เสี่ยวลี่ (小丽) เป็นนักศึกษาปีที่ 4 เอกภาษาจีน มหาวิทยาลัยชื่อดังแห่งหนึ่งในนครฉงชิ่ง (重庆) เคยได้รางวัลทุนการศึกษา 2 ครั้งในมหาวิทยาลัย เคยได้รับรางวัลผู้ปฏิบัติงานดีเด่นในสหพันธ์นักศึกษา ภาษาอังกฤษผ่านระดับ 4 แห่งชาติ นอกนั้นยังมีใบรับรองอื่นๆ อีกมาก
เริ่มจากปิดเทอมภาคฤดูร้อนตอนปี 3 เธอก็ออกไปตระเวนหางานทำไม่หยุด เริ่มแรกทำงานในตำแหน่ง "พนักงานต้อนรับลูกค้า" ในห้างสรรพสินค้าประเภทขายเสื้อผ้าแฟรนไชน์ทั่วประเทศแห่งหนึ่ง ช่วงทดลองงานเงินเดือน 1,200 หยวน จากนั้นปรับขึ้นเป็น 1,500 หยวน เธอรู้สึกว่าเงินเดือนต่ำ ทำงานได้เดือนกว่าก็ลาออก
เสี่ยวลี่เล่าให้ฟังว่า ทางไปกลับระหว่างบริษัทกับหอพักวันหนึ่งๆ ค่ารถ 15 หยวน ค่าอาหาร 15 หยวน บวกกับค่าโทรศัพท์ งานปาร์ตี้กับเพื่อนๆ และค่าใช้จ่ายอื่นๆ เงินเดือน 1,200 หยวนไม่พอใช้
ต่อจากนั้น เสี่ยวลี่ได้งานที่ 2 เป็น "พนักงานฝ่ายประชาสัมพันธ์" ในบริษัทการประชุมและนิทรรศการแห่งหนึ่ง ช่วงทดลองเงินเดือน 1,600 หยวน ทว่าพอทำงานไป 2 สัปดาห์ เพื่อนร่วมงานอีกคนหนึ่ง ซึ่งเข้าทำงานรุ่นเดียวกันกับเธอถูกไล่ออกเนื่องจากโดดงาน ส่งผลให้เสี่ยวลี่ก็ถูกปลดออกจากตำแหน่งด้วย เพราะเจ้านายก็โกรธมาก "บัณฑิตอะไร อยากไปก็ไป ทั้งไม่มีประสบการณ์ ไม่รับรู้กฎเกณฑ์อะไรทั้งสิ้น"
บางเรื่องเมื่อเปรียบเทียบกันแล้วจึงจะรู้ระยะห่าง (ความเหลื่อมล้ำ)
เสี่ยวลี่เล่าว่า เมื่อเดือนมกราคมปีนี้ เธอกลับไปฉลองตรุษจีนที่ภูมิลำเนาเดิม คือ หมู่บ้านชนบทแห่งหนึ่งในเมืองป่าวจี มณฑลส่านซี (陕西) ขณะพูดคุยกับบรรดาญาติๆ นั้น เธอรู้สึกสะเทือนใจ คือ
ญาติผู้หนึ่งมีศักดิ์เป็นน้องสาว วัย 19 ปี จบอาชีวะศึกษาที่มณฑลกวางตุ้ง ทำงานในโรงงานตุ๊กตาแห่งหนึ่งในกวางตุ้ง ทำงานได้เพียงครึ่งปีก็หอบเงินสด 8,000 หยวนนั่งเครื่องบินกลับบ้าน แถมยังซื้อของฝากให้พ่อและอาเป็นเงินกว่า 400 หยวน ส่วนเสี่ยวลี่กลับบ้านทางรถไฟ เป็นตั๋วนั่ง เวลาไปเยี่ยมญาติก็หิ้วแต่ขนมพื้นเมืองฉงชิ่งไปฝาก "เมื่อเทียบกันแล้วรู้สึกทุเรศจริงๆ อายที่จะนำของฝากออกมามอบให้ต่อหน้าใครๆ"
ส่วนญาติอีกผู้หนึ่งมีศักดิ์เป็นน้องชาย จนอาชีวะศึกษาสาขาผลิตรถยนต์ในมณฑลส่านซี ยังไม่ทันจบก็ได้งานโรงงานผลิตรถยนต์ น้องชายผู้นี้เล่าอย่างมีความสุขว่า เงินเดือนไม่ต่ำกว่า 2,500 หยวน สวัสดิการก็ดีมากด้วย
