ในงานแสดงสินค้าจีน-อาเซียนครั้งที่ 7 ที่กำลังจัดขึ้นที่เมืองหนานหนิง เขตปกครองตนเองชนเผ่าจ้วงกวางสี นักธุรกิจ นักวิชาการ และเจ้าหน้าที่รัฐบาลจากจีนและ 10 ประเทศอาเซียนต่างแสดงความคิดเห็นว่า การเร่งให้มีการค้าขายด้วยสกุลเงินหยวนกับสกุลเงินอาเซียนจะส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจของเขตการค้าเสรีจีน-อาเซียน และทำให้ความร่วมมือทางการเงินของสองฝ่ายลงลึกยิ่งขึ้น
นายพัม กวงวู(Pham Quang Vu) ผู้จัดการใหญ่บริษัทผลิตกาแฟที่มีชื่อเสียงแห่งหนึ่งของเวียดนาม และได้เข้าร่วมงานแสดงสินค้าจีน-อาเซียนทั้ง 7 ครั้ง เขาสนับสนุนให้ชำระการค้าระหว่างกันด้วยเงินหยวนกับเงินด่องของเวียดนาม เขากล่าวว่า "ขณะนี้เราค้าขายกันด้วยเงินดอลล่าร์สหรัฐฯกับเงินหยวน แต่ความไม่มั่นคงของดอลล่าร์สหรัฐฯทำให้กระทบต่อผลกำไรของบริษัท ผมจึงหวังว่า อีกไม่นาน จะค้าขายกันด้วยเงินยวนกับด่อง"
งานแสดงสินค้าจีน-อาเซียนครั้งนี้ เป็นงาน ฯ ครั้งแรกหลังจากเขตการค้าเสรีจีน-อาเซียนเปิดตัวอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 1 มกรคม 2553 ช่วงเดือนมกราคมถึงกันยายนปีนี้ ยอดการค้าระหว่างจีนกับอาเซียนมีจำนวน 211,300 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 44 เมื่อเทียบกับระยะเดียวกันปีที่แล้ว ส่วนงานแสดงสินค้าครั้งนี้ ได้ดึงดูดวิสาหกิจทั้งจีนและต่างประเทศกว่า 2,000 รายเข้าร่วม โดยจองบูธทั้งหมด 4,600 บูธ
นายหลี่ ตุงหรง ผู้ช่วยผู้ว่าการธนาคารกลางจีนระบุในที่ประชุมสุดยอดว่าด้วยการพัฒนาและความร่วมมือจีน-อาเซียนครั้งที่ 2 ซึ่งจัดขึ้นในช่วงเปิดงานฯ ครั้งนี้ว่า การเปิดตัวของเขตการค้าเสรีจีน-อาเซียนไม่เพียงแต่ปูพื้นฐานอันมั่นคงให้กับความร่วมมือทางการเงินในภูมิภาคนี้เท่านั้น หากยังสนองความต้องการที่จำเป็นอย่างครบวงจรและหลายระดับเพื่อเร่งความร่วมมือทางการเงินภายในภูมิภาคนี้ด้วย กล่าวได้ว่า ความร่วมมือทางการค้าระหว่างจีนกับอาเซียนมีอนาคตที่กว้างไกล
นายหลี่ ตุงหรงกล่าวว่า "การชำระการค้าระหว่างประเทศด้วยเงินหยวนมีความคึกคักมากขึ้นทุกวัน เครือข่ายที่เป็นตัวแทนที่รับชำระการค้าด้วยเงินหยวนของธนาคารก็เพิ่มมากขึ้น ทั้งนี้ได้ส่่งเสริมให้วิสาหกิจมีปริมาณการค้าและการลงทุนเพิ่มมากขึ้น กระตุ้นให้ความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจและการค้าระหว่างจีนกับอาเซียนพัฒนาในระดับสูงยิ่งขึ้น"
เมื่อเดือนกรกฏาคม 2552 จีนได้ประกาศให้ เซี่ยงไฮ้ และอีก 4 เมืองในมณฑลกวางตุ้ง ได้แก่ กวางโจว เซินเจิ้น จูไห่ และตงก่วน เป็นเมืองนำร่องชำระการค้ากับฮ่องกง มาเก๊าและประเทศในอาเซียน ด้วยเงินหยวน เดือนมิถุนายน 2553 ได้ขยายเพิ่มขึ้นอีกหลายพื้นที่โดยขยายไปถึงบางเมืองใน 18 มณฑล เขตปกครองตนเองและนคร ตลอดจนทุกพื้นที่ของมณฑลกวางตุ้งแล้ว จนถึงปลายเดือนกันยายนนี้ ธนาคารต่างๆที่ร่วมนำร่องให้บริการชำระการค้าระหว่างประเทศด้วยเงินหยวนมีวงเงินรวมกันถึง 197,100 ล้านหยวน เพียงกวางสีที่เดียว ก็มียอดการทำธุรกรรมนี้ถึง 5,000 ล้านหยวน ซึ่งวิสาหกิจร้อยละ90 ตั้งอยู่ในประเทศอาเซียน
นายโนโรดม เสรีวุธ ผู้อำนวยการสถาบันเพื่อสันติภาพและความร่วมมือของกัมพูชากล่าวว่า ไม่ว่าประเทศไหนก็ตาม เมื่อปฏิรูปกลไกแลกเปลี่ยนเงินตรา ควรยึดหลักให้เศรษฐกิจมีความมั่นคงเป็นที่ตั้ง การปฎิรูปกลไกกำหนดอัตราแลกเปลี่ยนของเงินหยวนก็ต้องพิจารณาอุปทานและอุปสงค์ของตลาดเป็นที่ตั้ง เพิ่มความยืดหยุ่นอัตราแลกเปลี่ยนเงินหยวน ให้อัตราแลกเปลี่ยนเงินหยวนมีความมั่งคงในระดับพอสมควร