เฉิงตูตั้งเป้าใช้เวลา 50 ปีช่วยแพนด้ากลับสู่ธรรมชาติ
เมื่อปี 1953 ในเขตภูเขาเมืองเฉิงตูพบแพนด้าที่ดำรงชีวิตอยู่ตามป่าตัวแรกในสภาพที่ได้รับบาดเจ็บ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ให้การรักษาพยาบาลและช่วยชีวิตแพนด้าตัวนี้ไว้ด้วยความสำเร็จ เป็นการเริ่มต้นกระบวนการอนุรักษ์แพนด้าของจีน เมื่อทศวรรษ 1970 – 1980 เกิดเหตุการณ์ไม้ใผ่ที่ขึ้นตามธรรมชาติในแหล่งที่อยู่อาศัยของแพนด้าออกดอกพร้อมกันแล้วตายไปเป็นจำนวนมาก เป็นเหตุให้แพนด้าตกอยู่ในภาวะขาดแคลนอาหารอย่างรุนแรง หลังจากนั้นโรคติดต่อของสัตว์ป่าซึ่งระบาดขึ้นอย่างกระทันหันก็กลายเป็นภัยคุกคามหนึ่งด้วยเช่นกัน สภาพการดำรงอยู่ของแพนด้าในธรรมชาติได้รับความห่วงใยจากชาวโลกอย่างกว้างขวาง
ด้วยเหตุนี้ เฉิงตูซึ่งเป็นบ้านเกิดแพนด้า จึงรีบสร้างศูนย์วิจัยการผสมพันธุ์และเพาะเลี้ยงแพนด้าขึ้นมา และเริ่มปฏิบัติงานการช่วยชีวิต สืบพันธุ์และอนุรักษ์อย่างเร่งด่วน จนถึงปัจจุบัน ศูนย์วิจัยแห่งนี้ได้ประสบความสำเร็จในการผสมพันธุ์แพนด้าจนออกลูกมา 115 ครั้ง รวมเป็นแพนด้าแรกเกิดทั้งหมด 175 ตัว ทำให้จำนวนแพนด้าที่เลี้ยงดูด้วยมนุษย์ในประเทศจีนเพิ่มขึ้นถึง 328 ตัว
แต่ทว่า นายจาง จื้อเหอ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยการผสมพันธ์และเพาะเลี้ยงแพนด้าเฉิงตูแนะนำว่า มีเพียงแต่ปล่อยแพนด้าให้ดำรงชีวิตด้วยตนเองในธรรมชาติ และช่วยพวกมันเท่าที่จะทำได้เพื่อพัฒนาพวกมันกลายเป็นสัตว์ป่าที่มีจำนวนเติบโตอย่างมั่นคง แพนด้าที่กลับสู่ธรรมชาติจึงมีความเป็นไปได้ที่จะดำรงอยู่และสืบพันธุ์ต่ออย่างปลอดภัยอย่างถาวร เขากล่าวว่า จีนใช้เวลา 50 ปีกอบกู้และช่วยเหลือแพนด้า สัตว์ล้ำค่าที่ใกล้สูญพันธุ์ชนิดนี้ ต่อไปในอนาคต หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะใช้ความพยายามร่วมกันต่อ เพื่อบรรลุเป้าหมายในการช่วยให้แพนด้าเคยชินกับสิ่งแวดล้อมในป่า และสามารถหากินได้อย่างอิสระในธรรมชาติในช่วง 50 ปีข้างหน้า
จริงๆ แล้ว การปล่อยแพนด้าให้กลับสู่ธรรมชาติเผชิญกับการท้าทายหลายอย่าง พร้อมๆ กับการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของมนุษย์ แหล่งที่อยู่อาศัยที่เหมาะสมกับแพนด้ามีพื้นที่น้อยลงเรื่อยๆ กลุ่มแพนด้าที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติถูกไล่ล่าทำลายจนสูญหายหรือแบ่งเป็นกลุ่มเล็กๆ ปัญหาทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี สังคม เศรษฐกิจและด้านกฎหมายที่มนุษย์สร้างขึ้นมา เป็นปัญหาอย่างใหญ่หลวงต่อการปล่อยแพนด้ากลับสู่ธรรมชาติ
ปัจจุบัน เมืองเฉิงตูได้ส่งเสริมแนวคิดแบบ "มนุษย์เอื้อเฟื้อแพนด้า" กำหนดพื้นที่เขตภูเขา 1,770,000 เฮกตาร์ให้เป็นหลักแหล่งถิ่นฐานของแพนด้า และยอมเสียสละผลประโยชน์ของอุตสาหกรรมบางชนิดและโครงการก่อสร้างบางส่วน เพื่ออนุรักษ์ระบบนิเวศในท้องถิ่น ขณะนี้ ทางการมณฑลเสฉวนใช้มาตรการส่งเสริมให้ชาวบ้านรื้อถอนพื้นที่เพาะปลูกและขยายพื้นที่ป่าไม้ และปลุกระดมให้ชาวนาตัดต้นไม้และไม้ใผ่ในป่าให้น้อยลง เพื่อคุ้มครองสิ่งแวดล้อมการดำรงอยู่ของแพนด้าอย่างเต็มที่
