ช่วงเทศกาลตรุษจีน นอกจากแขวนโคมไฟสีแดง ปิดคำอวยพรกลอนคู่(ชุนเหลียน)ที่สองข้างบานประตูหน้าบ้าน แปะภาพตัดกระดาษ (เจี๋ยนจื่อ) และกินเกี๊ยว เพื่อ"เสริมสิริมงคล" แล้ว ชาวจีนยังนิยมปิดภาพมงคลต้อนรับปีใหม่ หรือ เหนียนฮว่ารับตรุษจีนด้วย
"ภาพมงคล" หรือ "เหนียนฮว่า" แบ่งได้ 3 ประเภทตามลักษณะการผลิต ได้แก่ ภาพพิมพ์ ภาพลายฉลุกระดาษ และภาพวาด ซึ่งเป็นศิลปะที่เกิดขึ้นและอยู่คู่กับประเพณีการส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ในหมู่สามัญชนจีนมายาวนาน มักจะเป็นภาพเทพเจ้าที่ติดตามประตูบ้าน เพื่อขับไล่ภูตผีปิศาจ หรือภาพบุคคลในตำนาน
ในประเทศจีน "เหนียนฮว่า" ที่ขึ้นชื่อลือนามเป็นผลงานที่ผลิตมาจากตำบลหยางหลิ่วชิง" นครเทียนจินมีมาตั้งแต่ราชวงศ์หมิง พัฒนาฝีมือรุ่งเรื่องเฟื่องฟูจนถึงราชวงศ์ชิง จนกระทั่งทุกวันนี้ ก็ยังได้รับความนิยมจากประชาชนทั่วไป
เอกลักษณ์ของภาพมงคลหยางหลิ่วชิง อยู่ที่กรรมวิธีการผลิตแบบ "ครึ่งพิมพ์ครึ่งวาด" โดยใช้แม่พิมพ์ไม้แกะสลักฝีมือประณีต ที่ให้ภาพพิมพ์ลวดลายงดงาม คมชัด จากนั้นนำมาแต่งแต้มเติมสีด้วยมืออย่างวิจิตรบรรจง
ภาพมงคลมีเนื้อหาหลากหลาย มีทั้งสะท้อนแนวคิดทั่วไป ความปรารถนาและวิถีชีวิตของปวงชน ภาพทิวทัศน์ธรรมชาติ ฉากจากละคร หรือตำนาน เรื่องราวในประวัติศาสตร์ เทพ นิยาย วิถีชีวิตชาวบ้าน ทิวทัศน์ธรรมชาติ ดอกไม้ และสัตว์ เป็นต้น ภาพมงคลจากแต่ละท้องถิ่นต่างก็มีเอกลักษณ์และรูปแบบที่แตกต่างกัน บ้างเป็นภาพชุด ภาพติดหน้าต่าง ภาพติดเตาไฟ หรือเป็นผืนธง ในแง่ความงามทางศิลปะแล้ว ภาพมงคลที่ตำบลหยางหลิ่วชิงเป็นภาพพิมพ์แกะสลักไม้ ที่แพร่หลายทั่วไปทางภาคเหนือของจีน มีลักษณะโดดเด่นตรงที่มีรายละเอียดประณีตงดงามดูคลาสสิคเป็นพิเศษ คนจีนทั่วไปนิยมเรียกว่า "หยางหลิ่วชิงเหนียนฮว่า" หรือ "ภาพมงคลหยางหลิ่วชิง"
ภาพมงคลหยางหลิ่วชิง ถูกจัดเข้าสู่บัญชีรายชื่อวัฒนธรรมวิถีชนแห่งชาติกลุ่มแรกโดยคณะรัฐมนตรีจีนเมื่อวันที่ 20 เดือนพฤษภาคม 2006
(Dai)