จีนประสบปัญหาขาดแคลนแรงงาน ขณะที่บัณฑิตจบใหม่หางานยาก
  2011-05-27 15:21:38  cri

ปัจจุบัน หลายๆ พื้นที่ในจีนกำลังประสบปัญหาขาดแคลนแรงงาน ขณะที่บัณฑิตจบใหม่บางส่วนยังประสบปัญหาหางานยาก

นับตั้งแต่ช่วงต้นปีนี้เป็นต้นมา เมื่อเศรษฐกิจทั่วโลกโดยรวมกระเตื้องขึ้น วิสาหกิจหลายต่อหลายรายของจีนมีใบสั่งซื้อเพิ่มขึ้นมาก แต่ขาดแคลนพนักงานที่มีทักษะอย่างหนัก โดยเฉพาะในมณฑลทางภาคตะวันออกเฉียงใต้และภาคใต้ซึ่งเป็นมณฑลที่มีความต้องการแรงงานสูงมาโดยตลอด ทั้งสาขาการผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้า การแปรรูปเครื่องจักรกล การผลิตเสื้อผ้าและรองเท้า ซึ่งเป็นที่สนใจของสังคมอย่างยิ่ง

ปัจจุบันนี้ ผู้ใช้แรงงานในมณฑลทางภาคใต้ของจีนส่วนใหญ่เป็นแรงงานจากชนบท ร้อยละ 50 เป็นผู้เกิดหลังยุค 80 ซึ่งมีแรงกดดันจากการแข่งขันในสังคมค่อนข้างสูง

สถิติระบุว่า ตั้งแต่หลังตรุษจีนถึงบัดนี้ ในนครเซี่ยงไฮ้ ขาดแคลนแรงงานถึง 7,000 คน โดยส่วนใหญ่เป็นภาคอุตสาหกรรมการผลิต ในเมืองเซินเจิ้นของมณฑลกวางตุ้ง การขาดแคลนแรงงานถึง 200,000 คน และในมณฑลอันฮุย มีจำนวนสูงถึง 250,000 คน

ปัญหาขาดแคลนแรงงานทำให้บริษัทในพื้นที่เหล่านี้จำเป็นต้องเพิ่มค่าจ้างหรือสวัสดิการให้แก่ลูกจ้าง เช่น ปักกิ่งได้ประกาศเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำเป็นเดือนละ 1,160 หยวน และมณฑลเจียงซูเพิ่มจาก 960 หยวนเป็น 1,140 หยวน นครกวางโจวก็เพิ่มเป็น 1,300 หยวนโดยเพิ่มขึ้นในอัตราร้อยละ 18.2 นอกจากนี้ ค่าแรงในเขตเศรษฐกิจสามเหลี่ยมแม่น้ำแยงซีเกียงของจีนส่วนใหญ่ก็ปรับเพิ่มขึ้นด้วย เช่น คนขับรถตู้คอนเทเนอร์เพิ่มเป็น 4,000 หยวน ช่างซ่อมรถยนต์เพิ่มขึ้นถึง 1,500-3,000 หยวน และบุรุษไปรษณีเพิ่มเป็น 2,500 หยวน เป็นต้น

นักวิเคราะห์เห็นว่า ภาวะเช่นนี้เกิดขึ้นในบางพื้นที่ บางสาขา และบางช่วงเวลา ผลการสำรวจพบว่า หลังตรุษจีน วิสาหกิจมีความต้องการว่าจ้างแรงงานเพิ่มขึ้นร้อยละ 15 เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว บางกิจการในพื้นที่ชายฝั่งทะเลจึงว่าจ้างแรงงานค่อนข้างยาก ทั้งนี้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการโยกย้ายฐานการผลิต และการที่แรงงานเกษตรกรมีความประสงค์จะหางานทำในภูมิลำเนาเดิม"

นอกจากนี้ แรงงานรุ่นใหม่จากชนบทมีเงื่อนไขในการรับจ้างสูงขึ้น เมื่อเทียบกับรุ่นพ่อ แรงงานรุ่นใหม่ซึ่งเกิดหลังปีทศวรรษ 1980 กระทั่ง 1990 มีสรีมากขึ้น และมีวุฒิการศึกษาสูงขึ้น จึงต้องการค่าจ้าง การประกันและสวัสดิการสูงขึ้น

