"ดัชนีความสุข"
  2011-12-28 16:51:49  cri

ถ้าถามว่าความสุขคืออะไร? คงมีคำตอบต่างๆมากมาย เพราะแต่ละคนอาจมีคำจำกัดความตามความเข้าใจของตน ไม่ต้องสงสัยเลยว่า ความสุขเป็นสิ่งที่ใครๆก็อยากได้ และมีคนจำนวนไม่น้อยฟันฝ่าต่อสู้มาโดยตลอดก็เพื่อแสวงหาความสุขให้กับตัวเอง

ตั้งแต่ภูฏานบัญญัติคำว่า "ดัชนีความสุข" ขึ้นเป็นต้นมา หลายปีมานี้ ประเทศต่างๆทั่วโลก เช่น สหรัฐฯ อังกฤษ เนเธอร์แลนด์ และญี่ปุ่น ต่างก็เริ่มทำวิจัยเกี่ยวกับ "ดัชนีความสุข" ในรูปแบบของตน ประเทศจีนก็ไม่ยอมล้าหลังเช่นกัน ปีหลังๆนี้ จีนออกดัชนีความสุขหลายประการ รวมถึง"ดัชนีความสุขมวลรวม" "ดัชนีความสุขชาวจีน" และ"ดัชนีความสุขสภาวิทยาศาสตร์สังคม" เป็นต้น ซึ่งจัดทำโดยหน่วยวิจัยต่างๆ และยังมีกิจกรรมประเมินเมืองแห่งความสุขของจีน

เมื่อเร็วๆนี้ "ดัชนีความสุขชาวจีน" ล่าสุดประกาศที่กรุงปักกิ่ง การสำรวจครั้งนี้ครอบคลุมถึง 287 เมืองทั่วประเทศ โดยสำรวจประชากรชาย 52% และหญิง 48% อายุระหว่าง 20-60 ปี ครอบคลุมกว่า10 สาขาอาชีพ สถิติระบุว่า ดัชนีความสุขของชาวจีนในปัจจุบันคือ 69.84

ในความเห็นของผู้ที่ตอบแบบสอบถามสะท้อนออกมาโดยตรง ความสุขของผู้คนส่วนใหญ่ขึ้นอยู่กับปัจจัยสามประการ ได้แก่ สุขภาพ ครอบครัว และชีวิตสมรส แต่ตามการวิจัยของนักวิเคราะห์ ปัจจัยสำคัญที่สุดต่อความสุขของชาวจีนสามประการคือ ฐานะเศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อมทางสังคม และความบันเทิง โดยเฉพาะปีหลังๆนี้ อิทธิพลของสภาพครอบครัวและชีวิตการแต่งงาน ซึ่งชาวจีนให้ความสำคัญตั้งแต่สมัยอดีตนั้น กำลังลดน้อยลงเรื่อยๆ ส่วนสภาพการพัฒนาและสิ่งแวดล้อมทางเศรษฐกิจค่อยๆกลายเป็นเรื่องใหญ่ในใจของชาวจีน

หากมองอันดับความสุขตามอาชีพสังเกตได้ว่า ข้าราชการเป็นอันดับแรก ถัดไปคือผู้ประกอบอาชีพอสังหาริมทรัพย์ ส่วนผู้ประกอบอาชีพด้านการเงินอยู่อันดับที่สาม

การเป็นข้าราชการทำให้ผู้คนกลุ่มนี้มีความได้เปรียบไม่น้อยในด้านชีวิตครอบครัว เนื่องจากมีรายได้มั่นคงกว่าอาชีพอื่น ผู้ประกอบอาชีพอสังหาริมทรัพย์และผู้ที่ทำงานด้านการเงินต่างได้รับผลประโยชน์มากมายจากการที่เศรษฐกิจจีนพัฒนาอย่างรวดเร็วในปีหลังๆนี้

มองในแง่นี้ บางคนคงสรุปได้ว่า หมู่คนที่มี "ความสุข" มากที่สุดสามอันดับแรกมีจุดร่วมจุดหนึ่ง คือ "ฐานะเศรษฐกิจค่อนข้างดี" เพราะว่าข้าราชการมีรายได้ที่มั่นคงและสวัสดิการที่ดีมาก ส่วนผู้ประกอบอาชีพด้านอสังหาริมทรัพย์และการเงินมีรายได้สูง

แต่ฐานะเศรษฐกิจยิ่งดี จะยิ่งมีความสุขจริงหรือ? ผลการสำรวจตอบว่า ไม่ใช่ แม้ว่าหมู่คนที่มีความสุขสามอันดับแรกล้วนเป็นอาชีพที่ "ไม่ขาดเงิน" แต่ไม่ได้รวมถึงผู้ที่มีรายได้ระดับสูงมากๆในอาชีพเหล่านี้หลายคนเข้าไปด้วย

การสำรวจเกี่ยวกับดัชนีความสุขในอดีตส่วนใหญ่ดำเนินการในเมือง แต่การสำรวจครั้งนี้ไม่เหมือนกัน โดยเป็นผู้อยู่ในเมือง 7,859 คน และในชนบท 7,942 คน ปัจจัยที่เกี่ยวข้องรวมถึงสุขภาพ ฐานะเศรษฐกิจ อาชีพ ครอบครัว ชีวิตสมรส ความสัมพันธ์ในสังคม ความบันเทิง เป็นต้น

