เมื่อวันที่ 1 มกราคมที่ผ่านมา เขตการค้าเสรีจีน-อาเซียนสร้างขึ้นอย่างเป็นทางการ เขตการค้าเสรีนี้มีผู้บริโภคจำนวน 1,900 ล้านคน ซึ่งจะสร้างทั้งโอกาสและการท้าทายแก่วิสาหกิจประเทศต่างๆ อย่างไม่เคยมีมาก่อน
ธุรกิจของกลุ่มซีพีซึ่งเป็นเครือธุรกิจของภาคเอกชนไทยนับเป็นกลุ่มธุรกิจต่างชาติกลุ่มแรกในจีน โดยเข้ามาในจีนในช่วงที่จีนเปิดประเทศใหม่ๆ จนถึงปัจจุบันประมาณ 30 ปีแล้ว ได้ดำเนินธุรกิจสายเกษตร อสังหาริมทรัพย์ ค้าปรึก อุตสาหกรรมยานยนต์ และธุรกิจอื่นๆ เช่น ธนาคาร ปิโตรเคมี และการค้าอื่นๆ เป็นต้น
เมื่อเร็วๆ นี้ ผู้สื่อข่าวซีอาร์ไอได้สัมภาษณ์นายปรีชา พโรดม ผู้จัดการฝ่ายบุคลากรประจำสำนักประธานกรรมการเครือซีพี. เขากล่าวว่า
"โลกในปัจจุบันดูเป็นโลกโลกาภิวัตน์ ซึ่งธุรกิจต่างๆ คงเป็นธุรกิจไร้พรมแดนแล้ว หมายความว่าไร้พรมแดนก็คือว่าไม่มีอะไรมากีดกัน เราไม่สามารถที่จะปิดตัวเองได้ ปิดตัวเองว่าเราค้าขายอยู่กับในประเทศในกลุ่มไม่กี่ประเทศเท่านั้นเองไม่ได้ หรือว่าปิดตัวเองอยู่ในประเทศตัวเองไม่ได้แล้ว มันก็ต้องไปสู่ภาวะความเป็นสากล เขตการค้าเสรีที่ร่วมกันอยู่ ผมว่าถ้ารวมจีนเข้าไปแล้ว น่าจะเกือบ 2,000 ล้านคนได้ การที่มีคนมากก็เท่ากับว่ามีตลาดใหญ่ แล้วที่นี่การที่มีตลาดใหญ่มันก็ต้องมีความต้องการสินค้า ถ้าใครสามารถที่จะพลิกเอาอันนี้เป็นโอกาสให้ตัวเองได้ ก็มีตลาดได้ ก็ต้องพัฒนาตัวเอง พัฒนาสินค้าให้เป็นที่ต้องการในตลาดให้มากขึ้น แล้วธุรกิจก็จะอยู่ได้ ทีนี้ถ้าในมุมมองตัดกัน ธุรกิจบางรายบอกว่า รู้สึกว่าตัวเองเสียเปรียบ รู้สึกว่าถ้าจีนเข้ามาร่วมด้วย สินค้าของจีนซึ่งมันมีอยู่หลากหลาย จะเข้ามาแย่ง ทําให้ธุรกิจตัวเองต้่องยํ่าแย่ มาแข่งขันกับสินค้าของตัวเองในประเทศไทยสมมุติ โอเค อันนี้มันก็ต้องมี แต่เราจะต้องหาวิธีทําอย่างไรให้สินค้า พัฒนาสินค้าอย่างอื่นเข้ามาแข่งขันกับเขา หรือว่าเข้ามาขายในจีนบ้าง หรือว่าไปทําลักษณะว่าปรับปรุงพัฒนาสินค้าของตัวเอง แล้วส่งเข้ามาขายที่ประเทศจีน หรือว่าประเทศอื่นๆ ในเขตอาเซียนด้วยกัน มันก็ทําให้สินค้าของเราแข่งขันและอยู่รอดได้ อันนี้เราจะต้องหาจุดหามุมต่างๆ ที่เข้ามา"
