เมื่อเร็วๆนี้ มีประชาชนชาวเมืองเฉิงตูคนหนึ่งโทรไปแจ้งสื่อมวลชนว่า แบบฟอร์มทะเบียนสำเร็จการศึกษาในโรงเรียนเรียกร้องให้นักเรียนกรอก"ฐานะครอบครัว" ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่เหมาะสม เป็นข้อความที่อาจนำไปสู่การถูกดูถูกเหยียดหยาม
หลังจากลูกนำแบบฟอร์มทะเบียนนักเรียนที่สำเร็จการศึกษาชั้นมัธยมต้นมณฑลเสฉวนกลับบ้าน ครอบครัวของนางหลิวก็เริ่มวิพากษ์วิจารณ์หัวข้อในแบบฟอร์มข้อหนึ่ง คือ "ฐานะครอบครัว" คุณปู่เป็นศาสตราจารย์ในมหาวิทยาลัย ถ้านับตั้งแต่รุ่นคุณปู่ ควรกรอกว่า "นักวิชาการ" ส่วนพ่อแม่ทำงานในหน่วยราชการ ควรกรอกว่า "ข้าราชการ" แต่การกรอกว่า "นักวิชาการ" หรือ "ข้าราชการ" ต่างจะมีผลต่อลูกอย่างไร สมาชิกในครอบครัวไม่สามารถตัดสินใจได้ จึงปล่อยข้อนี้ว่างและให้ลูกเอากลับโรงเรียน
แต่หลังจากนั้น นางหลิวยังรู้สึกกังวลกับเรื่องนี้ จึงโทรไปแจ้งสำนักข่าวหนังสือพิมพ์แห่งหนึ่ง เธอเล่าว่า การที่ต้องกรอก"ฐานะทางครอบครัว"นี้เป็นการไม่เคารพต่อผู้อื่น ซึ่งอาจทำให้เด็กถูกดูหมิ่นเหยียดหยามต่อบางคนหรือบางอาชีพ หวังว่าสื่อมวลชนจะช่วยเสนอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องปรับเนื้อหาในแบบฟอร์มดังกล่าวให้เหมาะสม
เมื่อได้ทราบดังนี้แล้ว ผู้สื่อข่าวได้เดินทางไปสำรวจโรงเรียนต่างๆในเมืองเฉิงตู 5 แห่ง มีโรงเรียน 2 แห่งที่มีแบบฟอร์มดังกล่าวจริงๆ ในโรงเรียนสาธิตเมืองเฉิงตู นักเรียนชั้นมัธยมปีที่ 3 ทั้งหมดต่างก็สะท้อนว่าเคยกรอกแบบฟอร์มดังกล่าว ประเด็นที่กรอกยากที่สุดก็คือ "ฐานะครอบครัว" เพราะแต่ละคนคิดไม่เหมือน นักเรียนบางคนเห็นว่า "ฐานะครอบครัว" ก็หมายถึงตำแหน่งหน้าที่การงานของพ่อแม่ บางคนยังถามครูว่า กรอกว่า "ผู้จัดการใหญ่" ได้ไหม ขณะที่นักเรียนส่วนใหญ่ถามผู้ใหญ่แล้วกรอกว่า "กรรมกร" นักเรียนหญิงคนหนึ่งบอกว่า ผู้ใหญ่รุ่นคุณปู่คิดว่า กรรมกรเป็นอาชีพที่น่าภูมิใจมากที่สุดในสมัยนั้น
ความจริง ขณะที่นักเรียนกับผู้ปกครองสงสัย ครูส่วนใหญ่ก็มีความรู้สึกเช่นกัน โดยเห็นว่า "ฐานะครอบครัว" ไม่มีความหมายสำคัญ ครูหวางโรงเรียนสาธิตเมืองเฉิงตูเล่าให้ฟังว่า เกิดเมื่อปี 1965 ในยุคที่เรียนมัธยม นักเรียนในชนบทกรอกว่า "เกษตรกร" ส่วนนักเรียนในเมืองส่วนใหญ่กรอกว่า "กรรมกร" ในสมัยนั้น ฐานะครอบครัวค่อนข้างสำคัญ สาเหตุต้องย้อนกลับไปยังช่วงเริ่มต้นของจีนใหม่ ช่วงนั้น สาธารณรัฐประชาชนจีนเพิ่งสถาปนาขึ้นไม่นาน ชนชั้นกรรมาชีพกลายเป็นชนชั้นปกครองของชาติ แต่ก็ยังมีการต่อสู้ทางชนชั้นอยู่ วงการต่างๆในสังคมจีนสมัยนั้นจึงนิยมมองฐานะทางครอบครัว หากครอบครัวเป็นเกษตรกรหรือกรรมกร ก็ถือว่าเป็นชนชั้นแรงงานและเป็นที่น่าภูมิใจ ดังนั้น การมองฐานะทางครอบครัวนั้น นับว่าเป็นผลจากการต่อสู้ทางชนชั้นในอดีต
แต่สมัยนี้ สังคมจีนมีการเปลี่ยนแปลงและก้าวหน้าไปมากเมื่อเทียบกับสมัยก่อน กระแสนิยมที่มองฐานะทางครอบครัวก็ค่อยๆเสื่อมลง สิ่งที่ต้องเน้นในปัจจุบันคือ อิสระเสรีและประชาธิปไตย
นายจัง จี้ตุง รองผู้อำนวยการโรงเรียนสาธิตเฉิงตูแสดงความเห็นว่า ทางโรงเรียนไม่บังคับให้กรอก "ฐานะครอบครัว" แล้ว เพราะว่าประเด็นนี้ไม่มีความสำคัญแต่อย่างใด เพียงแต่ว่า ปัจจุบัน โรงเรียนยังใช้แบบฟอร์มทะเบียนฉบับเก่าที่จัดทำโดยหน่วยงานบริหารการศึกษา
ส่วนสำนักงานการศึกษาเมืองเฉิงตูก็เผยว่า ปีนี้ สำนักงานไม่ได้แจกแบบฟอร์มทะเบียนนักเรียนที่สำเร็จการศึกษามัธยมต้นมณฑลเสฉวน ปัจจุบัน โรงเรียนประถมและโรงเรียนมัธยมในเมืองเฉิงตูล้วนได้ใช้ระบบบริหารการลงทะเบียนนักเรียนทางอิเล็กทรอนิกส์ ไม่ต้องกรอกแบบฟอร์มที่เป็นแผ่นกระดาษอย่างเมื่อก่อนแล้ว ผู้สื่อข่าวตรวจสอบแล้วยืนยันได้ว่า ระบบบริหารการลงทะเบียนนักเรียนทางอิเล็กทรอนิกส์ได้ใช้ในโรงเรียนที่มืองเฉิงตูจริง และในแบบฟอร์มทะเบียนฉบับใหม่ไม่มีประเด็น"ฐานะครอบครัว" แล้ว
แต่ทำไมนักเรียนในโรงเรียนบางแห่งยังต้องกรอบแบบฟอร์มฉบับเก่าเหมือนเดิม?