ส่วนสื่อมวลชนเห็นว่า ภาวะการขาดแรงงานเกิดจากความเร็วในการเป็นเมืองของจีนยังช้ากว่าการเป็นอุตสาหกรรม อย่างมาก ความเร็วในการเป็นเมือง ซึ่งหมายถึงประชาชนที่อาศัยในเมืองนานกว่า 6 เดือนขึ้นไปมีเพียงแค่ 48% เท่านั้น ขณะที่ความเร็วในการเป็นอุตสาหกรรมอยู่ที่ 70% เกษตรกรจำนวนมากเข้ามาเพื่อทำงานในเมืองแต่ทิ้งครอบครัวไว้เบื้องหลังในชนบท ซึ่งเป็นปัจจัยที่ทำให้แรงงานจากชนบทเหล่านี้ไม่สามารถรับจ้างทำงานระยะยาวในเมืองได้ การจะจูงใจให้คนงานเหล่านี้ตั้งถิ่นฐานอยู่ในเมืองน่าจะเป็นเรื่องสำคัญ

ผลการสำรวจของกระทรวงทรัพยากรแรงงานและประกันสังคมจีนระบุว่า จนถึงสิ้นเดือนมีนาคม ภาวะการขาดแคลนแรงงานในมณฑลกวางตุ้งและฝูเจี้ยนมีเกือบล้านคน ส่วนมณฑลเจ้อเจียงก็มีตำแหน่งงานว่างประมาณร้อยละ 17

อย่างไรก็ตาม ในขณะที่จีนขาดแคลนแรงงานอย่างรุนแรง บัณฑิตจบใหม่จากมหาวิทยาลัยหรือวิทยาลัยบางส่วนกลับประสบปัญหาหางานยาก

คนที่วิตกกับเรื่องนี้ไม่เฉพาะนักศึกษาและพ่อแม่ของพวกเขาเท่านั้น ผู้นำจีนก็วิตกเรื่องนี้อย่างมาก เมื่อสองสามเดือนที่แล้ว นายเวิน เจียเป่า นายกรัฐมนตรีจีนไปเยี่ยมเยียนนักศึกษาที่มหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งในกรุงปักกิ่ง เขากล่าวต่อนักศึกษาอย่างตรงไปตรงมาว่า "ถ้าพวกคุณกลัวจะตกงาน ขอให้รู้ว่า ผมกลัวยิ่งกว่าพวกคุณ" พร้อมให้สัญญาว่า การหางานให้บัณฑิตเป็นนโยบายสำคัญของรัฐบาล

ภาวะที่บัณฑิตจบใหม่หางานยากเกิดจากสาเหตุหลายประการ ประการแรกคือ บุคลากรที่จบระดับอุดมศึกษาล้นตลาด ซึ่งเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นในหลายประเทศ สาเหตุสำคัญเกิดจากการวางแผนผลิตบัณฑิตไม่สอดรับกับสภาพเศรษฐกิจภายในประเทศ ตำแหน่งงานขยายไม่ทันการเพิ่มขึ้นของบัณฑิตจบใหม่

ปีลังๆ นี้ มหาวิทยาลัยในจีนพากันขยายการรับนักศึกษาทำให้บัณฑิตจบใหม่ในแต่ละปีเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ เดือนกรกฎาคมปีนี้ บัณฑิตจบใหม่ในจีนจะสูงถึง 6.6 ล้านคน แต่การเติบโตของเศรษฐกิจจีนในปัจจุบันกลับไม่สามารถรองรับบุคลากรระดับอุดมศึกษาจำนวนมากเช่นนี้ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องคาดว่า ภายใต้สถานการณ์เศรษฐกิจโลกที่ยังไม่สามารถฟื้นตัวขึ้น ปัญหาบัณฑิตใหม่หางานยากในปีนี้อาจทวีความรุนแรงยิ่งขึ้น

สาเหตุสำคัญอีกประการหนึ่งที่ทำให้บัณฑิตจบใหม่หางานยากคือ นักศึกษามีความคาดหวังสูงเกินไป โดยคิดว่า ตนเป็นผู้มีความรู้ ต้องมีฐานะทางสังคมเหนือกว่าผู้ใช้แรงงานทั่วไป ดังนั้น จึงเลือกงานมาก