เมื่อกล่าวถึงอนาคต นายปรีชากล่าวว่า "หลักๆ เราจะมีสินค้าประเภทอาหารทะเล พวกสัตว์นํ้า ก็คือเรื่องของกุ้ง เรื่องของปลา อะไรพวกนี้ ซึ่งอันนี้เรายังไม่ได้มาขยายลงในประเทศจีน เพราะฉะนั้น สินค้าประเภทนี้ซึ่งเรามีการเลี้ยงมีการแปรรูปในประเทศไทยเราก็เอามาขาย ตอนนี้เราก็เริ่มวางขายแล้ว อย่างเช่นพวกเกี๊ยวกุ้ง กุ้งตัวนี้เป็นกุ้งสด เราใช้กุ้งสดๆ แปรรูปมา ซึ่งมันมีมูลค่า อาจจะเป็นของแพงนิดหนึ่ง แต่ว่าท่านได้ลิ้นรสชาติอร่อย ตอนนี้เข้าตลาดจีนแล้ว แต่มันก็ค่อนข้างที่จะช้านิดหนึ่ง เพราะว่าสินค้านี้เป็นสินค้าแช่แข็งแปรรูป และยังต้องนําเข้าจากประเทศไทยอยู่ แต่อีกหน่อยถ้ามีตลาดมากขึ้น เราคงจะมาตั้งโรงงานที่นี่ เพราะว่าเริ่มมีแหล่งของกุ้งแล้ว แหล่งของการเลี้ยงกุ้งต่างๆ เราเริ่มเลี้ยงในจีน นอกนั้น สินค้าอื่นๆ เรามีแล้ว อย่างเช่นอาหารแปรรูปจากไก่ จากเป็ด จากหมู อะไรพวกนี้เรามีอยู่แล้ว อันนี้เราในจีนมีอยู่แล้ว ซึ่งรสชาติต่างๆ เราก็ปรับปรุงให้เข้ากับรสชาติของคนจีนแล้ว "
เนื่องจากมีทิศทางการพัฒนาอยู่แล้ว สำหรับการท้าทายในอนาคต ซีพีมีความมั่นใจอย่างยิ่ง
"ทีนี้เมื่อเราบอกว่าเราเปิดการค้าเสรีอันนี้ขึ้นมาแล้ว ก็ต้องมาพัฒนาตัวเอง พัฒนาธุรกิจตัวเอง ให้มีความแข็งแกร่งเพิ่มขึ้น คือเราพยายามรู้กฎเกณฑ์รู้จุดของเราอยู่ตรงไหน ต้องรอบรู้ทุกด้าน ถ้าพัฒนาตัวเองอยู่เรื่อยๆ มันก็จะไม่มีอุปสรรค ที่นี่ในส่วนของซีพีเอง เรามีการลงทุนอยู่แล้วในหลายประเทศด้วยกัน ทั้งในประเทศอาเซียนเกือบทุกประเทศ เพราะฉะนั้น ถ้าจะถามว่าเขตการค้าเสรีมีผลอะไรต่อทางซีพี เราก็บอกได้เลยว่า เรามีการเตรียมพร้อมของเราอยู่ตั้งแต่ต้นแล้ว เพียงแต่ว่าจะต้องจับผลซึ่งจะมีต่อเขตการค้าเสรี ต้องจับเอาโอกาส รูปทาง ที่ว่าการเปิดการค้าเสรี มันดีอย่างไร มันช่วยลดภาษีได้อย่างไร เราก็คงจะจับข้อดีต่างๆ เหล่านั้นมาเป็นประโยชน์ของเรา "
การเปิดเขตการค้าเสรีเป็นสัญลักษณ์แสดงให้เห็นว่า จีนกับอาเซียนได้เข้าสู่ระยะใหม่ ขณะเดียวกัน ก็เป็นจุดเริ่มต้นด้วย ในวันข้างหน้า ความสัมพันธ์ด้านเศรษฐกิจการค้าระหว่างสองฝ่ายจะพัฒนาเรื่อยๆ จะมีทั้งโอกาสและการท้าทายมากขึ้น เมื่อเผชิญกับโอกาสและการท้าทายเหล่านี้ เชื่อว่าจะมีวิสาหกิจจำนวนมากขึ้นสามารถกล่าวด้วยความมั่นใจว่า "พวกเราเตรียมพร้อมแล้ว"