โจว ซู่เซิน หัวหน้าโค้ชทีมปิงปองหญิงสิงคโปร์
เมื่อการกีฬามีความเป็นแบบสากลมากยิ่งขึ้น การหมุนเวียนของครูผู้ฝึกสอน หรือ โค้ช ระหว่างประเทศต่างๆ ก็นับวันมากขึ้น นับวันมีโค้ชจีนเดินทางไปฝึกสอนในต่างประเทศมากขึ้น ดังที่เห็นได้ชัดจากกีฬาโอลิมปิก ณ กรุงปักกิ่งเมื่อ 2 ปีก่อน คือ โค้ชของทีมชาติหลายประเทศที่เป็นชาวจีน เช่น หลาง ผิง โค้ชทีมวอลเลย์บอลหญิงสหรัฐอเมริกา หลิว กั๋วต้ง โค้ชทีมปิงปองหญิงสิงคโปร์ เฉียว เหลียง โค้ชทีมยิมนาสติกสหรัฐอเมริกา ฯลฯ สำหรับการแข่งขันกีฬาเอเชียนเกมส์กว่างโจว ครั้งนี้ ก็เห็นใบหน้าโค้ชจีนที่นำทีมชาติต่างๆ มาลงแข่งขันไม่น้อยเช่นกัน
โจว ซู่เซิน ชาวจีนวัย 69 ปี เป็นหัวหน้าโค้ชทีมปิงปองหญิงสิงคโปร์ ผู้คนมักจะเห็นเขาในสนามกีฬากว่างโจว ซึ่งเป็นสถานที่จัดการแข่งขันปิงปองในการแข่งขันเอเชียนเกมส์กว่างโจว โดยเขาเป็นผู้ให้การชี้แนะแก่ลูกศิษย์ทั้งในการฝึกซ้อมและการแข่งขันอย่างไม่รู้สึกย่อท้อ เขาเล่าว่า
"ผมอยากพิสูจน์คำพังเพยที่ว่า คนเราอายุถึง 70 ปีก็หาพบได้ยาก ขณะนี้ความสามารถยังพออำนวยให้ ปากยังพูดได้ สมองยังคิดได้ หากเลิกทำเสีย ก็จะขาดความสุขทางใจ การเป็นโค้ชนี้นับว่าดี ได้ออกกำลังกายทุกวัน ช่วงเช้าตื่นกว่า 6 โมง และเริ่มฝึกเวลา 8 โมง"
หลิว กั๋วต้ง หัวหน้าโค้ชทีมปิงปองหญิงสิงคโปร์ ปี 2006-2009
ก่อนนี้โจว ซู่เซินเคยเป็นโค้ชของทีมปิงปองจีนและทีมปิงปองกรุงปักกิ่งตามลำดับ เคยนำทีมคว้าแชมป์ระดับโลกมาแล้วหลายครั้ง อีกทั้งฝึกสอนนักปิงปองยอดเยี่ยมระดับโลกจำนวนมาก เช่น จาง อี่หนิง หลี่ เจียเวย และ กัว เอี๋ยน เมื่อปี 2009 เขาเข้าดำรงตำแหน่งหัวหน้าโค้ชทีมปิงปองหญิงสิงคโปร์ตามคำเชิญของสมาคมปิงปองสิงคโปร์ ต่อจาก หลิว กั๋วต้ง หัวหน้าโค้ชผู้ซึ่งมีชื่อเสียงคนก่อน ซึ่งก็มาจากจีนเช่นกัน
หลี่ เจียเวย นักปิงปอง ทีมสิงคโปร์
เมื่อลองนับนิ้วมือดูแล้ว โค้ชจีนที่สอนให้กับทีมต่างชาติในการแข่งขันเอเชียนเกมส์กว่างโจวครั้งนี้มีเกือบ 20 คน พวกเขาได้นำประสบการณ์ วัฒนธรรมและมิตรภาพไปเผยแพร่ให้กับนักกีฬาต่างชาติ เมื่อทบทวนถึงประวัติศาสตร์ในด้านนี้คงต้องมองย้อนกลับไปในช่วงทศวรรษปี 1950 คือ เมื่อปี 1957 จีนจัดส่งผู้ฝึกสอนกีฬาคณะแรกในประวัติศาสตร์จีนสู่เวียดนาม นับเป็นการเปิดฉากโครงการจัดส่งโค้ชไปช่วยสอนที่ต่างประเทศของสาธารณรัฐประชาชนจีน ช่วง 53 ปีมานี้ จีนได้จัดส่งเจ้าหน้าที่โค้ชใน 38 ประเภทกีฬาไปยัง 124 ประเทศและภูมิภาคทั่วโลก รวมกว่า 2,600 คน นักกีฬาประเทศต่างๆ ที่ผ่านการฝึกอบรมจากโค้ชจีนเหล่านี้ล้วนมีความสามารถเก่งขึ้นอย่างเห็นได้ชัด โค้ชจีนที่ไปช่วยสอนในนานาประเทศเหล่านี้ได้รับการยกย่องว่าเป็น "ทูตมิตรภาพ" ในขณะทำการฝึกสอนนั้น ก็ได้ถ่ายทอดวัฒนธรรมจีนไปด้วย จนกลายเป็นสะพานแห่งการแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรม
ซุน เจี้ยนหมิง โค้ชวูซูจีน ทีมญี่ปุ่น
ซุน เจี้ยนหมิง โค้ชวูซูจีนที่สอนให้ทีมญี่ปุ่นมีความรู้สึกลึกซึ้งว่า
"เพราะว่าสิ่งที่ผมทำนั้นคือถ่ายทอดวูซูของจีน รวมถึงวัฒนธรรมจีน งานที่ผมทำ และการเปลี่ยนแปลงที่ผมเห็นนั้น ทำให้ผมรู้สึกว่า สิ่งที่คนรุ่นเราเสียสละไปนั้นมีความคุ้มค่ามาก"
(Ton/LING)