นักศึกษาอเมริกันมีความฝันในแบบของเขา คือ เรียนสูงๆ ขยันทำงาน แล้วจะประสบความสำเร็จและร่ำรวย นักศึกษาจีนก็มีความฝันในแบบของจีนที่ยึดมั่นมานานแล้ว นับตั้งแต่ที่จักรพรรดิจีนในสมัยราชวงศ์ฮั่นได้ทรงริเริ่มระบบการสอบจอหงวนเป็นครั้งแรก ซึ่งนับเป็นครั้งแรกที่มีการคัดเลือกคนเข้ารับราชการตามสติปัญญาและความสามารถ มิใช่ด้วยชาติกำเนิด ความฝันในแบบจีนก็ไม่ต่างจาก ความฝันในแบบอเมริกัน ซึ่งมีศรัทธามั่นคงต่อการเรียนสูงๆ และขยันทำงาน แล้วก็จะได้ดิบได้ดี แต่ดูเหมือนว่า ชาวจีนอาจจะให้ความสำคัญกับคุณค่าของการศึกษามากเป็นพิเศษ การศึกษาเป็นเหมือนหลักประกันให้หนุ่มสาวชาวจีนสามารถถีบตัวขึ้นมาจากความยากจน และมีชีวิตที่ดีกว่าทั้งสำหรับตัวพวกเขาเองและพ่อแม่

แต่มาบัดนี้ หนุ่มสาวชาวจีนนับล้านๆ คนกำลังต้องเผชิญกับความจริงที่ว่า การศึกษาสูงอาจไม่เพียงพอที่จะทำให้ความฝันกลายเป็นความจริง จากข้อมูลของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เมื่อสิ้นปีที่แล้ว บัณฑิตจบใหม่ของจีนจำนวนหลายแสนคนยังคงตกงาน เพราะว่า บัณฑิตใหม่เพิ่มขึ้นทุกปี แต่สถานประกอบการกลับต้องการบุคลากรระดับอุดมศึกษาไม่มาก จึงทำให้จีนประสบปัญหาบัณฑิตใหม่หางานยาก

สื่อมวลชนบางส่วนเห็นว่า การพัฒนาของสถาบันอุดมศึกษาไม่ทันกับการพัฒนาเศรษฐกิจ เป็นสาเหตุอีกประการหนึ่งที่ทำให้บัณฑิตที่ผลิตออกมาไม่สอดคล้องกับความต้องการของตลาดแรงงาน ถ้าสถาบันอุดมศึกษาจัดตั้งสาขาวิชาที่สอดคล้องกับความต้องการของตลาดแรงงาน สอดคล้องกับการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม ปัญหาบัณฑิตจบใหม่หางานยากก็จะผ่อนคลายลงบ้าง

ผู้ประกอบการหลายๆ คนเห็นว่า บัณฑิตใหม่ส่วนใหญ่มีความคาดหวังสูงมาก จนกลายเป็นอุปสรรคในการหางาน เช่น นักศึกษาบางคนเลือกงานมาก สร้างเงื่อนไขจนน่ารำคาญ เช่น ทำงานดึกไม่ได้ ต้องหยุดเสาร์อาทิตย์ ไม่ชอบทำงานกับคนรุ่นเก่า ไม่สามารถไปต่างจังหวัด นักศึกษาบางคนคาดหวังในอัตราค่าจ้างสูงเกินไป เงินเดือนต้องไม่ต่ำกว่าเดือนละ 3,000 หยวน

ต้องเป็นงานประจำ สาเหตุเหล่านี้ทำให้ผู้จบการศึกษาระดับปริญญาขึ้นไปหางานได้ยาก

เมื่อเร็วๆ นี้ ผู้ประกอบการหลายคนออกมาแนะวิธีการหางานที่เหมาะกับบัณฑิตจบใหม่ โดยแนะนำว่า ก่อนอื่น ต้องคิดบวก นักศึกษาจบใหม่อาจรู้สึกไม่ดีที่ยังหางานไม่ได้ ยิ่งคิดก็ยิ่งเครียด ยิ่งเครียดก็ยิ่งท้อ ที่จริง ต้องลองคิดในแง่บวก เพื่อที่จะได้มีกำลังใจ และไม่ท้อ โดยคิดเสียว่า สิ่งที่เรียนในห้องเรียน ความรู้ที่ได้รับ วุฒิที่มี ย่อมมีความสำคัญต่อธุรกิจประเภทที่เรียนมา ไม่อย่างนั้น เขาคงไม่เปิดหลักสูตรให้เรียน

