"ไปกำแพงเมืองจีน" เป็นคำตอบที่ทุกคนต้องเอ่ยเมื่อตั้งใจจะเดินทางมาเมืองจีน
และ "ปาต๋าหลิง" จุดชมกำแพงเมืองจีนที่ขึ้นชื่อที่สุดเรื่องความสะดวกสบายในการเดินทาง ทั้งยังได้รับการอนุรักษ์และบูรณะซ่อมแซมไว้ในสภาพที่ดีเยี่ยม จึงถูกบรรจุเป็นจุดหมาย หรือเป็นทางเลือกที่ดีที่สุดหากต้องการสัมผัสกับกำแพงเมืองจีนที่กรุงปักกิ่ง ซึ่งบริษัททัวร์ทุกแห่งเลือกนำนักท่องเที่ยวไปยังจุดนี้ เพราะเดินง่าย ไม่ลาดชันจนเกินไป แถมเหมาะสำหรับผู้สูงอายุ เพราะมีกระเช้าให้นั่งไปยังยอดเขา และยังมีรถเลื่อนให้นั่งไหลลงอย่างยอดเขาสำหรับคนที่รักความตื่นเต้นและผจญภัย
ที่ว่ามาง่ายนั้นก็ง่ายจริงๆ เพราะสามารถนั่งรถไฟจากตัวเมืองปักกิ่งไปถึงได้ภายในเวลาชั่วโมงเศษ สนนราคาค่าโดยสารก็เพียง 3 หยวน หรือจะเลือกนั่งรถบัสสาย 909 ซึ่งมีต้นสายอยู่ด้านตอนเหนือของถนนวงแหวนที่สองของกรุงปักกิ่งไปก็ได้
ดังนั้นจึงไม่แปลกที่ปีหนึ่งๆ "ปาต๋าหลิ่ง" จะมีนักท่องเที่ยวทั้งจากมณฑลต่างๆ ของจีนและชาวต่างประเทศแวะเวียนมาไม่ได้ขาด
แต่ด้วยชื่อเสียงของกำแพงยักษ์ที่มีความยาวกว่า "50,000 ลี้" จึงมีคนถามขึ้นด้วยความสงสัยว่า สิ่งมหัศจรรย์ของโลกแห่งนี้สามารถไปเยี่ยมชมได้เพียงจุดเดียวเท่านั้นหรืออย่างไร
"คำตอบคือ ไม่ใช่" เพราะแต่ละด่านที่กระจัดกระจายอยู่ตลอดความยาวนั้นล้วนมีที่ให้เที่ยวชมและสัมผัสกับความยิ่งใหญ่ของกำแพงเมืองจีนทั้งสิ้น
แต่ด้วยว่าส่วนอื่นของกำแพงเมืองจีนมีอายุเก่าแก่กว่า และไม่ได้รับการดูแลรักษาอย่างดีเท่าที่ควร อีกทั้งบางแห่งไม่ได้เปิดเป็นแหล่งท่องเที่ยวอย่างเป็นทางการจึงมีแต่ชาวบ้านและชาวจีนบางกลุ่มเท่านั้นที่ดั้นด้นไปเที่ยวชม และอีกเหตุผลหนึ่งที่สำคัญก็เพราะว่ากำแพงเมืองจีนแต่ละส่วนนั้นถูกสร้างขึ้นคนละยุคคนละสมัยกัน ดังนั้นส่วนที่สร้างขึ้นแรกๆ ตั้งแต่สมัยราชวงศ์ฉินก็ผุพังไปตามกาลเวลา บางแห่งที่พาดผ่านทะเลทรายก็เหลือเพียงแต่กองดินที่สูงแค่หัวเข่า บางแห่งก็ถูกลมฝนเซาะจนมีสภาพเป็นเพียงชะง่อนหินที่ผุดขึ้นเหนือพื้นดิน ส่วนกำแพงที่สร้างขึ้นในภายหลัง โดยเฉพาะในยุคของราชวงศ์หมิงและชิง ซึ่งมีกรุงปักกิ่งเป็นเมืองหลวงจึงมีสภาพที่ดีกว่า และส่วนใหญ่ก็ตั้งตระหง่านรายรอบเมืองนี่เอง
จึงไม่แปลกที่ใครหมายมุ่งจะมากรุงปักกิ่ง จึงตั้งใจจะไปเหยียบกำแพงเมืองจีนให้ได้สักครั้งในชีวิต
