สถานีวิทยุซีอาร์ไอรายงานว่า เมื่อวันที่ 5 ตุลาคมที่ผ่านมา ผู้แทนจากประเทศภาคีอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ 194 ประเทศ ประเทศผู้สังเกตการณ์ องค์กรที่เกี่ยวข้องของสหประชาชาติ องค์กรภาครัฐ และองค์กรเอ็นจีโอประมาณ 3,000 คนได้ร่วมกันอภิปรายในระดับลึกเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศโลก ในที่ประชุมว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศของสหประชาชาติที่เมืองเทียนจิน นายซู เหว่ย หัวหน้าคณะผู้แทน ในฐานะอธิบดีกรมสภาพภูมิอากาศของคณะกรรมการการพัฒนาและปฏิรูปแห่งชาติจีนกล่าวว่า ถึงแม้ว่าขณะนี้ฝ่ายต่างๆ ยังคงมีข้อขัดแย้งกันมาก แต่อย่างไรก็ตาม การประชุมที่เมืองเทียนจินครั้งนี้จะต้องตกลงกันในประเด็นที่จะพูดคุยในที่ประชุมที่เมืองแคนคูน ซึ่งจะจัดขึ้นก่อนสิ้นปีนี้ และจะต้องพยายามขับเคลื่อนให้การประชุมว่าด้วยสภาพภูมิอากาศที่เมืองแคนคูนประสบความคืบหน้าครั้งใหม่
นายซู เหว่ย ให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าวว่า
"ภารกิจหลักของการประชุมที่เมืองเทียนจินคือ การบรรลุข้อตกลงที่สะท้อนให้เห็นถึงผลคืบหน้าของโรดแมพบาหลีอย่างรอบด้านและได้สมดุล เพื่อเป็นการเตรียมการให้กับการประชุมที่เมืองแคนคูน และแน่นอน การบรรลุข้อตกลงเช่นนี้มีความสลับซับซ้อนมาก เพราะว่า สิ่งที่ฝ่ายต่างๆให้ความสนใจมีความแตกต่างกันไป"
ในการประชุมที่บาหลีเมื่อปี 2007 ประเทศที่พัฒนาแล้วรับปากว่า จะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และจะให้ความช่วยเหลือด้านเงินทุนและเทคโนโลยีแก่ประเทศที่กำลังพัฒนา ส่วนในการประชุมที่โคเปนเฮเกนเมื่อปลายปีที่แล้ว ประเทศที่พัฒนาแล้วรับปากอีกครั้งว่า ในช่วงปี 2010-2012 จะระดมเงินทุนปีละ 30,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพื่อนำมาช่วยเหลือประเทศที่กำลังพัฒนาในการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ แต่ขณะนี้ เรื่องเงินทุนและการถ่ายทอดเทคโนโลยีกลับกลายเป็นข้อขัดแย้งสำคัญระหว่างประเทศที่กำลังพัฒนากับประเทศที่พัฒนาแล้ว นายซู เหว่ยกล่าวว่า
"ประเทศที่พัฒนาแล้วจะระดมเงินทุน 30,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐให้กับประเทศที่กำลังพัฒนาหรือไม่นั้น จะเป็นเครื่องหมายสำคัญที่สะท้อนให้เห็นว่า การประชุมที่เมืองแคนคูนจะประสบผลคืบหน้าครั้งใหม่หรือไม่ อีกทั้งเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดความเชื่อถือระหว่างกันระหว่างประเทศที่กำลังพัฒนากับประเทศที่พัฒนาแล้ว จีนหวังว่า การประชุมที่เมืองแคนคูนจะสามารถทำแผนปฏิบัติการเกี่ยวกับการระดมทุน 30,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐออกมาได้"
เนื่องจากการประชุมที่เมืองเทียนจินเป็นการประชุมเกี่ยวกับสภาพภูมิอากาศครั้งสุดท้ายก่อนจะมีการจัดการประชุมที่เมืองแคนคูน ดังนั้น การประชุมครั้งนี้จะประสบความคืบหน้าในเรื่องเงินทุนและเทคโนโลยีหรือไม่นั้น จึงมีผลกระทบอย่างมากต่อการดำเนินการประชุมที่เมืองแคนคูน นายซู เหว่ยกล่าวว่า
"เรื่องเงินทุนและการถ่ายทอดเทคโนโลยีน่าจะไม่มีปัญหา ส่วนด้านการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ การปลูกป่าไม้ และการเสริมการดูแลป่าไม้เพื่อบรรลุเป้าหมายในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกนั้น ก็อาจจะมีความเห็นพ้องกันบ้าง ขอแต่เพียงให้ประเทศที่พัฒนาแล้วมีความจริงใจที่จะให้มีผลคืบหน้าครั้งใหม่ในเรื่องเหล่านี้ ข้าพเจ้าเห็นว่า การประชุมที่เมืองเทียนจินจะสามารถบรรลุเป้าหมายที่กำหนดไว้ได้อย่างแน่นอน"
(Nl/cai)