ทั้งๆที่มีผู้ตอบแบบสอบถามกว่าครึ่งหนึ่งแสดงว่า เงินเป็นปัจจัยที่มีอิทธิพลสำคัญต่อความสุข แต่ตามผลการสำรวจ ผู้ที่มีรายได้มากกว่า 15000 หยวนต่อเดือนส่วนใหญ่แสดงว่า มีความสุขลดน้อยลง ผู้ที่รู้สึกมีความสุขมากที่สุดส่วนใหญ่มีรายได้ 12000-15000 หยวน

นักวิเคราะห์ระบุว่า การที่ผู้มีรายได้สูงรู้สึกขาดความสุขนั้น ก็เพราะว่า ขณะที่รายได้เพิ่มสูงขึ้น ส่วนใหญ่ความกดดันในการทำงานก็เพิ่มมากขึ้นตาม เมื่อความกดดันเกินกว่าความอดทนแล้ว คงต้องสูญเสียด้านอื่นๆ เช่น ขาดเวลาในการเป็นส่วนตัวและพักผ่อนหย่อนใจ ขาดความอบอุ่นและสนุกสนานกับครอบครัวเนื่องจากมัวแต่ยุ่งกับงาน ก็ย่อมจะทำให้รู้สึกไม่สบายใจ

คนส่วนใหญ่เห็นว่า ผู้ที่อยู่ในเมืองใหญ่อาจรู้สึกว่ามีความสุขมากที่สุด แต่ความจริงต่างจากการคาดคะเนของคนทั่วไป ในการสำรวจครั้งนี้ คนในชนบทส่วนใหญ่อิจฉาคนในเมือง แต่คนในเมืองใหญ่ส่วนใหญ่แสดงความปรารถนาที่จะอยู่ในเมืองขนาดเล็กหรือเมืองขนาดกลาง สิ่งที่เหนือคาดคิดอีกเรื่องหนึ่งคือ คนในภาคเหนือแสดงว่ามีความสุขมากกว่าคนในภาคใต้ ซึ่งเป็นเขตที่เศรษฐกิจดีกว่าเยอะ

นอกจากนี้ การสำรวจครั้งนี้ยังตั้งคำถามว่า ผู้ชายกับผู้หญิง ใครมีความสุขมากกว่า? คำตอบที่ได้คือ คนส่วนใหญ่คิดว่า ผู้หญิงมีความสุขมากกว่าผู้ชาย ผู้หญิงในวัย 28 ปีและผู้ชายในวัย 41 ปีมีความสุขที่สุดในชีวิต

สิ่งที่น่าสนใจคือ ผลการสำรวจระบุว่า ผู้ชายที่แต่งงานแล้วมีความสุขมากกว่าผู้ชายที่ยังเป็นโสต ส่วนผู้หญิงที่หย่าร้างมีความสุขมากกว่าผู้ชายที่หย่าร้าง ผู้หญิงที่หย่าร้างมีความสุขไม่ต่ำกว่าผู้หญิงทั่วไป แต่ผู้หญิงที่เป็นแม่บ้านมีความสุขน้อยกว่าผู้หญิงที่มีงานทำ มีผู้หญิง 77.6% แสดงว่า งานกับครอบครัวมีความสำคัญพอๆกัน มีผู้หญิงแค่ 15.2% แสดงว่า ครอบครัวสำคัญกว่างาน

หลังจากจีนประกาศดัชนีความสุขแล้ว ยังมีผู้กังขาเรื่อยๆ เมื่อวันที่ 6 พฤษภาคมปีนี้ ศูนย์วิจัยเมืองและกำลังแข่งขันสภาวิทยาศาสตร์สังคมจีนประกาศรายงานว่า ชาวจีนที่อยู่ในเมืองส่วนใหญ่รู้สึกมีความสุขเพิ่มขึ้นทุกปี ปัจจุบัน ดัชนีความสุขของผู้คนในเมืองสือเจียจวง มณฑลเหอเป่ยมีมากเป็นอันดับหนึ่ง แต่แฟนเน็ตชาวสือเจียจวงส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วย บางคนล้อว่า เราสัมผัสกับ "ความสุข" แล้ว แต่ทำไมตัวเองมองไม่เห็น?

นางเฉิน เหวินหลิง ผู้อำนวยการสำนักงานวิจัยคณะรัฐมนตรีจีนก็บอกว่า เธอเองก็เป็นคนสือเจียจวง เวลากลับบ้านเกิด ได้ยินแด่เสียงที่ไม่พอใจกับชีวิตเพิ่มมากขึ้นทุกที นายจัง เหลียนเฉิง ผู้อำนวยการสถาบันเศรษฐกิจการค้าปักกิ่ง ซึ่งร่วมทำการวิจัยดัชนีความสุขก็แสดงว่า ขณะที่เศรษฐกิจจีนพัฒนาไปอย่างรวดเร็วในช่วง 30 ที่ผ่านมา ชาวจีนยังไม่พอใจกับชีวิตความเป็นอยู่อย่างเต็มที่ ซึ่งแสดงให้เห็นว่า จีดีพีไม่ได้เป็นปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อความสุขของคนโดยตรง ความสุขต้องขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายอย่าง และจะถูกกระทบจากสิ่งแวดล้อมทั้งภายในและภายนอกอย่างมาก

In/Sun

ลิงค์ที่เกี่ยวข้อง
ตอบคำถามออนไลน์
ทบทวนรายการน่าสนใจ
ภาพยอดฮิต
เว็บไซต์ึเพื่อนซีอาร์ไอ

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

Play Stop
© China Radio International.CRI. All Rights Reserved.
16A Shijingshan Road, Beijing, China. 100040