองทุนชดเชยความสูญเสียและเสียหาย (Loss and Damage Finance Fund)

ทั้งนี้ COP28 จบลง โดยในวันที่ 13 ธันวาคม ภาคีสมาชิก 198 ประเทศที่เข้าร่วมประชุมเห็นพ้องกับฉันทามติสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์(UAE Consensus) ซึ่งกำหนดวาระสภาพภูมิอากาศที่มุ่งหวังไว้สูงที่จะรักษาอุณหภูมิไม่ให้เกิน 1.5 องศาเซลเซียลให้ได้ โดยฉันทามติสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ขอให้ภาคีต่างๆ เปลี่ยนผ่านจากการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลเพื่อบรรลุการปล่อยคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ อีกทั้งสนับสนุนให้จัดทำแผนปฏิบัติการแห่งชาติ (Nationally Determined Contributions-NDCs) สำหรับทุกภาคส่วนเศรษฐกิจ รวมถึงเป้าหมายเฉพาะใหม่เพื่อเพิ่มพลังงานหมุนเวียน 3 เท่าและเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงาน 2 เท่าภายในปี 2573 และสร้างแรงผลักดันไปสู่สถาปัตยกรรมใหม่สำหรับการเงินเพื่อสภาพภูมิอากาศ

“โลกต้องหาวิธีการใหม่ เราได้ทำงานอย่างหนักเพื่อรักษาอนาคตที่ดีกว่าสำหรับผู้คนและโลกของเรา เราควรภูมิใจในความสำเร็จครั้งประวัติศาสตร์ของเรา ข้าพเจ้าสัญญาไว้ว่าการประชุมครั้งนี้จะต่างจาก COP ครั้งอื่น โดยเป็น COP ที่นำทุกคนมารวมกัน ทั้งภาครัฐและเอกชน ภาคประชาสังคม ผู้นำแห่งศรัทธา เยาวชน และชนพื้นเมือง ทุกคนมารวมตัวกันตั้งแต่วันแรก ทุกคนรวมตัวกัน ลงมือปฏิบัติ และส่งมอบ” ดร. สุลต่าน อัล จาเบอร์ ประธาน COP28 กล่าวในการปิดงาน

สุดท้าย ข้อตกลงที่ทำขึ้นใน COP28 จะได้รับการส่งมอบและปฏิบัติตามจนถึง COP29 และ COP30 โดยมีกลไกในการติดตามความคืบหน้าในการดำเนินการไปสู่เป้าหมายซึ่งผู้นำระดับโลก 134 คนได้ลงนามในปฏิญญาการดำเนินการด้านการเกษตร อาหาร และสภาพภูมิอากาศ ซึ่งเป็นปฏิญญาที่สำคัญ ทั้งยังมีการประกาศระดมเงินทุนมากกว่า 2.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ เพื่อสนับสนุนความมั่นคงด้านอาหาร

ทั้งนี้ ประเทศที่ลงนามในปฏิญญา 134 ประเทศมีประชากรรวมกันกว่า 5.7 พันล้านคนและมีเกษตรกรเกือบ 500 ล้านคน ผลิตอาหารที่ทั่วโลกกิน 70% และมีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั้งหมดจากระบบอาหารทั่วโลก 76% หรือ 25% ของการปล่อยก๊าซทั้งหมดทั่วโลก

และเมื่อมองการเปลี่ยนแปลงของจีน ที่มีการบูรณาการเกษตรกรรมยั่งยืนและระบบอาหาร ให้เป็นองค์ประกอบสำคัญในการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และการสร้างระบบอาหารที่เหมาะกับอนาคต ให้ความสำคัญกับการลงทุนเกี่ยวกับการพัฒนาสีเขียว รวมทั้งการที่จีนตั้งเป้าที่จะลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ให้สูงสุดก่อนปี 2573 (คศ.2030) และบรรลุความเป็นกลางของคาร์บอน (carbon neutrality) ก่อนปี 2603 (คศ.2060) ต้องถือว่า จีน ได้เร่งแสดงบทบาทที่สอดคล้องคล้องกับแนวนโยบายที่ว่าการเปลี่ยนแปลงเพื่อส่งมอบความยั่งยืน และอนาคตร่วมกันของมนุษยชาตินั่นเอง

 

โดย นายภูวนารถ ณ สงขลา

ที่ปรึกษา คณะอนุกรรมการการค้าชายแดนและข้ามแดน ด้านจีนตอนใต้ หอการค้าไทย และ สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย

บรรณาธิการบริหาร สำนักข่าว Bangkok Wealth & Biz และ สำนักข่าว บางกอกทูเดย์ออนไลน์

  • เสียงข่าวประจำวัน (26-11-2567)

  • สานสัมพันธ์ไทย-จีน (26-11-2567)

  • เสียงคุยกันวันละประเด็น (26-11-2567)

  • เสียงข่าวประจำวัน (25-11-2567)

  • สานสัมพันธ์ไทย-จีน (25-11-2567)