กับแพนดาในเมืองเฉิงตู
ในทริปวันที่สองของการเดินทางมากับคณะซีอาร์ไอ ได้พักในโรงแรมที่เฉิงตู เห็นถุงกระดาษเขียนวลี "Chengdu Never say Goodbye" ยังรู้สึกว่าเป็นก็อปปี้ไรต์ที่ดี ค่อนข้างมีปฎิสัมพันธ์ง่ายๆ และเป็นมิตร
"ศูนย์วิจัยเพาะพันธุ์ แพนด้า" Never say Goodbye
ความรู้สึกที่ผู้คนมีต่อสวนสัตว์นั้นอาจจะไม่ต่างกัน เพราะที่คุ้นเคยก็คือจะเป็นสวนสัตว์ที่เอาสัตว์มารวมไว้โดยไม่สนใจว่าจะอยู่อย่างไร เน้นศูนย์กลางอยู่ที่คนดูเข้าว่า เอาเข้าจริง ก็เลยเป็นแบบว่า คนส่วนใหญ่ขอไปดู (ครั้งเดียวพอ) และถ้าลูกไม่ขอ ก็คงไม่เข้าไปอีก ซึ่งลูกๆ ก็มักไม่ขอแล้วซะด้วย
แต่ศูนย์วิจัยฯ แพนด้าที่เฉิงตูนี้ ต่างกัน (ในเสฉวนฯ ซึ่งเป็นถิ่นกำเนิดแพนด้าร้อยละ 80 ของโลก มีศูนย์วิจัยแพนด้าอยู่มาก) สร้างเมื่อปี 1987 โดยเริ่มต้นจากการช่วยเหลือแพนด้าไม่กี่ตัวให้ได้กลับไปอยู่ในพื้นที่ถิ่นอาศัยฯ และอยู่ห่างจากตัวเมืองเฉิงตูมาราว 10 `กม.เท่านั้น
ที่ว่าต่างคือ บรรยากาศการเดินในศูนย์ฯ ซึ่งจริงๆ ก็คือเขตรักษาพันธุ์สัตว์ ดีๆ นี่เอง เป็นการสร้างขึ้นโดยให้ "สัตว์" เป็นศูนย์กลาง และจัดเส้นทางเดินชมไว้อย่างแคบๆ และมีความเป็นธรรมชาติ แม้จะทำให้เห็นแพนด้าไม่ง่ายเหมือนอยู่ในกรง แต่เท่าที่ดู ทุกๆ คนก็มีความสุขกับการได้เห็น และได้หา ขณะเด็กๆ ก็น่าจะเดินดูได้นาน (ถ้าไม่กลัวเป็นหวัดเพราะอากาศที่หนาวเย็นขนาดดอยสูงในไทย )
สิ่งที่น่าสนใจอีกอย่างคือ ดูว่าจะเป็นมาตรฐานของการท่องเที่ยวจีนแล้วที่จะใช้เฉพาะรถไฟฟ้า รับส่งนักท่องเที่ยว ซึ่งเงียบและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
มีจุดหนึ่งที่คิดว่า ถ้าทางการท้องถิ่นจีนดูแลหรือปรับปรุง เช่น ห้องจัดแสดง"นิทรรศการแพนด้า" โดยใช้นวัตกรรมใหม่ๆ จะทำให้ศูนย์แห่งนี้ ดึงดูดเข้าขั้นสร้างแรงบันดาลใจเด็กๆ ได้ทีเดียว
ในเขื่อนตูเจียงเอี้ยน
"เขื่อนตูเจียงเอี้ยน"
ในความคิดเห็นส่วนตัวนั้น ค่อนข้างเชื่อว่า ภาพวาดแนวเทือกเขาชิงเฉิงซาน กับแม่น้ำหมินเจียงในวันนี้ ก็คือภาพวาดเดียวกันที่ยังคงใกล้เคียงกับอดีตเมื่อ 2,000 ปีก่อน และภายใต้การดูแลอนุรักษ์ของรัฐบาลจีนร่วมกับสถานะของการเป็นมรดกโลก จะทำให้ที่นี่จะยังเป็นภาพที่สืบทอดไปถึงคนรุ่นต่อไป
"ทำนบกั้นน้ำ หรือเขื่อนตูเจียงเอี้ยน" นี้ นับเป็นระบบโยธาโบราณซึ่งออกแบบเพื่อแยกลำน้ำหมินเจียงอันเชี่ยวกรากออกเป็นสองสาย สายหนึ่งเข้าพื้นที่ราบของเมืองตูเจียงเอี้ยน อีกสายก็เดินไปตามลำน้ำธรรมชาติออกไป ทำให้แก้ปัญหาได้ทั้งน้ำท่วมในฤดูน้ำหลาก และขาดน้ำในฤดูแล้ง เพราะไหลผ่านทิ้งไป
ในการได้มามองสายน้ำสองสายที่ถูกแบ่งนี้ ทำให้คิดเทียบเปรียบ วิธีคิดของท่านหลี่ปิง ซึ่งเป็นผู้ออกแบบฯ เขื่อน เพื่อต้องการแก้ปัญหาความเดือดร้อนของชาวเมือง ขณะดำรงตำแหน่งเจ้าเมืองเสฉวนในเวลานั้น จนในที่สุด ริเริ่มสร้างเขื่อนและขุดคลอง รองรับสายน้ำสองสายที่ถูกแบ่งออกนี้ได้สำเร็จ เหมือนเป็นการพัฒนาเทคโนโลยีที่ผสานกับหลักการแนวคิดของเต๋า ซึ่งกล่าวถึงการเคารพนบนอบต่อธรรมชาติ ไม่ฝืนขืนต้าน อันขัดแก่นแกนของการอยู่ร่วมกับสรรพสิ่ง และแนวคิดเต๋านี้ ก็ยังเป็นอู่วัฒนธรรมของจีนจนทุกวันนี้
ภาพและเรื่อง โดย เกรียงไกร พรพิพัฒน์กุล ผู้สื่อข่าวผู้จัดการ และ ไช่ เจี้ยนซิน ผู้สื่อข่าวซีอาร์ไอ