ในโลกนี้ ยังมีวัฒนธรรมที่ไหนอีกที่สามารถระดมผู้คนจำนวนมหาศาลขนาดนี้ ให้พากันเดินทางกลับบ้านได้ หากจะเปรียบไป ตรุษจีน หรือชุนเจี๋ย เทศกาลฤดูใบไม้ผลิ ก็คล้ายกับคริสต์มาสของฝรั่ง และสงกรานต์ของคนไทย ที่สมาชิกทุกคนในครอบครัว ไม่ว่าจะอยู่แห่งหนตำบลใดต่างก็มุ่งหน้ากลับบ้านเพื่อไปอยู่พร้อมหน้าพร้อมตากับครอบครัว
ในด้านมิติทางวัฒนธรรม การเดินทางกลับบ้านในเทศกาลสำคัญ เป็นการสืบทอดธรรมเนียมปฏิบัติเก่าแก่ของชาวจีน ที่ให้ความสำคัญกับ "ครอบครัว" และผูกพันกับ "บ้าน" ยิ่งกว่าสิ่งอื่นใด
คนจีนมีความเชื่อว่า ชีวิตคนก็เหมือนต้นไม้ เติบโตสูงใหญ่ไม่สำคัญเท่ารากหยั่งลึกยาวไกล คนที่หลงลืมบรรพบุรุษ ก็เหมือนต้นไม้ไร้ราก ยากที่จะเจริญเติบโตงอกงาม การกลับบ้านพร้อมหน้ากับครอบครัวในเทศกาลตรุษจีนนี้ สะท้อนความรักความผูกพันของครอบครัว ซึ่งเป็นรากฐานของชีวิต
ตั้งแต่ก่อนตรุษจีนสัก 20 กว่าวัน หลายคนพากันพูดแต่เรื่องว่าจะหาซื้อตั๋วกลับบ้านได้อย่างไร ซึ่งทั้งคนต่างถิ่นที่เข้ามาทำงานในเมือง นักเรียนนักศึกษา และผู้ที่มาทำธุรกิจก่อร่างสร้างตัวและจากบ้านมาไกล ล้วนสนใจเรื่องการเดินทางกลับบ้าน รวมกันแล้วมีจำนวนนับร้อยๆ ล้านคน เรียกเป็น"มหกรรมการเดินทางกลับบ้าน"ก็ได้
การเดินทางไปต่างถิ่นในประเทศจีน พาหนะที่นิยมที่สุดคือ รถไฟเพราะทั้งปลอดภัย สะดวกสบายและราคาย่อมเยาที่สุด เนื่องจากประเทศจีนมีพื้นที่กว้างใหญ่ไพศาล ใกล้เคียงกับสหรัฐอเมริกา มีขนาดประมาณ 19 เท่าของประเทศไทย การเดินทางไปไกลๆ ค่าเครื่องบินจะแพงมาก เช่น ตั๋วเครื่องบินไปกลับกรุงปักกิ่งกับเมืองเซินเจิ้นของมณฑลกว่างตง อยู่ที่ 3,500 หยวน ประมาณ 17,500 บาท นับว่าแพงมาก แต่หากไปรถไฟ ตั๋วรถไฟตู้นอนไปกลับเพียง 904 หยวนเท่านั้นหรือประมาณ 4,520 บาท
รถไฟถูกกว่ามาก หากเป็นตั๋วนั่งราคายิ่งถูก ไปกลับเพียง 514 หยวนเท่านั้น แต่ว่า ต้องเสียเวลานานกว่า เครื่องบินที่บินเพียง 3 ชั่วโมงครึ่ง แต่รถไฟต้องวิ่งประมาณ 33 ชั่วโมง ซึ่งเป็นความเร็วของรถไฟธรรมดา เพราะว่า ขณะนี้ยังไม่มีทางรถไฟความเร็วสูงไปกลับกรุงปักกิ่งกับเมืองเซินเจิ้น หากไม่รีบร้อน นอนบนรถไฟก็ประหยัดค่าโรงแรมด้วย รถไฟจึงเป็นทางเลือกที่ดีสำหรับผู้คนโดยทั่วไป
แต่บางพื้นที่เป็นเมืองเล็กหรือหมู่บ้านไกลปืนเที่ยง เครื่องบินไปไม่ถึง ขับรถไปก็ยังยากลำบากและเหน็ดเหนื่อย แต่รถไฟไปได้เกือบทุกตำบล และไม่เหนื่อยมาก ราคาก็ไม่แพง
