สถิติล่าสุดที่ประกาศ ณ สิ้นเดือนกุมภาพันธ์ระบุว่า จีดีพีเฉลี่ยต่อคนของนครเซี่ยงไฮ้ กรุงปักกิ่ง เมืองหางโจว และเมืองอื่นๆ เมื่อปี 2011 มีกว่า 80,000 หยวน หรือ ราว 12,000 ดอลล่าร์สหรัฐฯ ถ้าตามมาตรฐานของธนาคารโลกในปี 2010 ตัวเลขดังกล่าวเป็นมาตรฐานของประเทศระดับกลางและสูงกว่า ใกล้เคียงกับระดับประเทศร่ำรวย อย่างไรก็ตาม ศ.โจว ชิงเจี๋ย สถาบันเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุตสาหกรรมและพาณิชยกรรมปักกิ่งระบุว่า การเติบโตของจีดีพีไม่ได้มีความหมายโดยตรงว่าประชาชนรู้สึกมีความสุขมากขึ้น เขาระบุว่า "การนำจีดีพีไปเปรียบกับดัชนีความสุขนั้น เป็นเรื่องที่ไม่ค่อยเหมาะ เพราะจีดีพีที่จริงเป็นมูลค่าของผลิตภัณฑ์และบริการขั้นสุดท้ายที่ผลิตขึ้นภายในเวลา 1 ปีของประเทศหนึ่ง เป็นดัชนีการผลิต ไม่ได้รวมถึงการก่อมลพิษต่อสิ่งแวดล้อมเนื่องจากทำการผลิตมากขึ้น ผลิตภัณฑ์ที่คุณภาพไม่ได้มาตรฐาน ปัญหาความปลอดภัยอาหาร ความเหลื่อมล้ำทางรายได้ และเวลาพักผ่อนของสังคม เป็นต้น ดังนั้น การเติบโตของจีดีพีไม่ได้หมายความว่า ดัชนีความสุขสูงขึ้น"
ฉะนั้น ทำอย่างไรจึงจะให้ผลการพัฒนาเอื้อประโยชน์แก่ประชาชนและทำให้ประชาชนรู้สึกมีความสุขมากขึ้น จึงกลายเป็นจุดเริ่มต้นและจุดหมายปลายทางของภารกิจของรัฐบาลจีน
อย่างไรก็ตาม เนื่องจากจีนมีพื้นฐานด้อยกว่าและมีจำนวน
ประชากรมาก ฉะนั้น การปรับปรุงชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนให้ดีขึ้น จึงยังห่างไกลจากการคาดหวังของประชาชนค่อนข้างมาก และควรพัฒนาตามหลักวิทยาศาสตร์ นายยวี เจี้ยนหรง นักวิจัย สถาบันวิจัยการพัฒนาชนบท สภาวิทยาศาสตร์สังคมแห่งประเทศจีนระบุว่า ระหว่างเดินหน้าโครงการเกี่ยวกับชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน สมควรยิ่งที่ทางการท้องถิ่นต้องใช้มาตรการต่างๆ ที่ได้ผลจริงและตรงตามนโยบายของรัฐบาลกลางให้บรรลุผลถึงที่สุดอย่างเป็นขั้นเป็นตอน
(IN/LING)