"การเติบโตทางเศรษฐกิจของจีนจนถึงปัจจุบันยังไม่ค่อยมีเสถียรภาพนัก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การเกิดภาวะดำดิ่งของการเติบโตทางเศรษฐกิจอันเนื่องจากใช้นโยบายการเงินที่รัดเข็มขัดในระดับหนึ่งเพื่อควบคุมเงินเฟ้อและควบคุมกิจการอสังหาริมทรัพย์ เช่น อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจในไตรมาสที่ 3 ปรับลดลงมาอยู่ที่ร้อยละ 9.6 หากไม่ระมัดระวัง ก็อาจจะตกดิ่งลงมาอยู่ที่ระดับที่ต่ำกว่าอัตราปกติได้ ฉะนั้น การเติบโตทางเศรษฐกิจจึงยังคงจัดเป็นภารกิจที่สำคัญตลอดปีหน้า พร้อมกันนี้ก็ควรจัดการความสัมพันธ์ระหว่างการส่งเสริมการเติบโตกับการบริหารเงินเฟ้อให้ดี โดยจุดหลักอยู่ที่การพยุงเศรษฐกิจให้เติบโตอย่างคงที่ และจุดรองอยู่ที่การบริหารเงินเฟ้อให้สอดรับการเติบโตทางเศรษฐกิจ"
นายหยวน กังหมิงระบุว่า สาเหตุที่การประชุมฯ ใช้ถ้อยคำที่ว่า "การบริหารจัดการการคาดการณ์เงินเฟ้อ" แทนที่จะใช้คำว่า "การควบคุมเงินเฟ้อ" ก็เพราะว่า "การบริหารจัดการเงินเฟ้อ" เป็นการป้องกันล่วงหน้าแบบล้อมคอกก่อนวัวหาย ยังไม่ถึงขั้นที่ต้องรับมืออย่างเต็มกำลังความสามารถ
ก่อนหน้านี้ในที่ประชุมกรมการเมืองคณะกรรมการกลางพรรคคอมมิวนิสต์จีนได้กำหนดเป็นครั้งแรกว่า "ในปีหน้าจีนจะเปลี่ยนมาใช้นโยบายการเงินที่ 'สุขุม' จากเดิมที่ 'ผ่อนปรนในระดับที่เหมาะสม' " ส่วนการประชุมว่าด้วยงานด้านเศรษฐกิจส่วนกลางก็ได้ตอกย้ำนโยบายดังกล่าวอีกครั้ง พร้อมตอกย้ำว่าต้อง "ยึดตามหลักการใช้ความสุขุมโดยรวม การปรับอย่างมีขีดจำกัด และการปรับโครงสร้างให้สมบูรณ์ขึ้น ยึดกุมสภาพคล่องซึ่งเปรียบเสมือนประตูน้ำบานใหญ่ให้ลงตัว โดยปล่อยสินเชื่อไปยังเศรษฐกิจหลักมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง 'การเกษตร พื้นที่ชนบท เกษตรกร' รวมถึงธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม" สำหรับการนี้ นายหยวน กังหมิงให้การวิเคราะห์ว่า การเปลี่ยนนโยบายทางการเงินโดยหลักมีภูมิหลัง 2 ประการดังต่อไปนี้
"หนึ่งคือ ขณะนี้วิกฤตการเงินผ่านพ้นไปในระดับหนึ่งแล้ว หากใช้นโยบายการเงินที่ผ่อนปรนต่อไปก็จะเกิดภาวะปริมาณเงินหมุนเวียนมากเกินควร ซึ่งเป็นความเสี่ยงอย่างหนึ่ง ด้วยเหตุนี้ เมื่อเศรษฐกิจฟื้นตัวเป็นปกติแล้ว นโยบายการเงินซึ่งเคยผ่อนปรนเพื่อรับมือกับภาวะฉุกเฉิน ก็ควรกลับคืนสู่ภาวะปกติเช่นกัน และสอง ภายใต้นโยบายการเงินที่ผ่อนปรนก็ทำให้เกิดภาวะราคาสินค้าพุ่งสูงขึ้น และเพื่อรับมือกับภาวะราคาสินค้าพุ่งสูงขึ้นได้ดียิ่งขึ้น ก็ควรใช้นโยบายการเงินที่รัดเข็มขัดเช่นกัน สรุปแล้ว สองปัจจัยดังกล่าวเป็นตัวชี้ขาดว่า นโยบายการเงินจำต้องปรับจากภาวะที่ผ่อนปรนมาเป็นภาวะปกติ จึงจะสามารถป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาใหม่ๆ ได้"
(NL/LING)