หมู่ถ้ำโม่เกา มงกุฎแห่งพุทธศิลป์บนเส้นทางสายแพรไหม

2024-01-27 12:38:39 | CMG
Share with:

หมู่ถ้ำโม่เกา 莫高石窟แห่งเมืองตุนหวง 敦煌ทางภาคตะวันตกของมณฑลกานซู่บนเส้นทางสายแพรไหม ปลายสุดของช่วงตอนระเบียงเหอซีอันยาวไกล จัดเป็นหนึ่งในสี่พุทธคูหาที่สำคัญของจีน ในอดีตเมืองตุนหวงถือเป็นเมืองยุทธศาสตร์สำคัญมีทำเลชัยภูมิเหมาะสม ที่นักเดินทางจากทั้งจากบุรพทิศและประจิมทิศต่างจะต้องหยุดแวะพัก เพื่อจัดเตรียมเสบียงทั้งกองคาราวานคนและสัตว์พาหนะให้พร้อมก่อนเดินทางรอนแรมผ่านทะเลทรายและเลียบขุนเขาอันยาวไกล รวมทั้งได้มีพระภิกษุและผู้เปี่ยมศรัทธาปสาทะในพระพุทธศาสนาได้มาสร้างผลงานอันยิ่งใหญ่ขึ้น นับเป็นปฐมบทของการก่อกำเนิดหมู่ถ้ำโม่เกาขึ้นเมื่อเกือบหนึ่งพันเจ็ดร้อยปีที่ผ่านมา      

ความหมายของ ถ้ำโม่เกา มีที่มา ๒ ประการคือ

ประการแรก เรียกตาม ลักษณะของภูมิประเทศ

-โม่ มาจากคำว่า 沙漠หมายถึง ทะเลทราย ในสมัยโบราณเขียนคำว่า  โดยไม่มีหยดน้ำ 3 หยด อยู่หน้าคำ -เกา มาจากคำว่า 高地หรือ 高原หมายถึง ที่สูง หรือ ที่ราบสูง -สือคู หมายถึง ถ้ำหิน รวม ๓ คำ หมายถึง ถ้ำหินที่อยู่บนที่สูงของทะเลทราย ซึ่งตรงกับสภาพภูมิประเทศของถ้ำโม่เกาที่อยู่บนภูเขาหมิงซาซาน

ประการที่สอง ความหมาย เชิงปรัชญา -โม่ หมายถึง ไม่มีสิ่งใด -เกา หมายถึง สูง หรือ เลิศล้ำ

รวมความแล้ว โม่เกา หมายถึง ไม่มีอะไรที่สูงเลิศล้ำเกินกว่าพระพุทธเจ้า หรือ พระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า

หมู่ถ้ำโม่เกา ตั้งอยู่ห่างจากตัวเมืองตุนหวงไปทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ประมาณ ๒๕ กิโลเมตร มีความเจริญมายาวนานกว่า ๑,๐๐๐ ปี คือ นับตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่ ๔-๑๔ (สมัยราชวงศ์เว่ยเหนือจนถึงราชวงศ์หยวน) เป็นถ้ำที่เกิดจากฝีมือของมนุษย์ที่เจาะผนังหินทรายบนหน้าผาด้านตะวันออกของภูเขาหมิงซาซานยาวกว่า ๑๒ กิโลเมตร มีถ้ำรวมกว่า ๔๙๒ แห่ง ภายในมีรูปปั้นนับรวมได้ถึง ๒,๔๑๕ องค์ และมีภาพจิตรกรรมทั้งบนฝาผนังและเพดานถ้ำอันวิจิตรพิสดารรวมกว่า ๔๕,๐๐๐ ตารางเมตร ถ้านำภาพเหล่านั้นมาวางเรียงแนวยาวจะได้ไกลถึง ๔๕ กิโลเมตร จึงนับเป็นหอศิลป์ที่ยาวสุดทั้งโลกโบราณและโลกปัจจุบัน

ตำนานการสร้างถ้ำโม่เกามีว่าในค.ศ.๓๖๖ (สมัยราชวงศ์จิ้นตะวันออก) มีพระภิกษุผู้ออกจาริกแสงบุญรูปหนึ่งนาม หลวงพ่อเล่อจุ่น (乐尊和尚) ได้ธุดงค์มาถึงเชิงเขาซานเว่ยซานในยามอัสดง บังเอิญแลเห็นแสงรัศมีอันเรืองรองบนยอดเขา ท่านจึงได้รำพึงรำพันขึ้นว่า “นี่นับเป็นนิมิตอันดีที่เราจะได้แสวงหาสถานที่อันเหมาะสม เพื่อปฏิบัติธรรมและทำสมาธิ” ท่านจึงได้หานายช่างมาทำการขุดถ้ำแรกขึ้นที่บริเวณเชิงหมิงซาซาน ซึ่งอยู่ตรงกันข้ามกับซานเว่ยซาน