แต่คนส่วนใหญ่ โดยเฉพาะคนที่ซื้อทัวร์มา ส่วนใหญ่ก็มักจะถูกลากให้มาแค่ "ปาต๋าหลิ่ง" เท่านั้นเอง ซึ่งจริงๆ แล้วยังมีส่วนอื่นๆ ที่เรียงรายจากยอดเขาหนึ่งไปสู่อีกยอดเขาหนึ่งที่ทอดตัวอย่างสลับซับซ้อนอยู่ทางตอนเหนือของกรุงปักกิ่งนั้นยังมีจุดชมกำแพงเมืองจีนที่น่าสนใจและท้าทาายอยู่อีกมาก
อย่างเช่นจุดที่ชื่อว่า "ซือหม่าไถ" "จินซานหลิ่ง" และกู่เป่ยโข่ว" ซึ่งทอดตัวเชื่อมต่อกันอยู่บนเทือกเขาที่ยาวเหยียดกางกั้นกรุงปักกิ่งกับมณฑลเหอเป่ย เป็นสถานที่ชมกำแพงเมืองจีนที่น่าตื่นตาตื่นใจที่สุดและท้าทายคนที่รักการผจญภัยอย่างยิ่ง
เช่นที่ "กู่เป่ยโข่ว" กำแพงเมืองจีนจุดนี้ยังไม่ได้รับการบูรณะแต่อย่างไร ป้อมปราการทรุดตัวลงมา หญ้าขึ้นเต็มทางเดิน ขอบกำแพงแตกหล่น หินบิ่นหักกองระเกะระกะ ความเก่าแก่และซีดจางตามกาลเวลา 500 กว่าปีที่มันถูกสร้างขึ้นมาจึงเป็นเสน่ห์ที่ดึงดูดใจนักปีนเขาทั้งจีนและต่างชาติให้บุกบั่นเข้าไปสัมผัสความยิ่งใหญ่และอัศจรรย์ใจทุกฤดูกาล
เมื่ออาทิตย์ที่ผ่านมาผู้เขียนมีโอกาสเดินทางไปยัง "จินซานหลิ่ง" กับเพื่นอคนไทยที่แบกเป้มาเที่ยวกรุงปักกิ่ง ซึ่งเธอบอกว่า "ต้องไปกำแพงให้ได้" เหมือนกันทุกคน เพียงแต่มีข้อแม้ว่า "ต้องไปซือหม่าไถเท่านั้น" เพราะเคยไป "ปาต๋าหลิ่ง" มาแล้วเมื่อปีกลาย แต่ไม่ประทับใจ เพราะมีแต่คนเต็มกำแพงไปหมด โดยเฉพาะคณะทัวร์ลูกเป็ดชาวจีนที่เดินกันให้ขวักไขว่ระเกะระกะ ทำให้ไม่สามารถหาที่นั่งหรือหยุดชมความความได้อย่างจุใจ คราวนี้จึงศึกษาข้อมูลก่อนมาอย่างดีว่า ส่วนไหนของกำแพงเมืองจีนของกรุงปักกิ่งที่คนน้อย ท้าทาย และเก่าแก่ ให้บรรยากาศความเป็นกำแพงเมืองจีนอย่างแท้จริงที่สุด ที่สำคัญคือ ต้องไม่ใช่จุดที่เป็นแหล่งท่องเที่ยวสำคัญอย่างนี้
คำตอบก็คือ "ซือหม่าไถ"
การเดินทางก็ไม่ได้ลำบากมากนัก เพราะสามารถนั่งรถประจำทางสาย 980 จากสถานีตงจื้อเหมิน (Dongzhimen) แล้วไปลงที่อำเภอมี้หยุน ช่วงนี้ใช้เวลาราวชั่วโมงครึ่ง จากนั้นเรียกรถแท็กซี่(รถรับจ้างของชาวบ้าน) ซึ่งต้องต่อรองราคากันเอาเองว่าเท่าไร จากป้ายรถประจำทางของมี้หยุนต่อไปยังตีนเขา เพื่อขึ้นไปยังซือหม่าไถใช้เวลาอีกประมาณชั่วโมงครึ่งเช่นกัน รวมแล้ว 3 ชั๋วโมง
การต่อราคารถแท็กซี่นั้นก็แล้วแต่ความพอใจของเรา โดยปกติคนขับจะเรียกสูงไว้ก่อน อย่างกรณีของเราถูกเรียกไว้ที่ 550 หยวนต่อ 2 คน ซึ่งเป็นค่ารถไปกลับ 160 กิโลเมตร ค่าทางด่วน ค่าจอดรถ และค่าเสียเวลารอ ซึ่งใครคิดว่าสมเหตุสมผลแล้วจะจ่ายราคานี้ก็ได้ แต่ของผู้เขียนกับเพื่อนนั้น เราต่อได้ 400 หยวน ซึ่งคิดว่าพอใจกับราคานี้แล้ว ซึ่งคิดเป็นเงินไทยก็ตกคนละ 1,000 บาทเท่านั้น
