ครั้งนี้นับเป็นครั้งที่ 2 ที่นายบารัก โอบามากล่าวปราศรัยโดยตรงในทำเนียบขาว ส่วนการกล่าวคำปราศรัยครั้งแรกนั้นก็เพื่อรับมือกับเหตุการณ์น้ำมันรั่วไหลในอ่าวเม็กซิโก สื่อมวลชนเห็นว่า สถานการณ์ดังกล่าวแสดงให้เห็นว่า นายบารัก โอบามาให้ความสำคัญเป็นอย่างยิ่งต่อการที่กองทหารสหรัฐฯ สิ้นสุดปฏิบัติการสู้รบในอิรัก เพราะรัฐบาลโอบามาและโดยส่วนตัวมีความหวังมาโดยตลอดว่า จะกอบกู้ชื่อเสียงของรัฐบาลและพรรคเดโมแครตที่กำลังตกต่ำอยู่เรื่อยๆ ด้วยการประกาศสิ้นสุดปฏิบัติการสู้รบในอิรักของทหารสหรัฐฯ เพื่อให้บรรลุถึงการเพิ่มคะแนนนิยมทางการเมือง ซึ่งขณะนี้ ปฏิกิริยาจากฝ่ายต่าง ๆ ดูเหมือนจะทำให้ความปรารถนาของนายโอบามาเป็นจริง
ประการแรก นายบารัก โอบามาประกาศสิ้นสุดปฏิบัติการสู้รบในอิรักตามกำหนดการ แสดงให้เห็นถึงภาพพจน์ทางการเมืองของความเป็นคนที่ "ปฏิบัติตามคำมั่นสัญญา" ของเขา จากการสำรวจมติประชาปรากฏว่า ชาวสหรัฐฯ กว่า 70% แสดงความยินดีที่นายบารัก โอบามาประกาศถอนทหารสหรัฐฯ ออกจากอิรัก สำหรับเรื่องนี้ โอบามา "ได้ใจประชาชน" มาครองก่อนแล้ว
ประการที่สอง การสิ้นสุดปฏิบัติการสู้รบในอิรักจะช่วยให้สหรัฐฯ ประหยัดค่าใช้จ่ายจำนวนมหาศาล แหล่งข่าวแจ้งว่า เนื่องจากการนำพาประเทศกระโจนเข้าสู่สงครามอิรักและสงครามอัฟกานิสถาน ค่าใช้จ่ายในสงครามอิรักของสหรัฐฯ นับถึงวันที่ 19 สิงหาคม 2553 สูงถึง 742,300 ล้านเหรียญสหรัฐฯ มากเกินกว่าค่าใช้จ่ายในสงครามเวียดนามและสงครามเกาหลี ซึ่งเป็นภาระที่หนักอึ้งสำหรับเศรษฐกิจสหรัฐฯ ในขณะที่ปัจจุบัน สหรัฐฯ กำลังตกอยู่ในสภาพวิกฤตเศรษฐกิจที่ร้ายแรง และตัวเลขสีแดงทางการคลังพุ่งสูงอย่างไม่ลด การลดค่าใช้จ่ายในสงครามอิรัก จะทำให้สหรัฐฯ สามารถเอาเงินทุนไปลงในด้านการก่อสร้างสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน พัฒนาเศรษฐกิจและปรับปรุงสวัสดิการของรัฐให้ดีขึ้น สิ่งนี้นับเป็น "คะแนนนิยมด้านเศรษฐกิจ" ที่นายโอบามาได้รับ
ประการที่สาม การสิ้นสุดปฏิบัติการสู้รบในอิรักของทหารสหรัฐฯ จะทำให้สหรัฐฯสามารถรวบรวมกำลังทหารและทรัพย์สินในสนามรบของอัฟกานิสถาน เพื่อตระเตรียมเงื่อนไขที่เหมาะสมสำหรับการถอนทหารสหรัฐฯ จากอัฟกานิสถานในเดือนกรกฎาคมปีหน้า การนี้จะนับเป็นคะแนนทางการทหารที่นายโอบามาได้รับ
ประการที่สี่ ตั้งแต่ขึ้นดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ เป็นต้นมา นาย โอบามาได้กล่าวเน้นมาตลอดว่าจะปรับปรุงความสัมพันธ์กับประชาคมมุสลิม ปัจจุบัน นายโอบามาประกาศสิ้นสุดการสู้รบในอิรัก และ "ให้ชาวอิรักกุมโชคชะตาของตนของตน" ซึ่งนับเป็น "คะแนนทางการทูต" ที่นายโอบามาจะได้รับ
แต่ผู้เชี่ยวชาญที่เกี่ยวข้องชี้ให้เห็นว่า นายโอบามาควรรอให้ิอิรักจัดตั้งรัฐบาลผสมขึ้นก่อนแล้ว ค่อยประกาศสิ้นสุดปฏิบัติการสู้รบและถอนทหารออกจากอิรัก เพราะถ้าหากความขัดแย้งระหว่างฝ่ายต่าง ๆ ของอิรักรุนแรงขึ้น อิรักก็คงตกอยู่ในสงครามกลางเมืองอีกครั้ง ถึงเวลานั้น สหรัฐฯ จะรับมืออย่างไร นอกจากนั้น กลุ่มติดอาวุธของอิรักและองค์กรอัลเคด้าคงจะมีการเคลื่อนไหวเพื่อก่อการร้ายอีกครั้ง ถ้าหากสถานการณ์ของอิรักเลวร้ายลง การตัดสินใจเกี่ยวกับการถอนทหารสหรัฐฯ ออกจากอิรักของนายโอบามาก็จะถูกประณามว่าเป็นการกระทำที่ขาดความรอบคอบ
(NL/Lin)