ย้อนหลังไปดูประวัติการพัฒนารถไฟความเร็วสูงของโลก ญี่ปุ่นเป็นประเทศแรกที่มีรถไฟความเร็วสูง รถไฟชินกันเซ็นกำเนิดขึ้นเมื่อปี 1964 ทำความเร็วสูงสุดได้ถึง 300 กม./ชม. จากตัวเลขของสถาบันเทคโนโลยีการก่อสร้างรถไฟกระทรวงการคมนาคมญี่ปุ่นพบว่า หลังจากเปิดชินกันเซ็นเป็นต้นมา ผู้โดยสารที่ใช้บริการไปทำงานไปโรงเรียนเพิ่มขึ้น 11 เท่า และนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้น 10%-15% ทำให้การท่องเที่ยวในท้องถิ่นเติบโตอย่างเห็นได้ชัด
ในยุโรป ประเทศฝรั่งเศสเป็นประเทศแรกที่มีรถไฟความเร็วสูง ปี 2007 รถไฟเตเชเวของฝรั่งเศสสร้างสถิติสูงสุดในการทดลองวิ่งด้วยความเร็ว 578.4 กิโลเมตร โดยแย่งตลาดการบินไปได้ด้วยความปลอดภัยที่สูงกว่า ตรงเวลา สะดวกรวดเร็วและราคาถูกกว่า สร้างรายได้ 1,500 ล้านเงินยูโรต่อปี
แม้ว่า รถไฟความเร็วสูงของจีนมีประวัติเพียง 5 ปีเท่านั้น ซึ่งช้ากว่าญี่ปุ่น ฝรั่งเศส เยอรมนี อีตาลี สหรัฐอเมริกาและออสเตรเลียและอีกหลายประเทศหลายปีทีเดียว แต่รถไฟความเร็วสูงของจีนพัฒนาอย่างรวดเร็ว ที่ประชุมการรถไฟทั่วประเทศประกาศเมื่อวันที่ 4 มกราคมปี 2011 นี้ว่า จนถึงปัจจุบัน จีนมีทางรถไฟความเร็วสูงที่เปิดให้บริการสายหลัก 8 สาย ระยะทางรวมแล้วกว่า 7,600 กิโลเมตร
ปี 2008 ทางรถไฟที่วิ่งด้วยความเร็วสูงกว่า 300 กิโลเมตรต่อชั่วโมงสายแรกของจีนกำเนิดขึ้น คือ เส้นทางจากกรุงปักกิ่งไปนครเทียนจิน หรือคนไทยเรียกว่า เทียนสิน ก่อนหน้านี้ ไปนครเทียนจินต้องใช้เวลาอย่างน้อย 2 ชั่วโมง แต่ไปรถไฟความเร็วสูงใช้เวลาเพียง 30 นาทีเท่านั้น ปี 2009 ทางรถไฟความเร็วสูงจากเมืองอู่ฮ่านทางภาคกลางไปเมืองกว่างโจวทางภาคใต้ของจีน ระยะทางยาว 1,000 กิโลเมตรสร้างแล้วเสร็จ และวิ่งด้วยความเร็วสูงกว่า 394 กิโลเมตรต่อชั่วโมง โดยใช้ระบบแม็กเลฟที่ทันสมัย ถือว่าจีนเป็นประเทศแรกในโลกที่เปิดให้บริการรถไฟแม็กเลฟ ในเชิงพาณิชย์ ขณะที่ประเทศยักษ์ใหญ่ไม่แพ้กันทางด้านเทคโนโลยีอย่างญี่ปุ่นและเยอรมนียังอยู่ในช่วงการทดลองเท่านั้น
รถไฟความเร็วสูงเส้นทางปักกิ่ง-เซี่ยงไฮ้ (จิงฮู่) เป็นเส้นทางที่ได้รับการกล่าวขวัญมากที่สุด ซึ่งได้เชื่อมสองเมืองหัวใจทางการเมือง
และเศรษฐกิจจีนเข้าไว้ด้วยกัน ทางรถไฟสายนี้สร้างแล้วเสร็จเมื่อเดือนพฤศจิกายนปี 2010 แต่จะเปิดให้บริการในเดือนมิถุนายนปี 2011 ที่จะถึงนี้ ถึงตอนนั้น การเดินทางจากกรุงปักกิ่งไปยังนครเซี่ยงไฮ้ ใช้เวลาเพียง 5 ชั่วโมงเท่านั้น