ประการที่สอง ลองเข้าไปท่องเน็ตเพื่อสำรวจดูว่า มีงานอะไรบ้างที่ต้องการวุฒิการศึกษาอย่างเรา จะเริ่มเห็นว่า ยังมีช่องทางอีกมากมาย อย่ามัวแต่รู้สึกท้อ ประการที่สาม เราต้องสำรวจความสนใจของเรา โดยตั้งคำถามกับตัวเอง เพื่อสำรวจความสนใจของเราว่า ชอบงานในลักษณะไหน ชอบงานออฟฟิศหรือ ชอบงานที่ต้องพบปะผู้คนมากกว่า ถ้าชอบงานออฟฟิศก็มาคิดต่อว่า สนใจงานที่อยู่ในธุรกิจประเภทไหน แล้วจดรายการออกมา แต่ถ้าไม่ชอบอยู่กับที่ก็มีงานหลายอย่างที่เหมาะกับเรา เช่น พนักงานต้อนรับในโรงแรม พนักงานขาย พนักงานบริการลูกค้า มัคคุเทศก์ เป็นต้น จากนั้นคัดเลือกให้เหลือเฉพาะที่ตรงกับความสนใจและใกล้เคียงกับความรู้ที่เราเรียนมาให้มากที่สุดเป็นอันดับต้นๆ และที่ขาดไม่ได้ คือต้องพิจารณาจากระยะทางใกล้-ไกล ขนาดขององค์กร อัตราเงินเดือน และอื่นๆ ประกอบด้วย

เมื่อเราพิจารณาประเด็นข้างต้นเหล่านี้เรียบร้อยแล้ว ถ้ามีโอกาสมาเยือนก็ควรจะเริ่มต้นหางาน บางคนไม่กล้าเริ่ม มัวแต่คิดว่า ต้องได้งานในบริษัทที่ดีกว่านี้ จริงๆ แล้ว ต้องเลิกทะนง แล้วเริ่มทำงานจากระดับเล็กๆ ถึงมันอาจจะไม่ใช่สิ่งที่ต้องการก็ตาม แต่มันจะทำให้เรารู้จักตัวเองดีขึ้น รู้ว่าตัวเองนั้นชอบอะไร และไม่ชอบอะไร ซึ่งเป็นบทเรียนที่สำคัญมากอย่างหนึ่งของชีวิต ที่จะทำให้เรารู้ว่า งานนั้นเหมาะกับเราหรือไม่ และเราจะไปในทิศทางไหนต่อ แต่ถ้าหากว่าหางานประจำหลายที่แล้วยังไม่ได้ ลองหางานแบบชั่วคราวดูบ้างก็ไม่เสียหาย ถึงจะเป็นงานชั่วคราว แต่อย่างน้อยเราก็ได้รู้จักคนเพิ่มขึ้นจากการทำงาน และในไม่ช้า สิ่งหนึ่งก็จะนำไปสู่อีกสิ่งหนึ่ง เราอาจค้นพบจุดแข็งของตัวเอง หรือพบความสนใจใหม่ๆ กับโอกาสใหม่ๆ ก็ได้

ผู้ที่เคยทำงานฝ่ายสรรหาบุคลากรแสดงความเห็นว่า บัณฑิตใหม่ต้องสร้างและพัฒนางานอดิเรกมาทำให้เกิดรายได้ เช่น ชอบถ่ายรูปก็รับจ้างถ่ายภาพ ชอบเรื่องรถยนต์ รู้รถยนต์รุ่นไหนเป็นรุ่นไหน ก็สามารถไปรับจ้างร้านขายรถ ไม่ต้องเป็นพนักงานประจำก็ได้ แต่ขอค่าคอมมิชชั่นพอสมควร ชอบเขียนบทความก็เปิดบล็อกเขียนเรื่องราวดี ๆ เก็บไว้ เผื่อมีโอกาสก็อาจได้เป็นนักเขียนก็ได้ นอกจากนี้ ต้องเรียนรู้เพิ่มเติมในสิ่งที่เรายังไม่เก่ง เช่น ภาษาอังกฤษ คอมพิวเตอร์ เว็บไซต์ ไม่ต้องรอให้ได้งานแล้วค่อยไปเรียน ถ้ามีโอกาสก็รีบเรียนไว้ก่อนเลย

