เก่าเล่าไป ใหม่บอกมา:"มู่อวี๋" ป๊อก ป๊อก เคาะได้เสนาะเตือนใจ
  2013-12-11 17:24:02  cri

ท่ามกลางกลุ่มควันธูปสีขาวและบรรยากาศที่สงบนิ่ง เสียงสวดมนต์ของพระจีนประสานกับเสียงเคาะ"ปลาไม้ - มู่อวี๋木鱼" ดังก้องกังวานแว่วมาเป็นระยะไม่หยุด…

"มู่อวี๋" ถือได้ว่าเป็นหนึ่งในเครื่องใช้ประกอบพิธีกรรมทางศาสนาชิ้นสำคัญของพระสงฆ์จีน ที่มีขนาดเล็กใหญ่ไม่ตายตัว โดยขนาดใหญ่จะมีประจำไว้ที่โถงวิหาร ใช้เคาะประกอบกิจของสงฆ์ ซึ่งแบบใหญ่นั้นยาวเป็นเมตรเลยก็มี และมีแบบที่ห้อยแขวนใช้เคาะยามถึงเวลาฉัน ส่วนแบบเล็กหน่อยก็ตั้งวางบนแท่นให้สะดวกต่อการหยิบสอยใช้งานยามต้องการ

การที่คนจีนเรียกขานกันว่า มู่อวี๋ ที่แปลว่าปลาไม้นั้น เนื่องมาจากรูปลักษณ์ลายสลักภายนอกที่คล้ายคลึงกับปลาและทำมาจากไม้นั่นเอง โดยข้างในกลวงทำให้ยามเคาะมีเสียงดังกังวาน จากเดิมทีใช้เป็นเครื่องดนตรีเครื่องเคาะประกอบพิธีกรรมทางศาสนา ในสมัยราชวงศ์หมิงและชิง มู่อวี๋ไม่ได้ถูกจำกัดไว้แต่เฉพาะกิจของสงฆ์ แต่มีการนำไปเป็นเครื่องดนตรีในรั้วในวัง และรวมถึงเป็นเครื่องดนตรีพื้นเมืองที่เป็นที่นิยมแพร่หลายไปทั่ว

สำหรับกิจของพระสงฆ์จีนยามท่องบทสวดมนต์มักจะต้องเคาะมู่อวี๋ไปด้วยเสมอนั้น เนื่องเพราะมู่อวี๋นอกจากจะเป็นเสมือนเครื่องเคาะให้จังหวะหรือช่วยปรับจังหวะการสวดมนต์ไปด้วยได้ในตัวแล้ว เสียงเคาะมู่อวี๋ยังเป็นเครื่องช่วยเตือนสติรวมสมาธิให้ได้อีกทางหนึ่งด้วย ในหนังสือ "ถังจื๋อเหยียน唐摭言" ที่จดบันทึกเรื่องราวสมัยราชวงศ์ถัง(ค.ศ.618-907) ได้มีเอ่ยถึงเกี่ยวกับมู่อวี๋ไว้ตอนหนึ่งด้วยว่า

มีคนผู้หนึ่งนึกสงสัยและถามไถ่ความกับผู้เฒ่าชาวชมพูทวีปว่า "เหตุไฉนตามวัดกุฏิพระล้วนต่างต้องแขวนมู่อวี๋ไว้?" ผู้เฒ่าว่า "เพื่อเป็นเครื่องเตือนให้กับเหล่าผองชนนั่นกระไร" คนผู้นั้นยังไม่หมดข้อสงสัยจึงถามต่อว่า "แล้วเหตุไฉนจำต้องสลักทำเป็นรูปปลากันด้วยเล่า?" ผู้เฒ่าเงียบไม่ตอบ จึงเรียนถามต่อกับพระอาจารย์ให้ช่วยชี้แนะแถลงไข พระอาจารย์ให้คำตอบว่า "เพราะปลานั้นไม่ว่าจะกลางวันหรือกลางคืนก็ไม่เคยหลับตา หากผู้ฝึกบำเพ็ญตนทั้งหลายมุ่งมั่นรู้ตื่นลืมนอน ก็จะได้บรรลุในหลักแห่งเต๋า"

ดังนั้น ไม่ว่าจะรูปลักษณ์หรือเสียงเคาะที่ดังป๊อกๆ กังวานทั่วของมู่อวี๋นั้น ล้วนแฝงจุดมุ่งหมายสำคัญบนพื้นฐานที่ว่า เพื่อเตือนสติเตือนใจให้พระสงฆ์จีนรำลึกยึดมั่นในพระพุทธ และพระธรรมคำสอนแห่งองค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ มีใจเมตตากรุณานั่นเอง

นอกจากนี้ยังมีเรื่องเล่าเกี่ยวกับรูปลักษณ์ที่มาเหมือนปลาของมู่อวี๋ว่า สืบเนื่องมาจากในยุคสมัยราชวงศ์จิ้น (ค.ศ.265-420) มีการขุดเจอกลองหิน แต่ไม่ว่าจะตีเคาะอย่างไรก็ไม่เกิดเสียง ฮ่องเต้จึงตรัสปรึกษากับพหูสูตรจางหัว ว่าต้องทำการอันใดจึงจะทำให้เกิดเสียงได้ จางหัวจึงให้คนนำไม้ต้นถงมาแกะสลักเป็นรูปปลา พอนำไปเคาะตีกลับมีเสียงดังได้อย่างไม่น่าเชื่อ

เก่าเล่าไปใหม่บอกมา โดย วังฟ้า 羅勇府

ลิงค์ที่เกี่ยวข้อง
ตอบคำถามออนไลน์
ทบทวนรายการน่าสนใจ
ภาพยอดฮิต
เว็บไซต์ึเพื่อนซีอาร์ไอ

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

Play Stop
© China Radio International.CRI. All Rights Reserved.
16A Shijingshan Road, Beijing, China. 100040