นี่เป็นสก็อตวิสกี้ขวดหนึ่ง ที่ผ่านเวลามาเนิ่นนาน สีเหลืองอำพัน น้ำสุราระเหยไปจนเหลือเพียงแค่ครึ่งขวด
นายหวาง เสี่ยวโป นักวิชาการด้านประวัติศาสตร์ชื่อดังของไต้หวันบอกว่า สุราขวดนี้ควรได้รับขนานนามว่า "สมบัติแห่งชาติ" สิ่งที่ล้ำค่าไม่ใช่อยู่ที่อายุของสุรา แต่ที่สำคัญอยู่ที่มีประวัติศาสตร์เบื้องหลังที่น่าสนใจ
เมื่อเดือนสิงหาคมปี 1913 ดร.ซุน ยัตเซ็นเดินทางไปเกาะไต้หวันของจีน และเอาสุราขวดนี้ไปมอบให้กับนายเลี่ยว จิ้นผิง ฝ่ายต่อต้านการรุกรานของทหารญี่ปุ่น ผู้สื่อข่าวได้เข้าชม "หอที่ระลึกเหตุการณ์ 28 กุมภาฯ " และสัมภาษณ์นายเลี่ยว จี้ปิน หลานชายคนโตของนายเลี่ยว ซึ่งกล่าวถึงความเป็นมาของเหล้าขวดนี้ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของประวัติศาสตร์เกี่ยวกับประชาชนไต้หวันสนับสนุนการปฏิบัติของมาตุภูมิ
ดร.ซุน ยัตเซ็นเคยไปเยือนเกาะไต้หวัน 3 ครั้ง เมื่อเดือนสิงหาคมปี 1913 ดร.ซุน ยัตเซ็นก่อการปฏิวัติและนำทหารสู้รบกับหยวน ซื่อไข่ ผู้ครองอำนาจรัฐในสมัยนั้น แต่ไม่สำเร็จ และต้องลี้ภัยไปญี่ปุ่น ต่อจากนั้นแวะไปยังเกาะไต้หวัน เนื่องจากถูกทหารญี่ปุ่นควบคุมติดตามอย่างใกล้ชิด ดร.ซุน ยัตเซ็นจึงอยู่บนเกาะเพียงแค่ 10 ชั่วโมง แต่ในช่วงเวลาสั้นๆ นี้ เขายังได้พบปะอย่างลับๆกับฝ่ายต่อต้านญี่ปุ่นหลายคน คือ นาย เวิง จุ้นหมิง นายเจี่ยง เว่อส่วย นายหลัว ฝูซิงและนายเลี่ยว จิ้นผิง
นายเลี่ยว จี้ปิง หลานชายของนายเลี่ยว จิ้นผิงกล่าวว่า "เวลานั้น คุณปู่ได้นำ เงิน 60,000เยนที่เก็บรวบรวมมาจากกลุ่มบุคคลรักชาติ ไปฝากให้ดร.ซุนยัตเ็ซ็น เพื่อสมทบทุนสำหรับการปฏิวัติ ส่วนดร.ซุน ยัตเซ็นคงไม่มีของมีค่าใดติดตัว จึงมอบสุรา 2 ขวด ขวดหนึ่งมอบให้กับนายเจี่ยง เว่อส่วย อีกขวดหนึ่งมอบให้คุณปู่ "
ไม่นานหลังจากนั้น นายเจี่ยง เว่อส่วยก็ดื่มสุราขวดนั้นจนหมด ส่วนนายเลี่ยว จิ้นผิงคิดว่าสุราขวดนี้มีค่ายิ่งกว่าเพชร เลยเก็บสะสมไว้ในบ้าน
สำหรับประวัติของนายเลี่ยว จิ้นผิง เขาเกิดวันที่ 17 กรกฏาคม ปี 1895 ในเขตภาคกลางของไต้หวัน เวลานั้น ซูสีไทเฮายกเกาะไต้หวันให้กับญี่ปุ่น เนื่องจากยอมแพ้สงคราม
ตระกูลเลี่ยวเป็นครอบครัวที่มีชื่อเสียงในท้องถิ่น แต่ในสายตาของสมาชิกของครอบครัว นายเลี่ยว จิ้นผิงถูกเห็นว่ามีพันธุกรรมแบบกบฏ แม้ว่าเขาเกิดในครอบครัวร่ำรวย สามารถใช้ชีวิตอย่างมีความสุขและสบายมาก แต่เขากลับเลือกเดินอีกหนทางหนึ่ง ช่วงที่ญี่ป่นุยึดครองไต้หวันอยู่นั้น เขาได้จัดตั้งสมาคมวัฒนธรรมไต้หวัน และก่อตั้งพรรคประชาชนไต้หวันขึ้นเพื่อต่อต้านญี่ปุ่น เพื่อนำเสรีภาพและเกียรติยศกลับคืนสู่พี่น้องร่วมชาติที่กำลังถูกกดขี่อยู่ จึงเคยถูกทหารญี่ปุ่นจับตัวไปคุมขังหลายครั้ง