นักวิชาการหลายๆ คนแนะให้บัณฑิตจบใหม่ทำเว็บไซต์ส่วนตัว เพื่อให้คนอื่นได้รู้จักกับเรามากขึ้น เพราะสมัยนี้ทุกอย่างสื่อสารกันบนเว็บไซต์ อย่าปิดกั้นตัวเอง แต่จงเปิดกว้างสู่โลกภายนอก แล้วจะมีโอกาสมากขึ้น

คำแนะนำของผู้ประกอบการ นักวิชาการดังกล่าวนี้ได้เผยแพร่ทางสื่อมวลชน ทำให้บัณฑิตจบใหม่บางส่วนเริ่มเปลี่ยนความคิด ลดความคาดหวังในการหางาน ยอมทำงานที่ให้อัตราค่าจ้างเท่ากับผู้มีวุฒิการศึกษาปวช.หรือปวส. ด้วยสาเหตุเหล่านี้ จำนวนบัณฑิตใหม่ที่ตกงานอาจลดลงเรื่อยๆ

อย่างไรก็ตาม บัณฑิตจบใหม่ในอนาคตอาจจะต้องยอมรับความจริงที่ว่า พวกเขาจะต้องเข้าสู่โลกของการทำงานปกติที่มีวัฏจักรขึ้นลงตามสภาพเศรษฐกิจ แน่นอนว่า พวกเขายังสามารถมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นกว่ารุ่นพ่อแม่ได้ และยังสามารถจะเลี้ยงดูพ่อแม่เมื่อยามแก่เฒ่าได้

ส่วนทางด้านรัฐบาลควรสร้างเครือข่ายแรงงานทั่วประเทศและส่งเสริมความร่วมมือระหว่างบุคลากร ให้คำแนะนำหรือการฝึกอบรมแก่ผู้ที่หางาน ปรับปรุงระบบสวัสดิการสังคมให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น ขณะที่มหาวิทยาลัยและวิทยาลัยต้องเร่งพัฒนาให้ทันกับการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม โดยมีการจัดตั้งสาขาวิชาใหม่ๆ ที่สอดคล้องกับความต้องการของตลาดแรงงาน ทั้งหมดนี้อาจจะเป็นวิธีที่สามารถช่วยแก้ไขปัญหาการขาดแคลนแรงงานในบางพื้นที่ของจีน และปัญหาบัณฑิตจบใหม่หางานยากได้

ลิงค์ที่เกี่ยวข้อง
民生
v สหพันธ์คนพิการจีนประเดิมโครงการให้คนพิการที่อาศัยอยู่ในเมืองล้านคนมีงานทำ 2011-05-16 14:25:24
v จีนมีนักศึกษาที่ประกอบธุรกิจด้วยตนเองจำนวน 120,000 คน 2011-04-13 11:37:51
v อาชีพแปลกใหม่ที่นักศึกษาจีนนิยมทำกัน (2) 2011-04-08 16:58:43
v ผลสํารวจพบว่านักศึกษาจีนสนใจการพัฒนาธุรกิจตนเอง 2011-03-10 11:01:10
v สภาพการมีงานทำของจีนยังคงเป็นปัญหา 2011-03-06 11:01:34
v เขตชายฝั่งภาคตะวันออกของจีนขาดแรงงาน 2011-03-01 11:16:28
v "จัดตลาดนัดแรงงานทางอินเตอร์เน็ตทั่วประเทศจีน 2554" 2011-02-28 13:37:06
v นครเทียนสินเปิด "อพาร์ตเมนต์จัดหางาน" 2011-02-27 12:25:03
v จีนเปิดตลาดนัดแรงงานทางอินเตอร์เน็ตช่วยหางานทำให้ทั่วประเทศ 2011-02-23 13:40:30
v 6 ปัญหาที่ขัดขวางแรงงานวัยรุ่นจีนจากชนบทในการหางานทำในเมือง 2011-02-22 11:15:00
v เมืองซูโจวแจกคู่มือการหางาน 60,000 หมื่นชุด 2011-02-17 14:38:46
v ดินแดนสามเหลี่ยมปากแม่น้ำแยงซีประสบปัญหาขาดแรงงานรุนแรง 2011-02-13 13:04:57
ตอบคำถามออนไลน์
ทบทวนรายการน่าสนใจ
ภาพยอดฮิต
เว็บไซต์ึเพื่อนซีอาร์ไอ

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

Play Stop
© China Radio International.CRI. All Rights Reserved.
16A Shijingshan Road, Beijing, China. 100040