หลังจากที่ได้รับแจ้งจากทางแผนกภาษาไทยของสถานีวิทยุนานาชาติจีน(ซีอาร์ไอ) ให้เข้าร่วมกิจกรรมทำข่าวและดูงานที่เมืองต้าเหลียนตั้งแต่วันที่ 13-17 กันยายนนี้ ผู้เขียนรู้สึกตื่นเต้นเป็นอย่างยิ่ง ถือเป็นการออกนอกกรุงปักกิ่งครั้งแรกของการทำงานที่ซีอาร์ไอได้สองเดือน จากการเตรียมและศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับเมืองต้าเหลียนทำให้ยิ่งตื่นตาตื่นใจมากขึ้น เพราะกิจกรรมครั้งนี้เป็นเวลาเดียวกับการประชุมเศรษฐกิจโลกหรือดาวอสฤดูร้อนปี 2011 ที่เมืองต้าเหลียนด้วย ซึ่งเป็นการประชุมระดับโลกและมีผู้นำจากประเทศต่างๆ ทั่วโลกเข้าร่วมงานครั้งนี้อย่างมากมาย
เมืองต้าเหลียนเป็นเมืองศูนย์กลางทางเศรษฐกิจ การค้า และการท่องเที่ยวของมณฑลเหลียวหนิง และยังมีท่าเรือขนาดใหญ่ที่ของภาคตะวันออกเฉียงเหนือของจีน จนได้รับการขนานนามเป็นฮ่องกงแห่งจีนเหนือ ในสงครามโลกครั้งที่ 2 เคยถูกญี่ปุ่นและรัสเซียยึดครอง ช่วงปลายศตวรรษที่ 19 ถึงศตวรรษที่ 20 จึงมีบรรยากาศและสถาปัตยกรรมแบบรัสเซียหลงเหลืออยู่ให้เห็นในเขตตัวเมืองต้าเหลียน ยังให้ชื่อถนนว่า "ถนนญี่ปุ่น" และ "ถนนรัสเซีย" อีกด้วย เป็นที่ตั้งของร้านค้า ร้านอาหารและที่สังสรรค์ของชาวญี่ปุ่นและรัสเซียขณะที่อยู่ในต้าเหลียน
ปัจจุบันต้าเหลียนเป็นเมืองเศรษฐกิจชายฝั่งทะเลที่สำคัญ และเจริญเติบโตมากของจีน จึงมีนักลงทุนจากต่างชาติเข้ามาลงทุนมากมาย แต่ทางเมืองยังไม่ลืมที่จะรักษาคุณภาพของสิ่งแวดล้อมและชีวิตชาวเมืองไปพร้อมกันด้วย เนื่องจากตั้งอยู่ที่ปลายคาบสมุทรเหลียวหนิงล้อมรอบด้วยทะเล 3 ด้าน และเป็นเมืองตากอากาศที่สำคัญทางภาคเหนือด้วย ทั้งยังเป็นเมืองที่มีความปลอดภัยและสภาพแวดล้อมดีเลิศจนได้รับการจัดลำดับจาก สหประชาชาติให้เป็น 1 ใน 500 เมืองทั่วโลกที่มีสภาพแวดล้อมยอดเยี่ยมในปี 2001 ทำให้บริหารและพัฒนาเมืองอย่างต่อเนื่อง จึงถูกยกฐานะเป็นเมืองต้นแบบในการพัฒนาให้กับเมืองต่างๆ ของจีน ในด้านการสร้างสมดุลให้กับระบบนิเวศ อุตสาหกรรม เศรษฐกิจและสังคมก้าวหน้าไปพร้อมกัน เน้นคุณภาพและความสุขของชาวเมืองเป็นหลัก
จากการพักผ่อนเดินเล่นรอบเมืองในเวลาสั้นๆ ในช่วงบ่าย ผู้เขียนได้คำตอบมาบ้างแล้วว่า ทำไมเมืองนี้จึงได้รับยกย่องเป็นเมืองต้นแบบของจีน จะเห็นได้จากความสะอาด ความเป็นระเบียบ อากาศบริสุทธิ์ สภาพแวดล้อมดี และปลอดภัย อีกทั้งมีการวางผังเมืองอย่างเป็นระเบียบ นำตึกเก่าทรงยุโรปสวยงามมาเป็นสำนักงานของทั้งภาครัฐและเอกชน ยังคงอนุรักษ์การใช้เส้นทางเดินรถรางไฟฟ้าแบบเก่าไว้ในตัวเมืองจนเลียบย่านท่าเรือ และในเมืองนี้ไม่มีสะพานลอยเลย เพราะว่าทางเมืองได้สร้างทางเดินใต้ดินเพื่อข้ามถนนตรงทางแยกไว้แล้ว ถือว่าเป็นการวางแผนที่ปลอดภัยและสร้างสรรค์มากในแง่การวางผังเมือง ซึ่งสะท้อนถึงวิสัยทัศน์ของผู้บริหารพัฒนาเมืองนี้ ที่เห็นคุณค่าทั้งทางด้านสถาปัตยกรรมและความปลอดภัยของชาวเมืองในเวลาเดียวกันด้วย
สุชารัตน์ สถาพรอานนท์
13 กันยายน 2554