เมื่อค.ศ.1911 เพื่อปราบปรามประชาชนในเสฉวนที่ก่อการปฏิวัติ ราชสำนักชิงส่งกองทัพประจำมณฑลหูเป่ยเข้าไปยังเสฉวน ทำให้เหลือกำลังทหารประจำที่หูเป่ยน้อยลง สมาิชิกพรรคปฏิวัติจึงตัดสินใจถือโอกาสนี้ก่อการปฏิวัติที่ตำบลอู่ชังของเมืองอู่ฮั่น มณฑลหูเป่ย เมื่อคืนวันที่ 10 ตุลาคม สมาชิกพรรคปฏิวัติในค่ายทหารที่ 8 ของกองทัพราชวงศ์ชิงประจำหูเป่ยได้ยกอาวุธขึ้นมาก่อกบฏ เป็นการเปิดฉากการปฏิวัติอู่ชัง รุ่ย เฉิง ผู้ว่าราชการมณฑลหูเป่ยและหูหนันของราชวงศ์ชิง ทุบกำแพงหลังสำนักงานมณฑล แล้วนั่งเรือหนีไปตามแม่น้ำฉางเจียง ทหารปฏิวัติรวมกำลังก่อการโจมตีหลายครั้ง ในที่สุดก็สามารถยึดสำนักงานมณฑลและกองบัญชาการทหารของตำบลอู่ชังก่อนฟ้าสาง ทำให้ทั่วเมืองอู่ชังอยู่ภายใต้การควบคุมของทหารปฏิวัติ
เมื่อได้ข่าวกบฏที่อู่ชังประสบความสำเร็จ สมาชิกพรรคปฏิวัติที่ตำบลฮั่นหยังและฮั่นโข่ว ซึ่งเป็นอีก 2 ตำบลของเมืองอู่ฮั่นก็ทยอยกันก่อกบฏขึ้นมา ทำให้ฮั่นหยังและฮั่นโข่วพ้นจากการปกครองของรัฐบาลแมนจู ภายหลังทหารปฏิวัติควบคุมทั้ง 3 ตำบลของเมืองอู่ฮั่นได้แล้ว ก็ได้จัดตั้งรัฐบาลทหารที่มณฑลหูเป่ย หลี หยวนหงได้รับเลือกให้เป็นผู้ว่าการมณฑลหูเป่ย ตั้งชื่อใหม่ให้ประเทศว่า "สาธารณรัฐจีน" และเรียกร้องประชาชนในมณฑลอื่นๆ ของจีนพากันก่อกบฏขึ้น
ในช่วง 2 เดือนหลังจากการปฏิวัติอู่ชังประสบความสำเร็จ 15 มณฑลรวมทั้งหู หนันและกวางตุ้ง ประกาศไม่ยอมขึ้นต่อราชวงศ์ชิง เมื่อวันที่ 1 มกราคม ค.ศ.1912 รัฐบาลชั่วคราวของสาธารณรัฐสถาปนาขึ้นที่เมืองหนานจิง ดร.ซุน ยัตเซ็นได้รับเืลือกเป็นประธานาธิบดีชั่วคราว เมื่อวันที่ 12 กุมภาพันธ์ ค.ศ.1912 จักรพรรดิผู่อี๋ประกาศสละราชสมบัติ เป็นเครื่องสัญลักษณ์แสดงให้เห็นว่า การปกครองของราชวงศ์ชิงสิ้นสุดลงอย่างเป็นทางการ
ประวัติศาสตร์จีนได้บันทึกและตราตรึงคุณูปการอันยิ่งใหญ่ของการปฏิวัติอู่ชัง การปฏิวัติอู่ชังอวสานการปกครองระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ การที่ทหารปฏิวัติสู่้รบกันอย่างองอาจกล้าหาญ สามารถกำจัดกำลังรบของทหารราชวงศ์ชิงได้อย่างมากและยึดครองเมืองอู่ฮั่นด้วยความสำเร็จนั้น ทำให้พรรคปฏิวัติสามารถตั้งฐานที่มั่นที่ภาคกลางของจีนเพื่อก่อการโจมตีล้มล้างการปกครองของราชวงศ์ชิง ทำให้กระแสการปฏิวัติลุกลามไปทั่วประเทศ จนสร้างผลกระทบอย่างหนักต่อรัฐบาลแมนจู การที่จักรพรรดิผู่อี๋ประกาศสละราชบัลลังก์เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ค.ศ.1912 นั้น เป็นการสิ้นสุดการปกครองนานกว่า 200 ปีของราชวงศ์ชิงและสิ้นสุดระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ในจีนที่ยืดเยื้อกว่า 2,000 ปี
ผลสำเร็จของการปฏิวัติอู่ชัง ได้ปูพื้นฐานสำหรับการสถาปนาประเทศสาธารณรัฐ รัฐบาลทหารมณฑลหูเป่ยที่ก่อตั้งขึ้นหลังการปฏิวัติอู่ชัง นับเป็นแบบจำลองของประเทศสาธารณรัฐ มณฑลอื่นๆ พากันเลียนแบบก่อการปฏิวัติ ส่งเสริมให้สาธารณรัฐสถาปนาขึ้นมาภายในช่วง 2 เดือนหลังจากการปฏิวัติอู่ชัง การก่อตั้งรัฐบาลชั่วคราวซึ่งนำโดยดร.ซุน ยัตเซ็นที่เมืองหนานจิง เป็นชัยชนะอันยิ่งใหญ่ของการปฏิวัติซินไฮ่ การปฏิวัุติอู่ชังซึ่งปะทุขึ้นเมื่อวันที่ 10 ตุลาคมค.ศ.1911 เป็นจุดเริ่มต้นของการปฏิวัติซินไฮ่ ตั้งแต่การปฏิวัติอู่ชังประสบผลสำเร็จ การเคลื่อนไหวเพื่อการปฏิวัติที่ทยอยกันดำเนินขึ้นได้โค่นล้มการปกครองอันเน่าเฟะในช่วงบั้นปลายของราชวงศ์ชิงด้วยความสำเร็จ เป็นการเปิดหน้าใหม่ระบอบประชาธิปไตยของสาธารณรัฐ และส่งเสริมให้กระแสการปกครองในรูปสาธารณรัฐปลูกฝังในชนชั้นสูงและชนชั้นกลางของสังคมอย่างกว้างขวาง
ในการปฏิวัุติเพื่อประชาธิปไตย การปฏิวัติอู่ชังและการปฏิวัติอื่นๆ ที่เป็นองค์ประกอบของการปฏิวัติซินไฮ่ ทำให้ความพยายามของฝ่ายอนุรักษ์นิยมที่สนับสนุนการปกครองระบอบประชาธิปไตยที่มีกษัตริย์อยู่เป็นประมุขประสบความล้มเหลว และได้ส่งอิทธิพลสำคัญยิ่งต่อการพัฒนาการปกครองภายใต้รัฐธรรมนูญและระบบกฏหมาย การเมืองส่วนกลางกับการเมืองท้องถิ่น ความสัมพันธ์ระหว่างรัฐบาลกลางกับทางการท้องถิ่น กิจการต่างประเทศ และสถานการณ์การป้องกันชายแดนของจีน