ระหว่างที่เราต่อรองราคาอยู่นี้ คนขับก็บอกว่า "ซือหม่าไถ" ที่เราต้องการไปนั้นขณะนี้กำลังปิดซ้อมแซมเป็นเวลา 2 ปี ถ้าจะไปกำแพงที่ทรหดพอกัน เขาก็แนะนำให้เราเปลี่ยนไป "จินซานหลิ่ง" ซึ่งตั้งอยู่ตรงกลางระหว่าง "วือหม่าไถ" และ "กู่เป่ยโข่ว" โดยคิดค่าโดยสารเท่าเดิม เราจึงตกลงใจเบนจุดหมายไปยังสถานที่ดังกล่าว
คนขับพาเราไปส่งยังจุดขายตั๋วทางทิศเหนือ ซึ่งตั้งอยู่ที่ฝั่งมณฑลเหอเป่ย และขับวนไปรอรับเราในอีก 3-4 ชั่วโมงข้างหน้าที่จุดจอดรถด้านทิศตะวันออก แถมยังให้แผนที่กำกับการเดินมาด้วย พร้อมทั้งกำชับให้หาอาหารกินรองท้อง ตระเตรียมน้ำเปล่าและขนมขบเคี้ยวไปกินระหว่างทางด้วย
สำหรับค่าบัตรเข้าในช่วงฤดูร้อนนี้ตกที่ 65 หยวน เพราะว่าเป็นฤดูท่องเที่ยว แพงกว่าหน้าหนาวที่คิดเพียง 45 หยวน
ที่ทางเข้าสังเกตได้ว่าสินค้าที่ขายดีที่สุดคือ ไม้ค้ำสำหรับนักปีนเขาที่ทำด้วยอลูมิเนียมหรือไททาเนียมอย่างดี สาเหตุก็คงเป็นเพราะเส้นทางเดินที่ยาวกว่า 5 กิโลเมตร และต้องขึ้นๆ ลงๆ กำแพงที่พื้นทางเดินขรุขระ บางแห่งก็มีขั้นบันไดที่สูงเกินกว่าปกติที่คนส่วนสูงระดับมาตรฐานชายไทยจะกว่าขึ้นได้ในก้าวเดียว จึงต้องการตัวช่วยรั้ง ดัน และทรงตัวบนก้อนหินบางก้อนที่เอียงง่อนแง่น
ซึ่งเสียดายอย่างยิ่งที่ไม่ได้ซื้อติดมือมาด้วย เพราะเมื่อขึ้นไปถึงตัวกำแพงจริงๆ นั้น ผู้เขียนกับเพื่อนต่างโทษกันไปมาว่าเหตุไฉนจึงเชื่อว่ากำลังวังชาของคนหนุ่มอย่างเราจะสามารถรับมือไหวกับเส้นทางที่ท้าทายนี้ได้
บนยอดกำแพงของ "จินซานหลิ่ง" โล่งตาจากหัวมนุษย์ที่เบียดเสียดกันราวกับปลาในเขตอภัยทานหน้าวัดของ "ปาต๋าหลิ่ง" แต่กับเต็มตาไปด้วยแนวเทือกเขาอันเขียวขจีของหน้าร้อน เมื่อทอดสายตาออกไปจะเห็นป้อมปราการของกำแพงเมืองจีนยืนตระหง่านอยู่บนจุดสูงสุดของแต่ละยอด เรียงต่อกันไปเหมือนไม่รู้จักจบสิ้น
จุดแปลกตากว่ากำแพงเมืองจีนอื่นที่เคยเห็นมาคือ ที่นี่มีเชิงบันไดที่ทำเป็นห้องกั้น คล้ายกับว่าเอาไว้ดักศัตรูเมื่อปีนกำแพงขึ้นมาได้ ช่องยิงธนูก็มีขนาดใหญ่ อีกทั้งแต่ละป้อมใหญ่ๆ ยังมีช่องที่ใช้สอดปากกระบอกปืนใหญ่ด้วย
ก้อนหินแต่ละก้อนบนกำแพงแห่งนี้ยังปราศจากร่องรอยของจำนวนเท้านักท่องเที่ยว บางแห่งแตกผุจนเห็นว่าบันไดแต่ละขั้นสร้างขึ้นมาอย่างไร เรียงอิฐก้อนไหนก่อน ป้อมบางแห่งก็พังทลายลงมาจนเหลือผนังอยู่เพียงด้านเดียว ทางเดินระหว่างป้อมบางแห่งราวระเบียงก็ล่วงหลุดหายไป
