เมื่อวันที่ 6 ธันวาคมที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่ระดับรัฐมนตรีสี่ประเทศคือ จีน บราซิล อินเดียและแอฟริกาใต้ ที่อยู่ระหว่างการเข้าร่วมการประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่เมืองแคนคูนเน้นว่า ต้องปฏิบัติตาม "พิธีสารเกียวโต" ต่อไป
เจ้าหน้าที่ระดับรัฐมนตรีสี่ประเทศดังกล่าวจัดประชุมแถลงข่าวเมื่อวันที่ 6 ธันวาคมที่ผ่านมา เพื่อยืนยันจุดยืนพื้นฐานของสี่ประเทศดังกล่าวตลอดจนประเทศกำลังพัฒนาอื่นๆ นายไจราม ราเมศ (Jairam Ramesh )รัฐมนตรีกระทรวงสิ่งแวดล้อมและการป่าไม้ของอินเดียกล่าวคำปราศรัยว่า การประชุมแคนนูครั้งนี้ มีสามปัญหาที่รอมชอมไม่ได้ เขาชี้ว่า
"เราสี่ประเทศมีความเห็นว่า ปัญหาสามประการดังต่อไปนี้ไม่อาจรอมชอมได้ หนึ่ง) ต้องแสดงให้ชัดแจ้งว่า จะปฏิบัติตามพันธกรณีระยะที่สองของพิธีสารเกียวโตต่อไป สอง) เร่งให้ประเทศพัฒนาเสนอเงินช่วยเหลือแก่ประเทศกำลังพัฒนาตามคำมั่นสัญญาที่ให้ไว้โดยเร็ว และสาม) สร้างระบบความร่วมมือทางเทคโนโลยี
นายเซี่ย เจิ้นหวา รองผู้อำนวยการคณะกรรมการปฏิรูปและพัฒนาแห่งชาติจีนในฐานะหัวหน้าคณะผู้แทนจีนกล่าวว่า เห็นด้วยกับข้อคิดเห็นของนายไจราม ราเมศดังกล่าว
"ประการแรก ต้องปฏิบัติตามพิธีสารเกียวโตอย่างแน่วแน่ ประการที่สอง ต้องปฏิบัติตามพันธกรณีระยะที่สองของพิธีสารเกียวโตต่อไป สำหรับปัญหาเรื่องการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ต้องปฏิบัติตามพิธีสารเกียวโตควบคู่ไปกับการปฏิบัติตาม"อนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ"( United Nations Framework
Convention on Climate Change หรือ UNFCCC ) หมายความว่า ประเทศที่เข้าร่วมพิธีสารเกียวโต ต้องให้คำมั่นสัญญาตามพันธกรณีระยะที่สองของพิธีสารเกียวโตด้วย
ส่วนประเทศที่ไม่ได้เข้าร่วมพิธีสารเกียวโตควรให้คำมั่นสัญญาในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกตามข้อกำหนดของโรดแมปบาหลีภายในกรอบ "อนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ"
นายเซี่ย เจิ้นหวา กล่าวว่า พิธีสารเกียวโตเคยแสดงบทบาทสำคัญมาแล้ว โดยต้องปรับปรุงให้สมบูรณยิ่งขึ้น เพื่อให้เกิดประโยชน์มากยิ่งขึ้น
นายไจราม ราเมศยังชี้ว่า สหรัฐอเมริกาในฐานะเป็นประเทศที่ปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์อันดับที่สองของโลก แต่จนถึงขณะนี้ ความพยายามในการลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ของสหรัฐอเมริกาทำให้ผู้คนผิดหวัง เพราะว่า หากสหรัฐอเมริกาไม่เข้าร่วม ความพยายามของนานาประเทศก็จะไม่สมบูรณ์ เขากล่าวว่า
"ไม่ว่าด้วยเหตุอะไรก็ตาม เรารู้สึกผิดหวังมากต่อเป้าหมายถึงปี 2020ของสหรัฐอเมริกาในการลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ เพราะว่า เป้าหมายระยะกลางมีความสำคัญมาก สี่ประเทศเราเห็นว่า ควรให้สหรัฐอเมริกากลับสู่ช่องทางการเจรจาสิ่งแวดล้อมของโลก เราหวังว่า สหรัฐอเมริกาจะปฏิบัติตามคำมั่นสัญญาในการลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์และรีบดำเนินโครงการให้เงินช่วยเหลือแก่ประเทศกำลังพัฒนาโดยเร็วที่สุด"
NL/QI