ต่อมา ได้มีการขุดถ้ำในบริเวณใกล้เคียงเพื่อใช้ประกอบศาสนกิจและสร้างพระพุทธรูปประดิษฐานไว้ในถ้ำ เมื่อกาลเวลาผ่านไป มีเหล่าพ่อค้าวาณิชที่เดินทางมากับกองคาราวานสินค้า ก็พากันมากราบนมัสการบูชาเพื่อขอพรให้เดินทางโดยสวัสดิภาพ ถ้ำหลาย ๆ ถ้ำจึงถูกขุดขึ้นต่อ ๆ กันมา พร้อมประดับประดาตกแต่งด้วยภาพจิตรกรรมฝาผนังอันวิจิตรพิสดารตามแรงศรัทธาของพ่อค้าหรือนักเดินทางเพื่อเป็นการทำบุญก่อนการเดินทาง หรือบ้างก็ถูกสร้างโดยพ่อค้าที่กลับมาจากการค้าขายโดยสวัสดิภาพและมั่งคั่งจนกลายเป็นศาสนสถานที่สำคัญที่สุดบนเส้นทางสายแพรไหม ตั้งแต่ราชวงศ์เว่ยเหนือต่อเนื่องมาในสมัยราชวงศ์สุย ถัง ซีเซี่ยจนถึงหยวน จากนั้นมาหมู่ถ้ำโม่เกาก็ขาดการทำนุบำรุง ประกอบกับเส้นทางการค้าสายแพรไหมได้เสื่อมความนิยมลง เพราะเส้นทางสายแพรไหมทางทะเลได้รับความนิยมมากขึ้น และในเวลาเดียวกันที่ดินแดนภาคตะวันตกมีสงครามเกิดขึ้นบ่อยครั้ง นานวันเข้าถ้ำนับร้อยพันแห่งนี้ก็จมมิดอยู่ใต้กองพะเนินทรายอันมหึมา

กระทั่ง ในค.ศ.๑๙๐๐ ประวัติศาสตร์ของถ้ำโม่เกายุคใหม่ก็เริ่มขึ้น โดยนักพรตเต๋านามหวังหยวนลู่ (王圆箓) ผู้พเนจรจากภาคกลางของจีนมุ่งสู่ตะวันตก มาจนถึงถ้ำโม่เกาพร้อมดัดแปลงถ้ำชั้นล่างเป็นสำนักลัทธิเต๋า จนในวันที่ ๒๖ เดือน ๕ ค.ศ.๑๙๐๐ ขณะที่ให้คนงานทำความสะอาดบริเวณทางเข้าคูหาถ้ำหมายเลข ๑๖ และผนังถ้ำด้านใน เขาก็ได้ค้นพบ ห้องเก็บคัมภีร์หรือจั้งจิงต้ง (藏经洞) (คูหาหมายเลข ๑๗) เข้าโดยบังเอิญ สิ่งที่นักพรตหวังค้นพบคือ คัมภีร์พระไตรปิฎก พระสูตร และภาพวาดทางพระพุทธศาสนา อันประเมินค่ามิได้สะสมอยู่ภายในกว่า ๕๐,๐๐๐ ชิ้น

ข่าวการค้นพบได้แพร่กระจายไปตามหมู่พ่อค้าวาณิชบนเส้นทางสายแพรไหม จนในค.ศ.๑๙๐๗ ออเรล สไตน์ Auriel Stein นักโบราณคดีและนักสำรวจอังกฤษคนแรกได้รับข่าวทราบและดั้งด้นเข้ามาถึงถ้ำโม่เกาและได้ขอซื้อกรุสมบัติอันล้ำค่าเหล่านี้กว่า ๒๙ หีบจากนักพรตหวัง โดยมอบเงินตอบแทนเป็นเงินให้ประมาณ ๑๓๐ ปอนด์ จากนั้นมามีนักโบราณคดีอีกหลายคนที่มาถึงตุนหวง และได้ขนสมบัติล้ำค่าทางพระพุทธศาสนาเหล่านี้กลับประเทศไปเช่น ปอล เปลิโยต์ Paul Pelliot นักประวัติศาสตร์จีนศึกษาชาวฝรั่งเศส  คณะสำรวจโอตานิ (Otani) จากประเทศญี่ปุ่น และแลงดอน วอร์เนอร์ (Langdon Warner) นักโบราณคดีชาวอเมริกัน เป็นต้น คงเหลืออยู่ในประเทศจีนราว ๘,๖๐๐ ชิ้นเท่านั้น

