การออกไปรบทัพจับศึก บัญชาการกองทัพ หลายคนคงคิดว่าเป็นเรื่องของเหล่านายทหารมืออาชีพ ไม่เกี่ยวข้องอะไรกับราษฎรเดินดินอย่างเราท่านทั้งหลาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยามที่บ้านเมืองสงบสุข ไร้ข้าศึกมาแผ้วพาน ซึ่งแตกต่างกับสภาพสังคมจีนสมัยโบราณที่เต็มไปด้วยการศึกสงคราม เรื่องราวที่พูดคุยกันหลังอาหารก็ล้วนแต่เป็นเรื่องผลพวงการแพ้ชนะของสงคราม ซึ่งคนที่เป็นแพทย์ต่างก็ได้สัมผัสมากับตัวเอง และทราบดีแก่ใจว่าหลังไหล่ของตนที่สะพายกระเป๋าร่วมยาใบหนึ่งนั้นได้แบกรับเอาชีวิตของผู้ป่วยเอาไว้พร้อมกัน เพราะสำหรับพวกเขาแล้ว นั่นไม่ต่างกับการเข้าสู่สมรภูมิรบในฐานะของนายทหารคนหนึ่ง ที่ต้องบัญชาการกองทัพ (สั่งยา) ที่แลกมาด้วยเลือดเนื้อและชีวิต (ของคนไข้)
ถ้าหากได้ลองนึกภาพว่าร่างกายของผู้ป่วยที่ได้รับเชื้อโรคจากภายนอก เป็นเสมือนกับฐานที่มั่นที่ถูกศัตรูหรือฝ่ายตรงข้ามยึดครองไปได้ชั่วคราว ถ้าหากมีการจัดสรรกองกำลังที่ดีก็อาจมีโอกาสตอบโต้ฟื้นฟูกรรมสิทธิ์ที่เคยปกครองกลับคืนมา แต่ถ้าหากล้มเหลวก็เท่ากับสูญเสียดินแดนส่วนหนึ่งไปตลอดกาล หรืออาจก่อให้เกิดความเสียหายใหญ่หลวงตามมา นั่นคือทั้งอาณาจักรล่มสลาย ซึ่งก็คือร่างกายที่ "หมดลม" นั่นเอง
สำหรับเคล็ดลับในการ "บัญชาการศึก" นั้น ได้มีอรรถาธิบายอยู่ในตำราแพทย์จีน "อีเสียว์หยวนหลิวลุ่น" – อรรถาธิบายว่าด้วยต้นธารของการแพทย์จีน ที่เขียนขึ้นโดยสีว์ต้าชุน แพทย์เลื่องชื่อในสมัยราชวงศ์ชิง โดยส่วนหนึ่งกล่าวว่า
ร่างกายของคนเราดำรงชีวิตอยู่ได้ด้วยธัญพืชทั้งห้า* ที่หล่อเลี้ยงชีวิต มีผลไม้เป็นส่วน (ช่วย)เสริม เนื้อสัตว์เพื่อประโยชน์เพิ่มพูน (สร้างความแข็งแรง) และผักสดเป็นส่วนประสมเติมเต็ม และมียา (พิษ) ใช้โจมตีข้าศึกที่มารุกราน ดังนั้น แม้จะเป็นโสมหรือชะเอม (ยาบำรุงที่มีฤทธิ์แรง) หากใช้ผิดพลาดไปก็อาจกลายเป็นโทษภัยได้ เหล่านี้จึงถูกจัดให้อยู่ในหมวดของยาที่มีฤทธิ์เป็นพิษ
คนโบราณกล่าวว่าผู้ชื่นชอบในการบริโภค มักเจ็บป่วยด้วยโรคประหลาดฉันใด ผู้ที่รักการทำศึกสงครามต่อตี ย่อมจักไม่ตายด้วยเหตุอันปกติฉันนั้น การยกกองกำลังทหารเข้าห้ำหั่นเอาชัยกันจึงกระทำต่อเมื่อยามคับขันจำเป็นเท่านั้น และเช่นเดียวกัน การใช้ตัวยาใดๆ ก็ล้วนเป็นไปด้วยจำต้องรักษาโรคร้ายเท่านั้น ซึ่งหากไม่ถึงคราวจำเป็นจริงๆ ก็ไม่ควรใช้ ดังนั้นแพทย์ที่สั่งยาพร่ำเพรื่อจึงไม่อาจนับว่าเป็นแพทย์ฝีมือดีได้