สาเหตุที่จีนทุ่มเทพัฒนารถไฟความเร็วสูงก็เพราะว่า รถไฟความเร็วสูงมีอิทธิพลไม่เพียงแต่ในขอบข่ายทางรถไฟเท่านั้น ยังช่วยปรับปรุงโครงสร้างอุตสาหกรรมการขนส่ง ส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจของเมืองต่างๆตามเส้นทางรถไฟให้เติบโตขึ้น และสร้างงานได้มากมาย ช่วยแก้ปัญหาการว่างงานในเมืองต่างๆ ที่สำคัญ สามารถลดเวลาการเดินทางของประชาชนให้สั้นลงและให้ความสะดวกสบายแก่ผู้โดยสาร นอกจากนี้ ผู้เชี่ยวชาญหลายประเทศยังเห็นว่า รถไฟความเร็วสูงมีบทบาทสำคัญต่อการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและการประหยัดทรัพยากรพลังงาน
หากพูดในแง่มุมการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ทางรถไฟความเร็วสูงจะได้เปรียบเรื่องกินพื้นที่น้อย เมื่อเปรียบเทียบแล้ว ทางหลวง 8 เลนจะกินพื้นที่มากกว่าทางรถไฟความเร็วสูง 1.6 เท่า สนามบินขนาดกลางหรือขนาดใหญ่หนึ่งแห่ง กินพื้นที่เท่ากับทางรถไฟความเร็วสูง 1,000 กิโลเมตร นอกจากนี้ รถไฟความเร็วสูงมีการระบายคาร์บอนต่ำกว่าพาหนะอื่น สถิติของญี่ปุ่นพบว่า การระบายคาร์บอนของชินกันเซ็นในญี่ปุ่นเป็นเพียง 1 ใน 10 ของรถยนต์ส่วนตัว เป็น 1 ใน 3 ของรถประจำทาง และเป็น 1 ใน 6 ของเครื่องบินเท่านั้น มีตัวเลขบอกอย่างเห็นได้ชัดว่า การลงทุนก่อสร้างรถไฟความเร็วสูงกับผลที่ได้รับจะเป็น 1 ต่อ 10
นอกจากนี้ รถไฟความเร็วสูงมีความปลอดภัยสูง ดิฉันเคยไปสัมภาษณ์นายชือ เจี้ยน ชิง ผู้อำนวยการฝ่ายวิเทศสัมพันธ์การรถไฟแห่งนครเซี่ยงไฮ้ เขาเล่าว่า รถไฟแม็กเลฟ ของเซี่ยงไฮ้ใช้เวลาก่อสร้างประมาณ 3 ปี และเริ่มเปิดให้บริการมาตั้งแต่ปี 2004 โดยตั้งแต่เปิดให้บริการมายังไม่เคยมีอุบัติเหตุเกิดขึ้นเลย สามารถวิ่งได้ทุกสภาวะแวดล้อมไม่ว่าจะฝนตกหนัก หิมะตก ลูกเห็บตก หรือมีพายุ
ทั้งนี้ เครื่องบินและรถบัสเปรียบเทียบไม่ได้ เมื่อเจออากาศเลวร้าย เช่น หิมะตก หมอกหนา พายุไต้ฝุ่น การขนส่งทางเครื่องบินและรถบัสก็หลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะได้รับผลกระทบไม่มากก็น้อย บางครั้งต้องยกเลิกเที่ยวบิน ถูกติดค้างในสนามบิน ยิ่งช่วงเทศกาลตรุษจีน มักจะเกิดหิมะตกหนัก อากาศหนาวจัด ทำให้ถนนลื่น การขนส่งทางหลวงก็อันตราย แต่รถไฟได้ผลกระทบน้อยมาก โดยเฉพาะรถไฟความเร็วสูง สามารถวิ่งได้ในทุกสภาวะแวดล้อม
