วันที่ 1 กันยายนที่ผ่านมา นายโจ ไบเดน รองประธานาธิบดีสหรัฐฯกล่าวในพิธีเปลี่ยนหน้าที่กองทหารสหรัฐฯที่ฐานทัพทหารสหรัฐฯประจำอิรัก ซึ่งอยู่บริเวณท่าอากาศยานกรุงแบกแดดว่า กองทหารสหรัฐฯที่ประจำการต่อในอิรักจะให้การสนับสนุนแก่กองทหารอิรัก พร้อมทั้งช่วยต่อต้านการก่อการร้ายและรักษาความปลอดภัยของประชาชนอิรัก แต่นักวิเคราะห์เห็นว่า หลังจากกองทหารสหรัฐฯถอนตัวออกไปแล้ว สถานการณ์ความมั่นคงของอิรักน่ากังวลยิ่ง
ในพิธีเปลี่ยนหน้าที่ของกองทหารสหรัฐฯประจำอิรัก นายไบเดนกล่าวว่า สหรัฐฯได้ปฏิบัติตามคำสัญญาต่อประชาชนอิรัก โดยลดจำนวนทหารเหลือประมาณ 50,000 นาย เขายังให้คำมั่นสัญญาว่า จะปฏิบัติตามข้อตกลงเกี่ยวกับสถานภาพของทหารประจำการที่รัฐบาลสหรัฐฯกับอิรักลงนามเมื่อปี 2008 โดยจะถอนทหารสหรัฐฯทั้งหมดออกจากอิรักก่อนปลายปี 2011
ในช่วง 7 ปีที่ผ่านมาหลังจากเกิดสงครามอิรัก เหตุการณ์โจมตีอย่างรุนแรงเกิดขึ้นในอิรักอย่างต่อเนื่อง สถานการณ์ความมั่นคงมีความเลวร้ายลงอย่างมาก จนถึงปัจจุบัน สภาพความมั่นคงของอิรักยังต้องเผชิญกับการท้าทายต่อไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อกองทหารสหรัฐฯถอนตัวออกจากอิรักแล้ว เหตุโจมตีอย่างรุนแรงในท้องที่ต่างๆของอิรักก็ตามมา ซึ่งนับวันยิ่งร้ายแรงขึ้น
นักวิเคราะห์เห็นว่า การที่สถานการณ์ความมั่นคงในอิรักเลวร้ายลงมีสาเหตุสำคัญ 3 ประการ ประการแรก เนื่องจากในการเลือกตั้งทั่วไปของอิรักเมื่อเดือนมีนาคมปีนี้ไม่มีพรรคใดได้รับเสียงข้างมากในรัฐสภา พรรคต่าง ๆ จึงต้องจัดการเจรจาเพื่อจัดตั้งรัฐบาลชุดใหม่ แต่ฝ่ายต่าง ๆ มีข้อขัดแย้งมากมาย ทำให้กระบวนการเจรจาล่าช้าเป็นอย่างยิ่ง รัฐบาลชุดใหม่ของอิรักจึงไม่สามารถจัดตั้งขึ้นได้อย่างทันการณ์ อีกทั้งการที่กองทหารสหรัฐฯ ถอนตัวออกจากอิรักในขณะนี้ ยิ่งสร้างโอกาสให้กับกองกำลังติดอาวุธภายในอิรัก ประการที่สอง การปะทะทางศาสนาในอิรักก็ส่งผลกระทบในทางลบต่อความมั่นคงของอิรักอย่างหนัก ขณะนี้ พรรคการเมืองและองค์กรท้องถิ่นจำนวนไม่น้อยในอิรักมีกองกำลังอาวุธของตนเอง ถ้าข้อขัดแย้งทางศาสนามีความตึงเครียดมากขึ้น อาจทำให้ฝ่ายต่างๆ เกิดการปะทะด้วยกำลังอาวุธ ซึ่งจะทำลายเสถียรภาพของอิรักอย่างหนัก ประการที่สาม ความมั่นคงของอิรักยังต้องได้รับผลกระทบจากประเทศรอบข้าง ประเทศฝ่ายสุหนี่ที่อยู่รอบข้างอิรักบางประเทศกังวลว่า อิรักซึ่งเป็นประเทศที่ปกครองด้วยอำนาจของฝ่ายชีอะห์นับวันเข้มแข็งเกรียงไกรมากขึ้น จึงให้การสนับสนุนฝ่ายสุหนี่ในอิรักอย่างลับๆ
ในอีกด้านหนึ่ง หลังจากกองทหารสหรัฐฯ ถอนตัวออกจากอิรักแล้ว กองทหารอิรักสามารถแบกรับภารกิจในการรักษาความสงบได้หรือไม่ ยังเป็นปัญหาที่ต้องติดตามต่อไป กองทหารอิรักไม่เพียงแต่เพิ่งจัดตั้งขึ้นไม่นาน ยุทโธปกรณ์ก็ค่อนข้างล้าสมัย ทั้งขาดแคลนกำลังรบและประสบการณ์ ดังนั้น สำหรับกองทหารอิรัก การแบกรับภารกิจด้านรักษาความมั่นคงและป้องกันประเทศอย่างแท้จริงยังต้องใช้เวลาอีกนาน
นักวิเคราะห์ชี้ให้เห็นว่า หลังจากกองทหารสหรัฐฯ ถอนออกจากอิรักแล้ว เรื่องที่จะต้องทำอย่างเร่งด่วนประการแรกก็คือ พรรคการเมืองฝ่ายต่างๆต้องขจัดความขัดแย้งและจัดตั้งรัฐบาลชุดใหม่โดยเร็ว มิฉะนั้น การฟื้นฟูอิรักในทุกด้านก็ไม่สามารถดำเนินการได้อย่างราบรื่น สถานการณ์ความมั่นคงก็จะเลวร้ายลงอีก ทำให้กองทหารสหรัฐฯ มีข้ออ้างที่จะจัดวางกำลังทหารในอิรักอีกครั้ง ทำให้อิรักตกอยู่ในการควบคุมของสหรัฐฯตลอดไป ซึ่งเป็นการคุกคามอธิปไตยของอิรักและเสรีภาพของประชาชนอิรักอย่างหนัก
NL/Min/Sun