ดร.ฐณยศ โล่ห์พัฒนานนท์
นักวิจัยด้านความมั่นคงและวัฒนธรรมสัมพันธ์เอเชีย ศูนย์แม่โขงศึกษา
สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
International Democracy Forum: A Shared Human Value เป็นอีกหนึ่งเวทีสำคัญที่จีนให้ความใส่ใจ การประชุมนี้ว่าด้วยความเข้าใจประชาธิปไตยในฐานะคุณค่าร่วมของมนุษย์และการแลกเปลี่ยนแนวทางจัดการความท้าทายด้านประชาธิปไตยในโลกปัจจุบัน งานครั้งแรกเกิดขึ้นเดือนธันวาคม ปี 2021 มีนักวิชาการและนักการเมืองมากกว่า 500 คนจาก 120 ประเทศทั่วโลกเข้าร่วม จากนั้นจีนเป็นเจ้าภาพจัดงานอีกครั้งในเดือนมีนาคม ปี 2023 เพื่อสานต่อประเด็นความร่วมมือด้านประชาธิปไตย การจัดงานครั้งที่ 3 เริ่มขึ้นวันพุธที่ 20 มีนาคมที่ผ่านมา ด้วยวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมการเรียนรู้ประชาธิปไตย เน้นมุมมองจากทุกกลุ่มวัฒนธรรมแทนการจำกัดความโดยกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง
ประเด็นประชาธิปไตยถูกยกระดับให้เป็นฟอรั่มระหว่างประเทศเนื่องมาจากนิยามกระแสหลักซึ่งเน้นการปกครองโดยประชาชนและโต้แย้งอำนาจปกครองโดยบุคคล หรือ กลุ่มบุคคล นิยามนี้เชื่อว่า ทุกคนเกิดมาเท่าเทียมกันในทางอำนาจและจะต้องมีส่วนร่วมในการตัดสินใจทางการเมือง หรือ การปกครอง ไม่ทางตรง ก็ทางอ้อม ประชาธิปไตยตามนิยามนี้มักอยู่ในรูปของการเลือกตั้งผู้แทน รวมทั้งสิทธิเสรีภาพในการแสดงความเห็น
อย่างไรก็ดี ปัญหายุคปัจจุบันกลับเป็นการประหัตประหารความเห็นต่าง กระทั่งปฏิเสธการปกครอง ปรัชญา การปรับตัวใหม่ ๆ ซึ่งไม่ได้อยู่ในกรอบนิยามกระแสหลัก ปัญหาดังกล่าวพบเห็นได้บ่อยในวาทกรรมของคนทุกกลุ่มอายุจนมีลักษณะประหนึ่งประชาธิปไตยเชิงรูปแบบมากกว่าเนื้อหาสาระ มีการตั้งข้อสังเกตว่า ประชาธิปไตยกระแสหลักสัมพันธ์กับปัจจัย 3 อย่าง ได้แก่ เงิน สายสัมพันธ์ และภาพลักษณ์ ด้วยความเข้มข้นของปัจจัยทั้ง 3 บุคคลจะมีโอกาสได้รับเลือกเป็นผู้แทนมากขึ้น ผู้แทนหลายคนจึงมาจากความนิยมซึ่งอาจไม่ได้สะท้อนทักษะการบริหารปกครอง นี่นำไปสู่คำถามว่า แล้วประชาธิปไตยดั้งเดิมคืออำนาจปกครองของประชาชนเพื่อผลประโยชน์สูงสุดของประชาชนหรือไม่ หรือ เป็นอำนาจปกครองจากความชอบใจส่วนบุคคล
นายลี่ ซูเหล่ย กรรมการกรมการเมืองแห่งคณะกรรมการกลางพรรคคอมมิวนิสต์จีนและผู้อำนวยการสำนักสารนิเทศแห่งคณะกรรมการกลางพรรคฯ สาธารณรัฐประชาชนจีนกล่าวสุนทรพจน์ในระหว่างพิธีเปิดว่า ประชาธิปไตยแบบจีนได้สร้างสรรค์ความมหัศจรรย์แบบจีนขึ้นมาจนประสบความสำเร็จ เพราะมันตอบโจทย์ความต้องการของประชาชน ทั้งหมดเป็นผลมาจากการรับฟังประเด็นปัญหาอันหลากหลาย ได้แก่ การศึกษา สุขภาพ การจ้างงาน ฯลฯ ก่อนสร้างกระบวนการพัฒนาไปสู่ความทันสมัยและรับมือทุกความท้าทาย
มีการเปิดเผยผลการศึกษาประชาชนกว่า 9,000 คน ใน 23 ประเทศของ Academy of Contemporary China and World Studies ด้วยว่า ความเห็นมากกว่า 90% มองประชาธิปไตยเป็นความพยายามแก้ปัญหาอันแท้จริงของประชาชน ขณะที่ความเห็น 95% อธิบายว่า แต่ละประเทศมีสภาพการณ์และวิธีการพัฒนาแตกต่างกัน รูปแบบประชาธิปไตยจึงไม่อาจเหมือนกัน นี่สอดคล้องกับคำกล่าวของนายจอร์จ คาตรูกาลอส อดีตรัฐมนตรีต่างประเทศของกรีซ กล่าวคือ ประชาธิปไตยไม่เคยมีรูปแบบตายตัวและประชาธิปไตยยังคงเป็นประชาธิปไตยตราบเท่าที่มันมาจากความไว้วางใจของประชาชน
ผู้แทนการเมืองและวิชาการอีกหลายชาติร่วมแบ่งปันประสบการณ์ความรู้เพื่อขยายโลกทัศน์เกี่ยวกับประชาธิปไตยแทนการยึดโมเดลกระแสหลักจนขาดความยืดหยุ่น ทำให้ International Democracy Forum: A Shared Human Value ครั้งที่ 3 เดินตามรอยสองครั้งแรกด้วยความคิดเห็นสดใหม่ กระตุ้นความเข้าใจที่แตกต่าง แต่ก็ไม่ปฏิเสธการมีอยู่ของนิยามกระแสหลักเพื่อพิสูจน์ว่า การประชุมนี้ไม่ใช่เวทีงัดข้อทางความเชื่อ
หากมองอีกนัย International Democracy Forum: A Shared Human Value ก็คือภาพสะท้อนหนึ่งของข้อริเริ่มอารยธรรมโลกซึ่งเชิดชูค่านิยมร่วมของมวลมนุษย์และต่อต้านการยัดเยียดโมเดลทางความคิดจากกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง ในแง่นี้ประชาธิปไตยคือความครอบคลุม ไม่ใช่การครอบงำ และประชาธิปไตยที่ครอบคลุมจะนำไปสู่ถนนแห่งสันติภาพกับความยั่งยืน