ปีหลังๆ นี้ จีนได้แสดงความคิดเห็นและความกังวลของตนต่อฝ่ายสหรัฐฯ ในการเจรจาแบบทวิภาคีหลายครั้งที่ผ่านมา โดยเรียกร้องให้สหรัฐฯ หยุดการใช้เรือรบและเครื่องบินสอดแนมบริเวณน่านน้ำทะเลของจีน ยกเลิกข้อจำกัดในการส่งออกสินค้านิวไฮเทคต่อจีน ยอมรับฐานะทางเศรษฐกิจการตลาดของจีน ผ่อนคลายเงื่อนไขและข้อจำกัดต่อนักธุรกิจจีนที่ไปลงทุนในสหรัฐฯ เพื่อให้การลงทุนโดยตรงต่อสหรัฐฯ ของจีนดำเนินไปอย่างราบรื่น เป็นต้น
แต่ทว่า หลังจากสหรัฐฯ ประกาศต่อประชาคมโลกว่าจะกลับสู่เอเชียเป็นต้นมา ปฏิบัติการบางอย่างในภูมิภาคเอเชีย - แปซิฟิกของสหรัฐฯ เป็นที่น่าสงสัย โดยเฉพาะเมื่อเร็วๆ นี้ สหรัฐฯ ได้เพิ่มการจัดวางกำลังทางทหารในภูมิภาคมหาสมุทรแปซิฟิกตะวันตก และกระชับความร่วมมือทางทหารกับเวียดนาม ฟิลิปปินส์และออสเตรเลีย สร้างฐานทัพใหม่ ขยายกำลังทหาร จัดการซ้อมรบร่วมขนาดใหญ่ และจำหน่ายอาวุธในเขตนี้มากยิ่งขึ้น อีกทั้งยังวางแผนจะจัดตั้งระบบต่อต้านขีปนาวุธ ขณะเดียวกัน แม้ว่าสหรัฐฯ กล่าวหลายครั้งว่าไม่อยากก้าวก่ายข้อพิพาทในทะเลจีนใต้ แต่สิ่งที่แท้จริงคือ สหรัฐฯ ได้เข้ามาแทรกแซงทะเลจีนใต้แล้ว โดยกล่าวว่า การเดินเรืออย่างเสรีในทะเลจีนใต้เป็นผลประโยชน์แห่งชาติของสหรัฐฯ ซึ่งเป็นการสร้างบรรยากาศตึงเครียด ทำให้ปัญหานี้สลับซับซ้อนยิ่งขึ้น
จีนยินดีให้สหรัฐฯ แสดงบทบาทเชิงสร้างสรรค์ในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก ซึ่งจุดยืนนี้จะไม่เปลี่ยนแปลง สหรัฐฯ น่าจะปฏิบัติตามคำพูดของตน แต่ไม่ควรสื่อข้อความผิดๆ ต่อประเทศที่เกี่ยวข้อง ที่อาจจะทำให้ประเทศเหล่านี้เกิดความเข้าใจผิด และท้าทายจีนในปัญหาเกี่ยวกับข้อพิพาททะเลจีนใต้
เมื่อเข้าสู่ทศวรรษปี 2010 - 2020 ความร่วมมือทางเศรษฐกิจและยุทธศาสตร์ระหว่างประเทศใหญ่ทั้งสองประเทศที่อยู่คนละฝั่งตะวันออกและตะวันตกของมหาสมุทรแปซิฟิกนับวันมากขึ้นเรื่อยๆ มีผลประโยชน์ร่วมกันมากยิ่งขึ้น มีการกระชับความร่วมมือเพื่อต่างฝ่ายต่างได้รับประโยชน์เป็นแนวโน้มสำคัญ และมีบทบาทสำคัญต่อการพัฒนาของทั้งสองประเทศ การเจรจาทางยุทธศาสตร์และเศรษฐกิจมีส่วนช่วยขยายผลประโยชน์ร่วมกันของทั้งสองฝ่าย และลดข้อขัดแย้งให้น้อยลง
(Ton/Lin)