เราต่างมีความสุขที่ได้มีโอกาสมาสัมผัสความงดงามที่แท้จริงของกำแพงยักษ์แห่งนี้ มีโอกาสได้จินตนาการถึงว่าเมื่อครั้วที่มันสมบูรณ์นั้นหน้าเป็นอย่างไร วิญญาณของนักโบราณคดีแผ่ซ่านไปทั่วทุกอณู ไม่ว่ายามเดินหรือนั่งพัก สายตาจะสอดส่ายดูพื้นหิน ดูราวระเบียง ดูพื้นที่รอบข้าง แล้วประมวลภาพขึ้นในใจ
การได้มาเที่ยวกำแพงเมืองจีนส่วนที่เก่าแก่ และยังไม่ได้รับการอนุรักษ์มากอย่างนี้ มีความสุขก็ตรงที่เราได้คิดจินตนาการเอง ไม่เหมือนไปส่วนที่มีความสมบูรณ์มากๆ อย่าง "ปาต๋าหลิ่ง" ที่นอกจากจะไม่เปิดโอกาสให้เราหยุดชมแล้ว ยังจำกัดภาพคิดในใจของเราด้วย
ดังนั้น ที่ "จินซานหลิ่ง" เราจึงสูดเอาไออดีตและภาพแห่งประวัติศาสตร์ที่เราคิดเออออเอาเองในใจได้อย่างเต็มที่
นอกจากนี้ ระหว่างระยะทางกว่า 5 กิโลเมตร ไม่แค่ต้องต่อสู้กับความอึดของตัวเองเท่านั้น ไหนจะเส้นทางที่ขรุขระ หรือบางแห่งที่ชันเกินว่า 50 องศาจึงเกิดปรั๙ยาสว่างวาบขึ้นในใจว่า
"จงเพ่งสายตาจับจ้องก้าวแรกเสมอ อย่าไปสนว่าทางข้างหน้าที่ไกลกว่านั้นเป็นอย่างไร เช่นเดียวกับอย่าหันกลับไปมองทางข้างหลังที่เราป่ายปีนผ่านมาแล้ว"
ทั้งนี้ก็เพื่อให้ทุกก้าวย่างของเรามีความมั่นคง ปลอดภัย ไม่สั่นคลอน ซึ่งหากเปรียบกับชีวิตแล้ว การระวัดระวังเช่นนี้ก็ย่อมจะทำให้การดำเนินชีวิตด้านอื่นดำเนินไปอย่างราบรื่นด้วยเช่นกัน
ดังนั้นบนระยะทางกว่า 5 กิโลเมตรนี้ เราจึงฟ่าฟันมาได้อย่างไร้อุบัติเหตุอันตรายใดๆ เพราะทุกก้าวตั้งอยู่บนความไม่ประมาท แม้มีสิ่งท้าทายมากมายเพียงไรก็ตาม ซึ่งทำให้ใจกวัดไปถึงหนังสือเล่มหนึ่งที่ชื่อว่า "เดินป่าเสาะหาชีวิตจริง" ด้วยเพราะครูในการดำเนินชีวิตของเราล้วนอยู่ในธรรมชาติทุกหนทุกแห่งที่ไม่คุ้นเคยนั่นเอง
แต่ไม่รู้ว่าเราระมัดระวังแต่ละก้าวกันมากเกินไปหรือไม่ เพราะเมื่อมองนาฬิกาข้อมือหลังลงมาถึงตีนเขาแล้วนั้น ปรากฎว่าเราใช้เวลาเดินไปทั้งหมดประมาณ 5 ชั่วโมง ทำให้คนขับรถยืนเท้าเอวรอด้วยความกระวนกระวายว่าเราตกเขาตายไปก่อนจะมาจ่ายค่าเหมาหรืออย่างไร
"กำแพงเมืองจีน" ไม่ได้มีเพียงจุดเดียวให้ชม ยิ่งไปในที่แตกต่างมากขึ้น ท้าทายมากขึ้น ก็ยิ่งจะได้เห็นมุมมองใหม่ที่ท้ายมากขึ้น และที่สุดแล้วสามารถนำมาต่อยอดเป็นแนวความคิดที่ถามย้อนเข้าไปในตัวเองได้เสมอ
พัลลภ สามสี