ผู้โดยสารที่ชอบรถไฟความเร็วสูงส่วนใหญ่จะชอบความสะดวกสบายและราคาถูกกว่าเครื่องบิน ดิฉันเคยได้ยินจากน้องซีซีว่า บ้านเธออยู่เมืองเจิ้งโจว ห่างจากปักกิ่งประมาณ 690 กิโลเมตร หากไปเครื่องบิน จะบิน 1 ชั่วโมง 20 นาที แต่หากรวมเวลาการเดินทางจากบ้านไปสนามบิน 1 ชั่วโมง และจากสนามบินกลับบ้านในตัวเมืองเจิ้งโจว 1 ชั่วโมง และเวลารอคอยในสนามบิน รวมแล้วต้องใช้เวลากว่า 5 ชั่วโมง ตั๋วเครื่องบินไปกลับ 1,000-1,200 หยวน แต่หากไปรถไฟความเร็วสูงใช้เวลาเพียง 5 ชั่วโมงและราคาเพียง 440 หยวนเท่านั้น การเดินทางไปสถานีรถไฟและกลับบ้านก็ไม่ไกล ใช้เวลาประมาณครึ่งชั่วโมง น้องซีซี จึงชอบไปรถไฟความเร็วสูงมากกว่า
ระยะทาง 690 กิโลเมตรระหว่างกรุงปักกิ่งกับเมืองเจิ้งโจวดังกล่าว ก็ประมาณเท่ากรุงเทพฯ –เชียงใหม่ แต่รถไฟของไทยจะวิ่งประมาณ 12 ชั่วโมง ทำให้ผมคิดว่าถ้ามีรถไฟความเร็วสูงวิ่งในเมืองไทย การเดินทางสายเชียงใหม่-กรุงเทพฯ จะเหลือเวลาเพียง 5 ชั่วโมงเท่านั้น หากเป็นรถไฟแม็กเลฟที่วิ่งด้วยความเร็วสูงถึง 300-400 กิโลเมตร กรุงเทพฯไปเชียงใหม่ก็เหลือ 2 ชั่วโมงเท่านั้น
หากเป็นรถไฟธรรมดา ผู้ที่ไปเมืองไกลๆ ต้องกินนอนบนรถไฟเป็นวันๆ เวลานั่งรถไฟ ผู้โดยสารมักจะชอบซื้ออาหารสารพัดอย่างไปกินบนรถไฟ ดิฉันรู้จักผู้หญิงคนหนึ่ง ทุกครั้งที่นั่งรถไฟ ต้องซื้อของกินทั้งมาม่า ผลไม้ ไก่ทอด เป็ดพะโล้ ถั่วลิสงเคลือบ ขนมหวานอีกหลายอย่าง หอบขึ้นรถไฟ เธอบอกว่า ปกติ ยุ่งกับการค้าขายทุกวัน เวลากินข้าวก็รีบๆ กินอย่างไม่รู้รสชาติ และไม่รู้สึกอร่อย แต่พอขึ้นรถไฟ ไม่ต้องห่วงงานแล้ว กินอะไรก็อร่อยกันหมด จึงกินเก่งมาก นอกจากอาหารโปรดที่ซื้อขึ้นรถไฟแล้ว ระหว่างทาง เจออาหารพื้นบ้านตามสถานีที่รถไฟจอด ยังลงไปซื้อเกือบทุกสถานีไว้กินตลอดทาง รู้สึกมีความสุขมาก
รถไฟธรรมดามักจะมีผู้โดยสารแน่นมาก คนจีนจำนวนไม่น้อยชอบเล่นไพ่ ถือเป็นกิจกรรมฆ่าเวลาและสนุกสนานที่สุด เพราะการเล่นไพ่กับเพื่อนฝูงแบบเฮฮากันโดยไม่ใช้เงินในจีนไม่ถือว่าผิดกฎหมาย บางทีคนที่ไม่รู้จักกันเข้ามาเล่นก็ได้ ยังช่วยแก้เหงา แก้ความห่างเหินระหว่างกันได้ สร้างบรรยากาศสนิทสนมด้วย
