ผู้สื่อข่าวซีอาร์ไอรายงานว่า วันที่ 31 สิงหาคมนี้ กองทหารสหรัฐฯ ประจำอิรักจะเสร็จสิ้นภาระกิจสู้รบที่ยืดเยื้อมาเป็นเวลา 7 ปี 5 เดือน โดยตั้งแต่วันที่ 1 กันยายนเป็นต้นไป ทหารสหรัฐฯ ประจำอิรักจะไม่ทำการสู้รบในเขตแดนอิรักอีกต่อไป กองทหารประมาณ 50,000 นายที่ประจำในอิรักนั้น จะถอนกำลังออกจากอิรักก่อนปลายปี 2011 สื่อมวลชนเห็นพ้องกันว่า หลังกองทหารสหรัฐฯ ถอนกำลังออกไปแล้ว จะทิ้งสภาพที่ยุ่งยากแก่ประเทศอิรัก สงครามที่ยืดเยื้อกว่า 7 ปีนั้น ไม่ได้นำประชาธิปไตยและความเจริญรุ่งเรืองมาให้แก่อิรัก หากกลับทำให้การเมือง เศรษฐกิจ และความมั่นคงของอิรักต้องเผชิญกับการทดสอบครั้งยิ่งใหญ่
สงครามที่ยืดเยื้อกว่า 7 ปีทำลายอิรักอย่างหนักหนาสาหัสสากรรจ์ สาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานของเมืองสำคัญๆ ในอิรักเสียหายย่อยยับไปพริบตา อารยธรรมริมฝั่งแม่น้ำสองสายที่เก่าแก่ถูกทำลายไปสิ้น ปัจจุบัน ปัจจัยการดำรงชีพพื้นฐานที่สุดในเรื่องน้ำดื่มและไฟฟ้าของประชาชนอิรักยังมีปัญหา ภาวะของมลพิษสูงมาก ปัญหาทางเศรษฐกิจและสังคม เช่น ค่าครองชีพสูง เงินเฟ้อ ตกงาน ความยากจน และผู้ลี้ภัย เป็นต้น ยังเป็นปัญหาที่ติดตัวประชาชนชาวอิรัก พร้อมกันนั้น สงครามยังสร้างบาดแผลทางใจที่ยากจะเยียวยา
สงครามทำให้เศรษฐกิจอิรักเกือบจะล่มสลายไป ในความเป็นจริง ความล้าหลังทางเศรษฐกิจของอิรักในปัจจุบันไม่คู่ควรกับความอุดมสมบูรณ์ทางทรัพยากรของอิรัก อิรักมีน้ำมันดิบที่ผ่านการสำรวจแล้วถึง 112,500 ล้านบาเรล นับเป็นประเทศที่มีน้ำมันดิบมากเป็นอันดับที่ 2 รองจากซาอุดิอารเบีย ส่วนแก๊สธรรมชาติที่ผ่านการสำรวจมาแล้วก็อยู่ใน 10 อันดับแรกของโลก แต่เนื่องจากได้รับผลกระทบจากสงคราม ทำให้อิรักส่งออกน้ำมันปิโตรเลียมวันละประมาณ 2 ล้านบาเรล เป็นเพียง 1 ใน 4 ของซาอุดิอารเบียเท่านั้น อิรักมีประชากรกว่า 30 ล้านคน มีเกือบ 1 ใน 4 ที่มีชีวิตอยู่ใต้เส้นความยากจน
สงครามยังทำให้การปะทะกันของฝ่ายต่างๆ ในอิรักรุนแรงขึ้น อิรักเผชิญกับสภาพการแตกแยก การปะทะกันระหว่างฝ่ายต่างๆ ซึ่งเป็นผลร้ายที่เกิดจากสงครามอิรักที่ก่อโดยสหรัฐฯ โดยตรง เป็นผลจากการยัดเยียดประชาธิปไตยแบบสหรัฐฯ ให้กับอิรัก โดยเฉพาะหลังการเลือกตั้งทั่วประเทศในอิรักเมื่อเดือนมีนาคมปีนี้ ฝ่ายต่างๆ มีข้อขัดแย้งเกี่ยวกับการจัดตั้งรัฐบาลผสมอย่างไม่หยุดยั้ง การเลือกตั้งทั่วไปผ่านไปกว่า 5 เดือนแล้ว แต่ยังไม่สามารถจัดตั้งรัฐบาลชุดใหม่ได้ การเจรจาเกี่ยวกับการจัดตั้งคณะรัฐมนตรีไม่มีความคืบหน้าเลย กระทั่งไม่สามารถจัดตั้งรัฐบาลใหม่ก่อนทหารสหรัฐฯ เสร็จสิ้นภาระกิจสู้รบอย่างเป็นทางการในวันที่ 31 สิงหาคมนี้ ซึ่งจะเป็นผลร้ายที่แอบแฝงอยู่ต่อกระบวนการทางการเมืองของอิรักในอนาคต
สำหรับการถอนกำลังทหารของสหรัฐฯ ในครั้งนี้ ประชาชนอิรักส่วนใหญ่เห็นว่าเป็นการกระทำที่ไม่รับผิดชอบอย่างยิ่ง บางคนกล่าวว่า สหรัฐฯ ไม่ได้ปฏิบัติตามคำมั่นสัญญาที่ให้ไว้เกี่ยวกับการถอนกำลังทหารออกจากอิรักอย่างมีความรับผิดชอบ สหรัฐฯ กล่าวว่าจะนำประชาธิปไตยและความเจริญรุ่งเรืองมาสู่อิรัก แต่ในความเป็นจริงแล้ว แม้กระทั่งความมั่นคงของอิรักก็ยังไม่มีหลักประกันให้ ยิ่งไม่ต้องพูดถึงการมีประชาธิปไตยและความเจริญรุ่งเรือง แต่ก็มีคนจำนวนไม่น้อยเห็นว่า การถอนกำลังทหารของสหรัฐฯ ครั้งนี้ จะทำให้ชาวอิรักได้เป็นตัวของตัวเอง หลังพ้นจากการคุมบังเหียนของทหารสหรัฐฯ แล้ว ประชาชนอิรักจะสามารถกำหนดชะตากรรมของตนเองได้
(NL/Min/Ping)