โดยที่รัฐบาลแมนจูในสมัยปลายราชวงศ์ชิงเมื่อทราบข่าว ก็มาขนย้ายเอกสารได้เพียงบางส่วนกลับไปเก็บรักษาไว้ที่กรุงปักกิ่ง ส่วนนักวิชาการจีนคนสำคัญคือ ศาสตราจารย์ฉางซูหง (常书鸿) (ค.ศ.๑๘๙๗-๑๙๘๖) ซึ่งต่อมาได้รับการยกย่องให้เป็นบิดาแห่งภัณฑารักษ์ของถ้ำโม่เกา (敦煌的守护神) ท่านได้อุทิศทุ่มเทการทำงานตลอดชีวิตอันยาวนานกว่า ๔๐ ปี ในการศึกษาวิจัยค้นคว้าและบูรณปฏิสังขรณ์หมู่พุทธคูหาเหล่านี้อย่างเป็นระบบ สร้างบันไดทางขึ้นสู่ถ้ำต่าง ๆ ทำประตูปิดปากถ้ำ จดรหัสหมายเลขประตูที่หน้าถ้ำ สร้างเสริมกำแพงคอนกรีตกันลมพายุทรายมิให้พัดโหมเข้ามาถมถ้ำ ฯลฯ เป็นผู้ร่วมผลักดันให้รัฐบาลจีนประกาศหมู่ถ้ำโม่เกาให้เป็นมรดกสำคัญระดับต้นของประเทศ รวมทั้งได้เดินทางไปยังหลายประเทศที่นำกรุสมบัติเหล่านี้ไปเก็บรักษาไว้ที่ประเทศตน พร้อมร่วมจัดตั้งสถาบันวิจัยตุนหวงศึกษาขึ้น จนทำให้เกิด วิชาตุนหวงศึกษา Dunhuangology Study ขึ้น เพื่อศึกษาวิจัยค้นคว้าอนุรักษ์งานศิลปะอันทรงคุณค่าภายในถ้ำขึ้นอย่างเป็นระบบจนตราบวาระสุดท้ายของชีวิตท่าน

จวบจนถึงปัจจุบัน หมู่ถ้ำโม่เกาคงเหลือพุทธคูหาอยู่ ๔๙๒ ถ้ำ โดยสามารถแบ่งงานศิลปกรรมภายในถ้ำออกได้เป็น ๒ ลักษณะ คือ ตามลักษณะงานศิลปกรรม คือ จิตรการฝาผนังและเพดานถ้ำ รูปปั้น ภาพวาดบนผืนผ้าไหม ภาพสลักบนพื้นอิฐ เป็นต้น และ ตามยุคสมัยในการสร้าง ซึ่งสามารถแบ่งเป็น ๔ ยุค คือยุคสมัยแรก (ค.ศ.๓๘๖-๕๘๑) ราชวงศ์เว่ยเหนือถึงราชวงศ์เหนือใต้) ยุคสมัยกลาง (ค.ศ.๕๘๑-๖๑๘) ราชวงศ์สุย ยุคสมัยราชวงศ์ถังช่วงรุ่งเรือง (ค.ศ.๖๑๘-๗๕๖) ยุคเสื่อมสมัยราชวงศ์ถัง (ค.ศ.๗๕๗-๙๐๖) และยุคสมัยหลังราชวงศ์ถัง (ค.ศ.๙๐๗ เป็นต้นมา)

ปัจจุบันการการศึกษาและชมศิลปกรรมภายในถ้ำโม่เกา จะมีภัณฑารักษ์ผู้ชำนาญการของหมู่ถ้ำเป็นผู้นำชม โดยจะเปิดให้ชมคณะละประมาณ ๘-๑๐ ถ้ำ โดยคัดเลือกถ้ำตัวแทนแต่ละยุคสมัยและงานศิลปกรรมให้เข้าชม หมู่ถ้ำโม่เกาได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกทางวัฒนธรรมชุดแรกของจีนเมื่อค.ศ.๑๙๘๗ (ร่วมกันกำแพงเมืองจีน พระราชวังกู้กง กรุงปักกิ่ง ภูเขาไท่ซาน และแหล่งโบราณคดีมนุษย์ปักกิ่ง)

สามารถอ่านรายละเอียดชมภาพประกอบเพิ่มเติมได้จากหนังสือ Silk Road เส้นทางสายแพรไหมในจีน จากซีอานสู่คาราโครัม โดยผู้เขียน สำนักพิมพ์สารคดี ตุลาคม ๒๕๖๖


เรื่องโดย ปริวัฒน์ จันทร

  • เสียงข่าวประจำวัน (27-04-2567)

  • เกาะกระแสจีน (27-04-2567)

  • เสียงข่าวประจำวัน (26-04-2567)

  • สานสัมพันธ์ไทย-จีน (26-04-2567)

  • เสียงคุยกันวันละประเด็น (26-04-2567)