แมสคอตกีฬาโอลิมปิกเยาวชน 2010
งานกีฬาโอลิมปิกเยาวชน (YOG) ครั้งแรกที่ประเทศสิงคโปร์ระหว่างวันที่ 14-26 สิงหาคม มีการจัดกิจกรรมทางวัฒนธรรมและการศึกษาต่างๆ กว่า 50 รายการสำหรับนักกีฬาวัยหนุ่มสาวที่เข้าร่วม อีกทั้งได้รับความสนใจจากผู้คนทั้งหลายด้วย แท้ที่จริงแล้ว แนวคิดใหม่ในการจัดงานกีฬาโอลิมปิกเยาวชนก็คือ "สร้างความสมดุลระหว่างการแข่งขัน วัฒนธรรมและการศึกษา" ฉะนั้น การจัดกิจกรรมทางวัฒนธรรมและการศึกษาให้ได้ดีด้วยจึงกลายเป็นดัชนีสำคัญประการหนึ่งในการประเมินว่างานกีฬาโอลิมปิกเยาวชนครั้งแรกประสบความสำเร็จหรือไม่ และเป็นการท้าทายครั้งใหญ่สำหรับสิงคโปร์ผู้เป็นเจ้าภาพจัดงานฯ ด้วย เพราะถือว่าเป็นงานสร้างสรรค์ใหม่ ผลปรากฏว่า ชาวสิงคโปร์ใช้ความพยายามจนประสบความสำเร็จและได้รับความชื่นชมจากทุกฝ่าย
โครงการวัฒนธรรมและการศึกษาของกีฬาโอลิมปิกเยาวชนมีชื่อย่อภาษาอังกฤษว่า ซีอีพี "CEP" นายลี โป๋เซิ่ง หัวหน้าโครงการวัฒนธรรมและการศึกษา คณะกรรมการจัดงานกีฬาโอลิมปิกเยาวชนแห่งประเทศสิงคโปร์ให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าวซีอาร์ไอว่า โครงการวัฒนธรรมและการศึกษามาจากแนวคิดในการจัดงานกีฬาโอลิมปิกเยาวชนของคณะกรรมการโอลิมปิกสากล มีวัตถุประสงค์เพื่อให้นักกีฬาวัยหนุ่มสาวที่ร่วมงานฯ นอกเหนือจากได้ประสบการณ์ในการแข่งขันกีฬาแล้ว ยังมีโอกาสเรียนรู้และสัมผัสกับวัฒนธรรมมากยิ่งขึ้น และมีโอกาสในการพัฒนาทั่วทุกด้าน นายลี โป๋เซิ่งระบุว่า
"โครงการวัฒนธรรมและการศึกษาส่งผลกระทบลุ่มลึกยาวไกลต่อนักกีฬา ช่วยให้นักกีฬาเข้าใจถึงจิตใจของโอลิมปิกอย่างแท้จริง และสร้างคุณค่าได้มากยิ่งขึ้น นอกจากนี้ เรายังหวังว่า โครงการนี้จะสามารถช่วยให้นักกีฬาพัฒนาเป็นส่วนดีเด่นของสังคมและเป็นแบบอย่างให้กับผู้อื่นด้วย"
โครงการวัฒนธรรมและการศึกษา กีฬาโอลิมปิกเยาวชน 2010 สิงคโปร์
นายลี โป๋เซิ่งให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าวซีอาร์ไอว่า สิ่งที่คณะกรรมการโอลิมปิกสากลเสนอขึ้นมาเป็นเพียงแนวคิดเท่านั้น แผนการปฏิบัติที่ลงในรายละเอียดตกเป็นหน้าที่ของสิงคโปร์เจ้าภาพจัดงานฯ ทั้งนี้เนื่องจากเป็นการจัดกีฬาโอลิมปิกเยาวชนครั้งแรก ไม่มีสิ่งใดๆ ที่สามารถยึดมาเป็นต้นแบบได้ ฉะนั้น จึงเท่ากับว่า เขากับทีมงานต้องร่างแผนทั้งหมดขึ้นมาบนกระดาษเปล่าใบหนึ่ง ขณะทำการออกแบบกิจกรรมทางวัฒนธรรมและการศึกษาต่างๆ ตามโครงการฯ ส่วนต้องคำนึงถึงปัจจัยอะไรบ้าง นายลี โป๋เซิ่งบอกว่า
"ประการแรกคือ กิจกรรมต่างๆ ในโครงการฯ ต้องมีความสนุกและสามารถสร้างแรงจูงใจ นี่คือพื้นฐานในการออกแบบ อีกประการหนึ่ง คือ ความสนใจของหนุ่มๆ สาวๆ ที่หลายหลาก ฉะนั้น จึงต้องออกแบบกิจกรรมต่างๆ ให้มีความหลายหลากตามไปด้วย เช่น นักกีฬาเยาวชนบางคนชอบกีฬากลางแจ้ง เราจึงออกแบบกิจกรรมการผจญภัยตามเกาะแก่งในทะเล ซึ่งรวมถึงการปีนหน้าผา และล่องแพข้ามแม่น้ำ หนุ่มสาวบางคนมีความสนใจเรื่องสิ่งแวดล้อม เราจึงออกแบบการเดินทางผจญภัยเพื่อการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม นักกีฬาตัวน้อยบางคนชอบดารา เราจึงติดต่อแชมป์โอลิมปิกมาพูดคุยกับพวกเขา อีกประการหนึ่งก็คือ กิจกรรมทั้งหลายล้วนแฝงความรู้อยู่ในความสนุกสนาน ซึ่งล้วนสามารถช่วยให้นักกีฬาวัยเยาว์ทั้งหลายที่ร่วมกิจกรรมได้เรียนรู้บางสิ่งบางอย่างไปด้วย ซึ่งจะเป็นคุณประโยชน์อย่างยิ่งต่อการร่วมแข่งขันกีฬาและการอยู่ร่วมกันในสังคม"
(TON/LING)