เงินเดือนของแรงงานชนบททำให้เธออิจฉา
เสี่ยวลี่ระบุว่า กรรมกรช่างปูอิฐและทำพวกโครงเหล็กในไซต์งาน ซึ่งได้ชื่อว่า "ช่างใหญ่" เงินเดือนอยู่ที่ระดับ 3,000-4,000 หยวน ส่วนกรรมกรประเภทขนส่งและงานเบ็ดเตล็ด ซึ่งได้ชื่อว่า "ช่าง" เงินเดือนอยู่ที่ระดับ 2,000-2,500 หยวน สรุปคือ กรรมกรก่อสร้างมีรายได้สูงขึ้นเมื่อเทียบกับหลายปีก่อน ทั้งนี้ทำให้เธออุทานว่า "เหตุใดผู้มีปริญญาบัตรมหาวิทยาลัยชื่อดัง เวลาหางานทำกลับไม่เท่าแรงงานชนบทผู้มีวุฒิการศึกษาต่างกัน"
นักเรียนอาชีวะถูก "แย่งชิง"
มีข้อแตกต่างกันอย่างเห็นได้ชัดข้อหนึ่งคือ นักเรียนอาชีวะบางสาขากลายเป็น "เนื้อหอม" ถูกผู้ว่าจ้าง "แย่งชิง" กัน ทั้งนี้เพราะนักเรียนเหล่านี้มีทักษะในสาขาอาชีพ มีความอดทน และสามารถสร้างกำไรให้กับบริษัทผู้ว่าจ้างอย่างแท้จริง
บริษัทผู้ว่าจ้างมุ่งที่ความสามารถ
สำหรับเรื่องราวของเสี่ยวลี่และคำว่า "บัณฑิตสู้แรงงานชนบทไม่ได้"
นั้น ฝ่ายห้างสรรพสินค้า ซึ่งเป็นบริษัทผู้ว่าจ้างรายแรกของเสี่ยวลี่ระบุว่า "ท่าทีการทำงาน" ของเสี่ยวลี่น่าชื่นชมก็จริง แต่ยังไม่ถนัดในระบบซอฟต์แวร์ของบริษัท ความสามารถในการทำงานยังต้องปรับให้สูงขึ้นอีก และว่า "บริษัทใดก็ตามล้วนมีมาตรฐานโครงสร้างเงินเดือน บัณฑิตที่ดีเด่นกว่านี้ก็ควรเริ่มทำจากขั้นพื้นฐาน" นอกจากนี้ บัณฑิตที่เพิ่งจบใหม่จริงๆ แล้วยังไม่สามารถทำงานอะไรได้มาก ฉะนั้น จึงควรถนอมโอกาสที่ทางบริษัทให้มา ขณะที่บริษัทการประชุมและนิทรรศการ ซึ่งเป็นผู้ว่าจ้างรายที่ 2 ของเสี่ยวลี่ระบุว่า บริษัทฯ ไม่ปฏิเสธที่จะรับบัณฑิตจบใหม่ เวลานี้ยังมีการรับนักศึกษามาฝึกภาคปฏิบัติหลายคน บางคนทำงานไป 1-2 ปีก็ได้รับการเลื่อนตำแหน่งขึ้น
ไม่ควรวัดงานด้วยเงินเดือนแบบง่ายดาย
"หากให้เสี่ยวลี่เดือนละ 3,000 หยวน ให้เธอไปเป็นกรรมกรก่อสร้าง เธอจะยอมไหม ทำได้หรือเปล่า" เจิงหวา ผู้เชี่ยวชาญด้านทรัพยากรแรงงานระบุว่า บัณฑิตจบใหม่มีความเหนือกว่าหลายด้าน และมีศักยภาพ ซึ่งแรงงานชนบทเทียบกันไม่ได้ อย่างไรก็ตาม ควรมองการณ์ไกล ไม่ควรวัดคุณค่าของงานด้วยเงินเดือนอย่างเดียว
(IN/LING)