ตามระบบการศึกษาของประเทศจีน การแบ่งภาคเรียนไม่ว่าจะเป็นระดับประถมศึกษา มัธยมศึกษา หรือ มหาวิทยาลัย ก็เป็นการศึกษาแบบสองภาคทั้งนั้น คือ ภาคเรียนที่หนึ่ง เริ่มราวต้นเดือนกันยายน ถึงกลางเดือนมกราคม และภาคเรียนที่สอง เริ่มราวกลางเดือนกุมภาพันธ์ ถึงกลางเดือนมิถุนายน สำหรับการเรียนมหาวิทยาลัยนั้น จะมีช่วงซัมเมอร์ประมาณเดือนกรกฎาคมเป็นเวลาอีก 4 สัปดาห์ ซึ่งนักศึกษาจะลงวิชาเรียนเพื่อเก็บหน่วยกิตเพิ่มเติมหรือจะไม่เรียนเพื่อกลับบ้านก็ได้
อันที่จริงแล้ว การลงซัมเมอร์ นับว่าเป็นโอกาสที่ดีในการเจอเพื่อนใหม่ๆ เพราะว่าวิชาที่เปิดสอนส่วนมากเป็นวิชาเลือก ซึ่งเปิดให้นักเรียนต่างคณะมาเรียนรวมกัน นอกจากจะได้เจอเพื่อนต่างคณะแล้ว เรายังมีโอกาสเจอเพื่อนต่างแคมปัสด้วย อย่างเช่น คณะแพทย์ของมหาวิทยาลัยปักกิ่งไม่ได้อยู่ในบริเวณแคมปัสใหญ่ แต่มีแคมปัสเป็นของตัวเอง ดังนั้น นักศึกษาคณะแพทย์ในสองปีแรกจะอยู่ที่แคมปัสหลักเพื่อลงเรียนวิชาพื้นฐานให้ครบ หลังจากนั้นก็จะย้ายออกไปอยู่ที่อีกแคมปัสหนึ่ง นักศึกษาเหล่านี้จะมีโอกาสมาเรียนวิชาเลือกในแคมปัสหลักก็ตอนช่วงซัมเมอร์นี่แหละค่ะ
วิชาที่เปิดในช่วงซัมเมอร์จะไม่ค่อยเหมือนวิชาในภาคการศึกษาทั่วไป ที่แนนเคยลงเรียนและรู้สึกว่าน่าสนใจก็เช่น วิชาจิตวิทยาแห่งความรัก วิชาการวางแผนอาชีพและการพัฒนาความเป็นผู้นำ วิชาวิถีชีวิตชาวจีน (สอนเป็นภาษาอังกฤษ) ช่วงซัมเมอร์จึงมีเอกลักษณ์แตกต่างไปจากภาคการศึกษาธรรมดา นอกจากนี้แล้ว เนื่องจากมหาวิทยาลัยปักกิ่งเปิดรับนักศึกษาและผู้ที่สนใจจากหน่วยงานอื่นๆ เข้ามาลงเรียนในช่วงซัมเมอร์ได้ ในมหาวิทยาลัยจึงมีผู้คนมากหน้าหลายตา ดูมีชีวิตชีวามาก หนึ่งในสีสันเหล่านั้นก็คือ เราจะได้เห็นภาพนักศึกษาต่างชาติพูดภาษาต่างประเทศอยู่กันเป็นกลุ่มๆ เดินไปเดินมาในมหาวิทยาลัย ที่เป็นอย่างนี้ก็เพราะว่า ในช่วงซัมเมอร์ มหาวิทยาลัยปักกิ่งยังรับนักศึกษาแลกเปลี่ยนจากมหาวิทยาลัยต่างประเทศที่มีความร่วมมือกันมาศึกษาวิชาเมเจอร์ หรือมาเข้าคอร์สอบรมภาษาจีนด้วย มหาวิทยาลัยที่มาประจำก็เช่น Yale University, Stanford University, Columbia University และ London School of Economics (LSE)
นักศึกษาจากมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ดที่มาเข้าคอร์สอบรมภาษาจีนระยะสั้น
