ย้อนไปเมื่อปี 2002 จีนกับอาเซียนเริ่มต้นการเจรจาว่าด้วยเขตการค้าเสรี จากนั้นในปี 2004 มีการลงนามข้อตกลงว่าด้วยการค้าสินค้า ปี 2007 ลงนามในข้อตกลงว่าด้วยการค้าบริการ และในปี 2009 ลงนามในข้อตกลงว่าด้วยการลงทุน ตามลำดับ ซึ่งเป็นการเสร็จสิ้นกระบวนการทางกฎหมายสำหรับการสร้างเขตการค้าเสรีจีน-อาเซียน และเป็นหลักประกันให้สร้างขึ้นทันในปี 2010 ตามกำหนด
ศ.สี่ว์ หนิงหนิง เลขาธิการคณะมนตรีธุรกิจจีน-อาเซียนฝ่ายจีนให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าวซีอาร์ไอว่า การสร้างตลาดใหญ่เขตการค้าเสรีจีน-อาเซียน จะนำมาซึ่งการพัฒนาที่มากขึ้นกว่าเดิมสำหรับภาคธุรกิจทั้งสองฝ่าย
"เขตการค้าเสรีจีน-อาเซียนเป็นตลาดใหญ่และเป็นเอกภาพที่ประกอบไปด้วยจีนกับประเทศอาเซียนรวม 11 ประเทศ พระเอกของตลาดคือ ภาคธุรกิจ ฉะนั้น ข้อดีข้อเสียของการสร้างเขตการค้าเสรีในที่สุดนั้น มาตรฐานอันดับแรกก็คือ ภาคธุรกิจอันกว้างใหญ่ไพศาลของทั้งสองฝ่ายจะได้ประโยชน์หรือไม่ จะมีโอกาสต่อยอดธุรกิจหรือไม่ หากไม่มี ก็จะจัดเป็นเขตการค้าเสรีที่สำเร็จไม่ได้"
เมื่อเขตการค้าเสรีสร้างขึ้นแล้ว จีนกับอาเซียนจะลดภาษีศุลกากรผลิตภัณฑ์ประมาณ 7,000 ชนิดให้เหลือ 0% ทั้งผัก ผลไม้ เครื่องจักร อิเล็กทรอนิกส์ สิ่งทอ และเสื้อผ้า ฯลฯ ผู้ได้ประโยชน์โดยตรงที่สุดจากการยกเว้นภาษีศุลกากรก็คือ ภาคธุรกิจของทั้งสองฝ่าย
นายโฮเซ่ลิโท เอ จิเมโน กงสุลใหญ่ฟิลิปปินส์ประจำเมืองกวางโจวของจีนให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าวซีอาร์ไอว่า การสร้างเขตการค้าเสรีจีน-อาเซียนในทุกด้านจะนำมาซึ่งโอกาสทางธุรกิจครั้งใหญ่แก่ทั้งสองประเทศ และจะผลักดันการค้าระหว่างสองประเทศ
"แม้ว่าปีที่แล้ว ยอดการค้าจีน-ฟิลิปปินส์เติบโตติดลบก็ตาม แต่ข้าพเจ้าเชื่อมั่นว่า ยอดการค้าจีน-ฟิลิปปินส์ในปีนี้จะก้าวกระโดดอีกครั้ง ส่วนเขตการค้าเสรีจีน-อาเซียนที่จะสร้างแล้วเสร็จจะมีบทบาทส่งเสริมการค้าทวิภาคีระหว่างสองประเทศ และฟิลิปปินส์จะได้โอกาสจากจีนมากกว่าเดิม เช่น ผลิตภัณฑ์การเกษตรและผลไม้ของฟิลิปปินส์จะเข้าสู่ตลาดจีนสะดวกยิ่งขึ้น และจะสู่ตลาดเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ทั้งปวงได้ดียิ่งขึ้น"
ศ.สี่ว์ หนิงหนิง เลขาธิการคณะมนตรีธุรกิจจีน-อาเซียนฝ่ายจีนยังระบุว่า หลังเปิดเขตการค้าเสรีจีน-อาเซียนแล้ว จะเกิดโซ่ธุรกิจใหม่ ซึ่งต้องการให้หอการค้า สมาพันธ์การค้าของสองฝ่ายร่วมหารือกันว่า จะวางแผน จะจัดสรร จะใช้ความเหนือกว่ากันอย่างไร เพื่อให้ผลิตภัณฑ์ของภูมิภาคมีศักยภาพการแข่งขันและครองสัดส่วนในตลาดโลกมากยิ่งขึ้น เขากล่าวว่า
"เขตการค้าเสรีจีน-อาเซียนไม่ได้เปิดตลาดเพื่อการเปิดตลาด หากเพื่อกระชับความร่วมมือระหว่างกันให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น ร่วมกันบุกตลาดโลกได้มากขึ้น ทำให้ภูมิภาคเราสามารถต้านความเสี่ยงต่างๆ ทั้งภัยจากวิกฤตการเงินโลก"
ศ.สี่ว์ หนิงหนิงกล่าวเน้นในขณะเดียวกันว่า พร้อมๆ กับการเปิดเสรีตลาดการค้าบริการและตลาดการลงทุน สองฝ่ายจะเปิดตลาดการคมนาคม การสื่อสาร การเงิน และการบริการทางธุรกิจอย่างค่อยเป็นค่อยไป และจะอำนวยความสะดวกแก่ความร่วมมือระหว่างสองฝ่ายได้มากยิ่งขึ้น