การประชุมผู้นำเอเปกประจำปีนี้เปิดขึ้นภายใต้สถานการณ์ใหม่ดังต่อไปนี้ เศรษฐกิจโลกฟื้นตัวอย่างเชื่องช้า ขณะที่วิกฤตการเงินยังไม่ได้ผ่านพ้นไปอย่างแท้จริง สหรัฐอเมริกาเร่งย้ายเป้าหมายทางยุทธศาสตร์มายังตะวันออกเร็วขึ้น โดยญี่ปุ่นตอบสนองอย่างเต็มที่ ส่วนรัสเซียก็ทุ่มเทกำลังต่อภูมิภาคนี้มากขึ้นทุกด้าน และจีน "ให้การสนับสนุน" อย่างเข้มแข็งต่อไป โดยยึดหลักยุทธศาสตร์สร้าง "ภูมิภาครอบข้างที่มีความสมานฉันท์" ภายใต้ภูมิหลังเช่นนี้ การประชุมผู้นำประจำปีนี้จึงกำหนดประเด็นว่า "การหลอมรวมเพื่อการพัฒนา การสร้างสรรค์เพื่อความเจริญรุ่งเรือง" ซึ่งได้รับความเห็นชอบจากทุกประเทศสมาชิก คาดว่าผู้นำประเทศสมาชิกต่างๆ จะพิจารณาเรื่องการเปิดเสรีทางการค้าและการลงทุนเป็นอันดับแรก รวมถึงการให้เศรษฐกิจภูมิภาคเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน เพิ่มความมั่นคงทางอาหาร ตลอดจนเพิ่มความร่วมมือด้านความคิดสร้างสรรค์และรักษาการเติบโต
สำหรับปัญหาความมั่นคงทางอาหาร ซึ่งเป็นปัญหาที่ผู้คนสนใจมากนั้น แต่ละประเทศสมาชิกมีข้อแย้งไม่มากนัก จึงคาดว่าจะประสบผลเป็นที่น่าพอใจค่อนข้างมาก ส่วนปัญหาผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นปัญหาที่เกี่ยวข้องกับการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและพลังงานนั้น แต่ละประเทศสมาชิกล้วนให้ความสำคัญในระดับที่ต่างกัน ดั้งนั้น จึงมีความเป็นไปได้ที่จะเป็นอีกหนึ่งประเด็นหลักของการประชุมครั้งนี้ เวลานี้ ในด้านผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม สหรัฐฯ อยู่นำหน้าประเทศอื่น หากสหรัฐฯ ปฏิบัติตาม "เจตนารมณ์แห่งครอบครัวใหญ่" และสนับสนุนวาระสำคัญของการประชุมเอเปก ก็จะสามารถสร้างผลประโยชน์ให้กับทุกฝ่าย กล่าวได้ว่าเป็น "ความร่วมมือที่ได้รับประโยชน์ด้วยกัน" แต่หากสหรัฐฯ กดดันประเทศอื่นด้วย "ความเหนือกว่าของตน" สถานเดียว โดยเรียกร้องให้ลดภาษีศุลกากรเหลือ 0% สำหรับผลิตภัณฑ์ดังกล่าวที่นำเข้าจากสหรัฐฯ และใช้สองมาตรฐานต่อประเทศกำลังพัฒนาอย่างจีน ก็จะได้รับผลในทางตรงกันข้าม จึงคาดการณ์ได้ว่า ในที่ประชุมผู้นำครั้งนี้ ด้วยการเจรจากันอย่างจริงจัง ทุกประเทศสมาชิกอาจจะพิจารณาถึงภาพรวมของสถานการณ์ และมีฉันทามติในระดับหนึ่ง เพื่อเปิดเสรีทางการค้าและการลงทุนส่วนภูมิภาคได้มากขึ้น และผลักดันเอเปกให้ย่างก้าวไปอีกขั้น
(TON/LING)