นางโจว ผู้รับผิดชอบเรื่องทะเบียนนักเรียนของโรงเรียนสาธิตเฉิงตูเล่าให้ฟังว่า จริงๆแล้ว นักเรียนชั้นมัธยมปีที่สามได้ลงทะเบียนทางเน็ตมาหลายปีแล้ว แต่สำนักงานการศึกษาไม่ได้แจ้งให้เลิกใช้แบบฟอร์มที่เป็นกระดาษ ทางโรงเรียนจึงเตรียมข้อมูลประวัติของนักเรียนทั้งสองรูปแบบไว้ เผื่อสำนักงานการศึกษาสั่งให้ยื่นเอกสารที่เกี่ยวข้อง
นางโจวยังบอกว่า โรงเรียนที่มีข้อสงสัยเช่นนี้ก็มีไม่น้อย ผู้รับผิดชอบเรื่องนี้ในโรงเรียนต่างก็อภิปรายกันบ่อย โดยคิดกันว่า ถ้าวันไหนมีคำสั่งที่ต้องยื่นแบบฟอร์มเหมือนเดิม ทางโรงเรียนไม่ได้เตรียมไว้ ก็คงต้องถูกปรับแน่ๆ เตรียมให้ครบทุกอย่างยังไงก็ดีกว่าไม่มี ส่วน"ฐานะทางครอบครัว" นั้นไม่สำคัญ นักเรียนไม่กรอกก็ได้
หลังการตรวจสอบของผู้สื่อข่าว เราทราบกันแล้วว่า "ฐานะครอบครัว" นั้นไม่ใช่สิ่งที่โรงเรียนบังคับให้กรอกแล้ว เพียงแต่ว่า หน่วยงานบริหารการศึกษายังไม่ได้กำหนดให้ยกเลิกอย่างชัดเจน แต่อย่างไรก็ตาม เราก็ยังพบ "ฐานะครอบครัว" ในแบบฟอร์มบางประเภทอยู่บ้าง ซึ่งทำให้ผู้คนในยุคนี้เกิดความไม่สบายใจ
ศาสตราจารย์หลี่ ซิงผิง รองผู้อำนวยการฝ่ายสังคมสถาบันวิทยาศาสตร์สังคมเมืองเฉิงตูกล่าวว่า ความนิยมที่มอง "ฐานะครอบครัว" อย่างเปิดเผยนั้น ปรากฏขึ้นในช่วงที่จีนใหม่เพิ่งสถาปนาขึ้น เป็นสิ่งพิเศษที่เกิดในยุคพิเศษ เพราะสมัยนั้น สังคมจีนยังเน้นการต่อสู้ทางชนชั้นอยู่ ฐานะครอบครัวอาจมีความหมายสำคัญต่อการศึกษา การทำงาน ตลอดจนการดำรงชีวิตของผู้คนได้ แต่ในปัจจุบัน กระแสหลักคือการพัฒนาและสันติภาพ ข้าราชการกับพ่อค้า เกษตรกรกับกรรมกร ล้วนเป็นประชาชนที่ต้องได้รับการคุ้มครองสิทธิเช่นกัน มีฐานะสังคมเท่าเทียมกัน
ศาสตราจารย์หวาง จู๋ คณะรัฐศาสตร์มหาวิทยาลัยเสฉวนเห็นว่า ในช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมา "ฐานะครอบครัว" เป็นข้อมูลที่ต้องแจ้งในการบริหารทางราชการ ส่วนการรวบรวมข้อมูลส่วนบุคคลเช่นนี้ย่อมทำให้เกิดการแบ่งกลุ่ม ซึ่งอาจทำให้เกิดการถูกดูถูกเหยียดหยาม ผู้ที่ไม่ยอมรับการกรอก"ฐานะครอบครัว" มีจำนวนมาก เพราะเห็นว่า นี่จะทำลายเกียรติยศและละเมิดความเป็นส่วนตัว ทั้งๆที่ไม่ผิดกฎหมาย แต่ทำให้ผู้คนในวงการจำนวนหนึ่งรู้สึกว่า ถูกละเมิดสิทธิ์ สมัยนี้ คนให้ความสำคัญกับการประเมินค้นทางสังคมมากยิ่งขึ้นเรื่อยๆ หวังว่า หน่วยงานปกครองที่เกี่ยวข้องจะใช้ความพยายามต่อไปเพื่อคุ้มครองสิทธิของประชาชนให้ดีขึ้น