สถานีวิทยุซีอาร์ไอรายงานว่า เมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายนนี้ การประชุมสมัชชาภาคีอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ครั้งที่ 16 และการประชุมสมัชชาภาคีพิธีสารเกียวโตครั้งที่ 6 เปิดฉากที่เมืองแคนคูน ประเทศเม็กซิโก ระหว่างการประชุมที่เป็นไปเป็นเวลา 12 วัน ทุกฝ่ายจะปรึกษาหารือในประเด็นเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศต่อไป เนื่องจากมีข้อขัดแย้งระหว่างประเทศกำลังพัฒนาและประเทศพัฒนาอย่างมาก ทุกฝ่ายจึงไม่สู้จะมั่นใจมากนักต่อการบรรลุข้อตกลงที่มีข้อผูกมัดตามกฎหมายจากประชุมครั้งนี้
นาย คาเดอรอน ประธานาธิบดีเม็กซิโกกล่าวคำปราศรัยในพิธีเปิดประชุมว่า ภัยพิบัติที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศนับวันทวีความรุนแรงขึ้น และได้คุกคามถึงการอยู่รอดของมนุษย์ด้วย เขาจึงเสนอข้อคิดว่า การจัดประชุมว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศซึ่งเปิดฉากที่เมืองแคนคูนนั้นเป็นการสะท้อนภาระหน้าที่ของมนุษย์ ทุกประเด็นที่หารือในที่ประชุมนัดนี้ล้วนเกี่ยวพันกับชีวิตความเป็นอยู่ของทุกคนอย่างใกล้ชิด จากนั้น นางปาตรีเซีย เอสปีโนซ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศเม็กซิโกกล่าวว่า ถึงเวลาแล้วที่ทุกฝ่ายจะต้องใช้ความพยายามร่วมกัน ขอแต่ทุกฝ่ายร่วมกันขับเคลื่อนการประชุมครั้งนี้ให้บังเกิดผลคืบหน้า จึงจะสามารถประสบความสำเร็จที่แท้จริงได้ ขณะที่นางคริสเตียนา ฟิเกเรส(Christiana Figueres)เลขาธิการสำนักงานอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเรียกร้องทุกฝ่ายที่เข้าร่วมการเจรจาให้ประนีประนอมกัน ประสานจุดยืนที่แตกต่างกัน แสวงหาหนทางในการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
การประชุมนัดนี้แบ่งออกเป็นสองช่วง ช่วงแรกเป็นการประชุมทีมงาน "สนธิสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ" และ "พิธีสารเกียวโต" ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 29 พฤศจิกายน – 7 ธันวาคมนี้ และช่วง 2 เป็นการประชุมสมัชชาภาคีอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และการประชุมสมัชชาภาคีพิธีสารเกียวโตซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 8 -10 ธันวาคมนี้ การประชุมนัดนี้นับว่าเป็นการประชุมระหว่างประเทศที่สำคัญยิ่งครั้งหนึ่ง ซึ่งมีบทบาทมากต่อการส่งเสริมการปฏิบัติตามโรดแมปบาหลี หลังการประชุมที่โคเปนเฮเกน ซึ่งที่ประชุมโคเปนเฮเกนเพียงได้บรรลุข้อตกลงที่ไม่มีความผูกพันทางกฎหมายเท่านั้น ทุกฝ่ายจึงฝากความหวังไว้อย่างมากกับการประชุมที่แคนคูน อย่างไรก็ตาม การประชุมว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่จัดขึ้นที่กรุงบอนน์ของเยอรมัน และนครเทียนจินของจีน 4 ครั้งในปีนี้ล้วนไม่ได้ประสบผลคืบหน้าที่เด่นชัด ทำให้ทุกฝ่ายไม่สู้จะมั่นใจนักต่อการบรรลุข้อตกลงที่มีความผูกพันทางกฎหมายจากการประชุมที่แคนคูน จึงหวังเพียงให้ประสบผลคืบหน้าในด้านการช่วยเหลือทางการเงิน การสนับสนุนทางเทคโนโลยี และการอนุรักษ์ป่าไม้ พร้อมทั้งหวังให้ที่ประชุมครั้งนี้จะสามารถปูพื้นฐานที่ดีสำหรับการประชุมว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่ประเทศแอฟริกาใต้ซึ่งจะจัดขึ้นในปี 2011
เจ้าหน้าที่ ผู้เชี่ยวชาญ นักวิชาการ และผู้แทนเอ็นจีโอจากประมาณ 200 ประเทศและเขตแคว้นได้เข้าร่วมประชุมครั้งนี้ คณะผู้แทนจีนที่มีนายเซี่ยเจิ้งหวา รองประธานคณะกรรมการการพัฒนาและปฏิรูปแห่งชาติจีนเป็นหัวหน้าคณะก็ได้เข้าร่วมการประชุมครั้งนี้
(IN/cai)