หลังผ่านการต่อสู้อย่างทรหดเป็นเวลานาน ไต้หวันได้คืนสู่มาตุภูมิอีกครั้ง แต่หลังจากนั้นอีก 2 ปี คือในปี 1947 นายเลี่ยว จิ้นผิง กลับถูกพรรคก๊กมิ่งตั๋งประหารชีวิตในเหตุการณ์ " 28 กุมภาฯ "
เหตุการณ์ " 28 กุมภาฯ " ที่เกิดขึ้นบนเกาะไต้หวัน เป็นการเคลื่อนไหวของนักประชาธิปไตยรักชาติที่ต่อต้านเผด็จการและการปกครองแบบเน่าเฟะของพรรคก๊กมิ่งตั๋งที่นำโดยเจียง ไคเช็กในสมัยนั้น เหตุการณ์๋ครั้งนั้น มีชาวไต้หวัน นักเรียนและบุคคลมีชื่อเสียงในแวดวงต่างๆ จำนวนมากถูกจับและประหารชีวิด
นายเลี่ยว จี้ปิน กล่าวว่า "มีทหารและตำรวจบุกเข้ามาในบ้านเราและพยายามค้นหาสิ่งของที่เรียกว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับการกบฏ เวลานั้น คุณปู่คงรู้ตัวดีว่า ตัวเองอาจจะประสบเคราะห์ร้าย จึงบอกกับลูกสาวคนที่สองว่า ให้รีบแต่งงาน และเอาสุราขวดนั้นไปเก็บไว้ให้ดี "
เวลาผ่านไปหลายสิบปี จนถึงปี 2005 ในวันรำลึกวาระครบรอบ 58 ปี ของเหตุการณ์ " 28 กุมภาฯ " ผู้คนจึงได้เห็นสุราขวดนี้อีกครั้ง ในพิธีเปิดกิจกรรมครั้งนั้น นายเลี่ยว เต๋อเจิ้งและนายเลี่ยว เต๋อสง ลูกชายสองคนของนายเลี่ยว จิ้นผิงยกภาพถ่ายก่ิอนเสียชีวิตของคุณพ่อคือนายเลี่ยว จิ้นผิง และกล่าวแสดงต่อหน้านายหม่า อิงจิ่ว ซึ่งเป็นอดีตนายกเทศมนตรีเมืองไทเปว่า หลังจาก "หอการเคลื่อนไหววัฒนธรรมใหม่" สร้างแล้วเสร็จ เราจะมอบเหล้าขวดนี้ให้โดยไม่คิดค่าราคาใดๆ
การสร้าง "หอการเคลื่อนไหววัฒนธรรมใหม่" มีวัตถุประสงค์ที่จะจัดแสดงประวัติศาสตร์ช่วงระหว่างทศวรรษ 1910 – 1930 ภายใต้การกดขี่อย่างร้ายแรงจากทหารญี่ปุ่่น กลุ่มบุคคลรักชาติของไต้หวันได้พากันเผยแพร่จิตสำนึกสมัยใหม่ เพื่อต่อต้านการรุกรานและการปกครองของญี่ปุ่น
นายเลี่ยว จี้ปินกล่าวว่า มีเพื่อนบางคนบอกกับผมว่า สุราขวดนี้มีค่ามาก น่าจะขายได้ราคามหาศาล แต่ผมบอกกับพวกเขาว่า สุราขวดนี้เกี่ยวข้องกับจิตใจและชีวิตของบรรพบุรุษ ถ้าเอาไปขาย ก็เหมือนกับขายหน้าตาของบ้านตัวเอง คุณค่าทางประวัติศาสตร์ของสุราขวดนี้เป็นสิ่งที่ล้ำค่ายิ่งกว่าสิ่งใด
ภายใน "หอที่ระลึกเหตุการณ์ 28 กุมภาฯ " ผู้สื่อข่าวใช้เวลาทั้งบ่ายรับฟังเรื่องเล่าเกี่ยวกับวิสกี้ขวดนี้ที่มีประวัติศาสตร์เกือบ 100 ปี ขณะอำลากัน ตะวันกำลังจะตกดิน แสงอาทิตย์ส่องสาดอาบไว้ขวดสุราประวัติศาสตร์ สีทองและอบอุ่น เหมือนกับได้สัมผัสกับความกระตือรือร้นในการปฏิวัติของดร.ซุน ยัตเซ็น ตลอดจนความตื่นเต้นของนายเลี่ยว จิ้นผิง หนุ่มวัย 18 ปีในเวลานั้น ที่ยกสองมือรับสุราขวดนี้ไว้
สุราขวดนี้ มิเพียงเป็น "สมบัติของตระกูลเลี่ยว" เท่านั้น แต่ได้สะท้อนให้เห็นถึงความสัมพันธ์อันลึกซึ้งระหว่างดร.ซุน ยัตเซ็นซึ่งเป็นบุคคลผู้ยิ่งใหญ่กับเกาะไต้หวันของจีน เป็น "สมบัติของชาติ" ที่ยืนยันว่า พี่น้องร่วมชาติสองฟากฝั่งไต้หวันร่วมกันต่อต้านการรุกรานของญี่ปุ่น และจับมือกันฟื้นฟูประชาชาติจีน
(Ton/Lin)