คนจีนนับว่าเป็นชาติหนึ่งที่อาศัยรถไฟเพื่อการเดินทางมากที่สุดในโลก จนถึงกับมีการตั้งกระทรวงการรถไฟ ขึ้นมาดูแลโดยเฉพาะ แม้จะมีสถิติระบุว่า เมื่อเอาทางรถไฟในประเทศจีนมาหารกับจำนวนประชากรแล้ว คนจีนทุกคนจะเป็นเจ้าของทางรถไฟความยาวเพียงแค่ 5.5 เซนติเมตรหรือราวบุหรี่หนึ่งมวนเท่านั้นเอง
แม้ว่า จีนมีทางรถไฟความเร็วสูงหลายสายแล้ว แต่ยังห่างไกลเป้า
หมายในการตอบสนองความต้องการของประชาชน ทางรถไฟจีนจึงมีภาระหนักหน่วงมากทีเดียว เพราะว่าเมื่อถึงเทศกาลที่หยุดยาวหลายวัน เช่น ตรุษจีน วันแรงงานในช่วงต้นเดือนพฤษภาคม และวันชาติต้นเดือนตุลาคมนั้น การหาซื้อตั๋วรถไฟในช่วงเวลาดังกล่าว ถือว่ายากลำบากอย่างยิ่ง
ในช่วงหยุดยาวดังกล่าว ผู้คนที่เดินทางกลับบ้านหรือออกไปท่องเที่ยวมีจำนวนมาก การซื้อตั๋วรถไฟจึงยากมาก แม้กระทั่งเจ้าหน้าที่และพนักงานที่ทำงานในการรถไฟ ก็ต้องเหนื่อยมากและพบอุปสรรคต่างๆ ดิฉันมีเพื่อนคนหนึ่งเป็นพนักงานขายตั๋วรถไฟในสถานีรถไฟปักกิ่ง เธอบอกว่า ช่วงวันตรุษจีนทุกปี เป็นช่วงที่งานหนักที่สุด จนกระทั่งไม่กล้าดื่มน้ำ ไม่มีเวลาเข้าห้องน้ำ และตอนเที่ยง มีเวลาทานข้าวเพียง 20 นาที และต้องแบ่งเป็นสองกะผลัดเปลี่ยนกันไป
มีนักท่องเที่ยวจำนวนหนึ่งจึงพยายามไม่ไปเที่ยวต่างถิ่นในช่วงเทศกาลที่หยุดหลายวัน เพื่อหลีกเลี่ยงการซื้อตั๋วรถไฟยาก และไปถึงที่ไหนก็แออัดเบียดเสียด แหล่งท่องเที่ยวเต็มไปด้วยคน ซึ่งหลังจากวันหยุดยาวผ่านพ้นไป ตั๋วรถไฟก็ซื้อง่าย สถานที่ท่องเที่ยวมีคนน้อยลง
จีนกำลังเร่งดำเนินโครงการพัฒนารถไฟความเร็วสูงตามแผนการเครือข่ายรถไฟความเร็วสูงในระยะยาวของจีน โดยตั้งเป้าหมายว่า ภายในปี 2020 หรือ พ.ศ.2563 จีนจะสร้างทางรถไฟที่วิ่งด้วยความเร็วสูง 200 กิโลเมตรขึ้นไปให้ได้ระยะทางถึง 18,000 กิโลเมตร หรือประมาณครึ่งหนึ่งของทั่วโลก โดยมี 4 เส้นที่พาดผ่านจากเหนือถึงใต้ และ 4 เส้นจากตะวันออกไปตะวันตกที่เป็นโครงการหลัก และเครือข่ายทางรถไฟความเร็วสูงรวม 2,000 กิโลเมตร ที่ครอบคลุมพื้นที่เศรษฐกิจสำคัญ คือ แถบทะเลโป๋ไห่ สามเหลี่ยมแม่น้ำฉางเจียงหรือแม่น้ำแยงซี สามเหลี่ยมแม่น้ำจูเจียง อีกด้วย
อย่างไรก็ตาม จีนก็ไม่ได้หยุดการพัฒนาทางรถไฟเพียงเท่านี้ แม้ว่าปัจจุบัน ตามเมืองใหญ่เมืองน้อยทั่วประเทศต่างมีการสร้าง สนามบินไว้รองรับมากมายก็ตาม แต่เป้าหมายในการสร้างเครือข่าย รถไฟความเร็วสูงของจีนคือ ให้ครอบคลุมไปทั่วประเทศ เพื่อให้ความสะดวกสบายและย่นระยะเวลาการเดินทางของประชาชนให้มากที่สุด
เท่าที่จะทำได้