"ระบำไม้ต่อขา" บางทีก็เรียกว่า "ระบำยางเกอต่อขาไม้" เป็นระบำพื้นเมืองที่เผยแพร่ในทั่วประเทศจีน เวลาทำการแสดงจะต้องเอาไม้มาต่อที่เท้าให้สูงขึ้น ระบำชนิดนี้มีมาช้านาน เริ่มต้นจากการแสดงในงิ้วร้อยชนิดจากสมัยโบราณ โดยมีหลักฐานจากเป็นหินแกะสลักในสมัยราชวงศ์เว่ยเหนือ ระบำไม้ต่อขาจะแสดงกันเป็นขบวน ประกอบด้วยนักแสดงเพียงไม่กี่คนจนถึงหลายสิบคน โดยนักแสดงมักจะแต่งตัวตามละครในนิทานโบราณหรือวรรณกรรม แต่งตัวเหมือนแสดงงิ้ว อุปกรณ์การแสดงมักจะประกอบด้วยพัด ผ้าเช็ดมือ กระบอง และอาวุธประเภทดาบและหอก การแสดงจะแบ่งเป็น 2 ประเภท ได้แก่ การเดินขบวนแห่กับการแสดงในลานกว้าง การแสดงในลานนั้นยังแบ่งออกเป็นประเภทลานใหญ่และลานเล็กด้วย การแสดงในลานใหญ่จะเดินวนกันเป็นขบวน เดินไปรำไปและแปรขบวนเป็นรูปต่างๆ ไปด้วย ส่วนการแสดงในลานเล็กจะเป็นการรำคู่ชายหญิงจำนวนหลายคู่ รำไปร้องไปด้วยลีลารื่นเริง ไม้ที่ใช้ต่อขาจะมีความสูงตั้งแต่ 30-300 เซนติเมตร จากรูปการแสดง จะแบ่งเป็นรำแบบบุ๊นที่เน้นการหมุนตัวและแสดงเป็นเรื่องราว และรำแบบบู๊ซึ่งจะเน้นการแสดงฝีมือเดิน
ระบำไม้ต่อขาที่เมืองไห่เฉิงมีประวัติศาสตร์ช้านานโดยสืบย้อนหลังไปได้กว่า 300 ปี ตามเอกสารของราชวงศ์ชิง ในสมัยนั้น ระบำไม้ต่อขาของเมืองไห่เฉิงมีคณะนาฏศิลป์กึ่งมืออาชีพ ทุกคนต่างมีฝีมือยอดเยี่ยม อีกทั้งยังมีคนมาฝึกรำมากมาย ศิลปินรุ่นแรกใน ค.ศ.1820 มี "เสี่ยว จินจื่อ" และ "ต้า หลัยจื่อ" และรุ่นที่ 2 ในปี ค.ศ. 1887 มี 6 คน ได้ตั้งนามในการแสดงตามดอกเก๊กฮวย 6 สี คือ แดง ชมพู เหลือง น้ำเงิน ขาว และเขียว รุ่นที่ 3 ในปี ค.ศ.1902 คือจาง จิ่วหริง(หรือ ไป๋ ช่ายซิน) รุ่นที่ 4 ในค.ศ. 1940 คือ อู ขุยอี (หรือ จวา ตี้หู่) และ หวาง เฟิ่งเสียง(หรือ กุ่น ตี้เหลย) รุ่นที่ 5 ใน ค.ศ. 1951 คือ หวาง เหลียนเฉิง (หรือ หวาง เสี่ยวเปี้ยน) รุ่นที่ 6 ใน ค.ศ. 1970 คือ เฉิน สื้อโหย่ว และ ฉิน ลี่ นอกจากนี้ ยังมีนักแสดงฝีมือยอดเยี่ยมอีกหลายคน
ระบำไม้ต่อขาไห่เฉิงเป็นระบำพื้นเมืองที่ได้รับความนิยมจากประชาชน มีความคึกคักและยิ่งใหญ่ ลงตัวด้วยความงดงามของการสื่ออารมณ์และความสนุกสนาน ทั้งสองอย่างประกอบเป็นเอกลักษณ์ศิลปะของระบำไม้ต่อขาไห่เฉิง โดยมีปัจจัยสำคัญ 4 อย่าง เช่น การเดินบิดตัว การหยอกเย้า การเล่นหัว และการประสานท่าทางกัน ระบำไม้ต่อขาไห่เฉิง ไม่ว่าเล่นในลานใหญ่หรือลานเล็กล้วนประกอบด้วยดนตรี กายกรรม และงิ้ว โดยมีศิลปะการระบำพื้นเมืองเป็นหลัก ระบำไม้ต่อขาไห่เฉิงเป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวางทั้งในและต่างประเทศ เมื่อ ค.ศ.1988 สามารถคว้าแชมป์จากการประกวดระบำพื้นเมืองในลานกว้างทั่วประเทศ และเข้าร่วมการแสดงขนาดใหญ่ทั้งในจีนและต่างประเทศหลายครั้งตั้งแต่ ค.ศ. 1997 เป็นต้นมา การแสดงระบำไม้ต่อขาไห่เฉิงมีเอกลักษณ์แห่งภาคตะวันออกเฉียงเหนือของจีนที่ไม่เหมือนใคร
(Ton/Ping)