นักศึกษาเหล่านี้ บางทีก็ทำให้เรางงได้ เพราะว่าบางคนหน้าตาเหมือนคนจีนมาก แต่พูดภาษาจีนไม่ได้เลย บางคนก็พูดได้เพียงเล็กน้อย พวกเขาเหล่านี้ถือสัญชาติอื่นค่ะ เราเลยมีคำศัพท์เฉพาะเรียกเขาเหล่านี้ เช่น บอกว่าคนนี้เป็น ABC (American Born Chinese) ก็คือ คนเชื้อชาติจีนที่เกิดที่อเมริกา ถือสัญชาติอเมริกัน BBC (British Born Chinese) ก็คือ คนเชื้อชาติจีนที่เกิดที่อังกฤษ ถือสัญชาติอังกฤษ
นักศึกษาเหล่านี้ บางส่วนมากับโครงการที่เราเรียกว่า โครงการตามรอยบรรพบุรุษ หรือ Root Seeking Camp โดยแต่ละคนอาจจะไม่รู้จักกันมาก่อน แต่ก็มารวมตัวกันได้เพราะมาด้วยกันกับบริษัทหรือหน่วยงานที่จัดโปรแกรมส่งนักเรียนมาเข้าคอร์สที่ประเทศจีน บางคนนั้นมีผู้ปกครองเป็นคนจัดการให้ เพราะผู้ปกครองอยากให้ลูกหลานของตนที่เป็นชาวจีนโพ้นทะเลเหล่านี้ได้มาเห็นประเทศจีนจริงๆ
โครงการตามรอยบรรพบุรุษ เป็นโครงการที่จัดเพื่อให้ลูกหลานชาวจีนโพ้นทะเล ได้มาเห็นถิ่นกำเนิดของบรรพบุรุษของตน ทำให้พวกเขาตระหนักว่าตนนั้นมีเลือดเนื้อเป็นคนจีน ได้เรียนรู้วัฒนธรรมจีนอันยิ่งใหญ่และยาวนาน เข้าใจและรักษาประเพณีของบรรพบุรุษ และสามารถเป็นสื่อกลางระหว่างวัฒนธรรมจีนกับวัฒนธรรมอื่นๆ กลายเป็น "ทูตพลเรือน" ระหว่างประเทศจีนและประเทศที่พวกเขาอาศัยอยู่
กิจกรรมของนักศึกษาที่มาในโครงการเช่นนี้ ส่วนมากจะเรียนภาษาจีนครึ่งวันเช้า ส่วนครึ่งวันบ่ายไปเที่ยวชมสถานที่ต่างๆ ในปักกิ่ง เช่น พระราชวังฤดูร้อน กำแพงเมืองจีน จัตุรัสเทียนอันเหมิน พระราชวังต้องห้าม หอบวงสวงสวรรค์ สนามกีฬาโอลิมปิค หรือชมศิลปะการแสดงต่างๆ ส่วนช่วงเสาร์-อาทิตย์ก็จะไปไกลหน่อย แบบที่ต้องพักค้างคืน เช่น ไปเที่ยวมองโกเลียใน หรือปีนเขา
นักเรียนต่างชาติในมหาวิทยาลัยปักกิ่ง
แนนเคยอ่านกลอนบทหนึ่งซึ่งประพันธ์โดยกวีชาวฟิลิบปินส์ ชื่อ云鹤 ซึ่งเป็นชาวจีนโพ้นทะเล กลอนบทนี้สะท้อนความรู้สึกของกวีต่อสภาพการเป็นชาวจีนโพ้นทะเล โดยมีเนื้อหาว่า
有叶
却没有茎
有茎
却没有根
有根
却没有泥土
那是一种野生植物
名字叫...
华侨
แปลได้ว่า
มีใบ / แต่กลับไม่มีลำต้น //
มีลำต้น / แต่กลับไม่มีราก //
มีราก / แต่กลับไม่มีผืนดินให้ยึดติด //
นั่นคือพืชป่าชนิดหนึ่ง / ที่มีชื่อเรียกว่า / ชาวจีนโพ้นทะเล //
ไม่ว่าจะเป็นบทกลอนข้างต้น หรือ กิจกรรม Root Seeking Camp สิ่งเหล่านี้ล้วนแสดงให้เห็นว่า ชาวจีน ไม่ว่าจะไปอยู่แห่งใดของโลก ก็ไม่ยอมที่จะลืมรากเหง้าของตนเอง ไม่ลืมบรรพบุรุษของตนเอง และพยายามรักษาประเพณีเดิมอย่างเคร่งครัด เช่นนี้เอง จึงทำให้ความเป็นจีนยังคงอยู่ในตัวของลูกหลานชาวจีนโพ้นทะเลจนถึงปัจจุบัน และจะสืบทอดกันไปตราบนานเท่านาน
แนน