เหยา หมิงเรียกร้องให้อนุรักษ์แพนด้า
เหยา หมิง ผู้ก่อตั้ง "มูลนิธิเหยา" และนักบาสเกตบอลชาวจีนที่ได้สร้างชื่อเสียงโด่งดังจากสนามแข่งขันบาสเกตบอลอาชีพเอ็นบีเอของสหรัฐฯ เป็นความภาคภูมิใจของชาวจีนทั่วประเทศ เคยได้รับการยกย่องจากนิตยสาร "ไทมส์" ให้เป็นหนึ่งใน "100 บุคคลที่มีอิทธิพลสูงที่สุดของโลก" ก่อนสิ้นสุดอาชีพนักบาสฯ เหยา หมิงก็ได้อุทิศตนกับกิจการการกุศล มีโฆษณาทางโทรทัศน์ที่เหยา หมิงเรียกร้องผู้คนให้เลิกบริโภคหูฉลามและอนุรักษ์ปลาฉลามเผยแพร่ผ่านสื่อต่างๆ ในประเทศอย่างกว้างขวาง คราวนี้ "มูลนิธิเหยา" จับมือศูนย์วิจัยการผสมพันธ์และเพาะเลี้ยงแพนด้าและสมาคมช่วยเหลือสัตว์ป่า ร่วมจัดกิจกรรมรับสมัคร "ทูตผู้พิทักษ์แพนด้าประจำปี 2012" จึงย่อมมีส่วนช่วยให้งานครั้งนี้ดึงดูดสายตาจากทั้งชาวจีนและชาวโลกจำนวนมากยิ่งขึ้น
เหยา หมิงกล่าวขณะให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าวว่า การอนุรักษ์แพนด้าเป็นความเห็นร่วมกันของสังคมมานานแล้ว นอกจากไม่มีใครไปไล่ล่าแพนด้าแล้ว ตรงกันข้าม ผู้คนยินดีที่จะใช้ความพยายามพัฒนาสิ่งแวดล้อมธรรมชาติให้เอื้อต่อการอยู่อาศัยของแพนด้า พร้อมเตรียมอาหารคุณภาพดีให้แก่แพนด้า นับว่าเป็นสิ่งที่น่ายินดีอย่างยิ่ง แพนด้าเป็นสัตว์ป่าที่มีประวัติศาสตร์นานหลายล้านปี แต่พร้อมๆ กับความก้าวหน้าของสังคม โครงการก่อสร้างขนาดใหญ่ อย่างเช่นการตัดถนน การสร้างทางหลวงและสิ่งอำนวยความสะดวกขั้นพื้นฐานในชนบทหรือเขตภูเขา ล้วนส่งผลกระทบต่อแหล่งที่อยู่อาศัยในธรรมชาติของแพนด้า ทำให้พื้นที่ป่าไม้ถูกทำลายหรือลดน้อยลง บริเวณการเคลื่อนไหวของแพนด้าในธรรมชาติจึงลดน้อยลงตามไปด้วย
ถ้าพิจารณาในแง่นี้แล้ว เนื่องจากสิ่งแวดล้อมการดำรงชีวิตในธรรมชาติของแพนด้าไม่ได้รับการอนุรักษ์เพียงพอ และความสัมพันธ์ระหว่างกลุ่มแพนด้าที่แตกต่างกันจึงถูกตัดขาดจากการเคลื่อนไหวของมนุษย์ แพนด้าในธรรมชาติจึงยังคงเป็นสัตว์ป่าที่เผชิญกับความเสี่ยงที่จะสูญพันธุ์ เหยา หมิงสนับสนุนปฏิบัติการดูแลรักษาแพนด้าอย่างเต็มที่ และหวังว่า ผู้คนจำนวนมากยิ่งขึ้นจะตระหนักได้ว่า การอนุรักษ์แพนด้าไม่เพียงแต่หมายถึงดูแลรักษาตัวของมันเตรียมที่พักและอาหารชั้นดีให้แพนด้าในสวนสัตว์เท่านั้น การอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมแหล่งที่อยู่อาศัยตามธรรมชาติของแพนด้าก็เป็นเรื่องสำคัญด้วยเช่นกัน
ชาวเน็ตจีนจำนวนมากชื่นชมเหยา หมิงและ "มูลนิธิเหยา" ที่ดำเนินความร่วมมือกับศูนย์แพนด้าเฉิงตูเพื่อร่วมประชาสัมพันธ์การอนุรักษ์ สัตว์คู่บ้านคู่เมืองของประเทศ โดยเชื่อว่า ชื่อเสียงโด่งดังและอิทธิพลระดับสูงของเหยา หมิง เป็นโฆษณาที่มีประสิทธิภาพสูงสุดสำหรับกิจกรรมรับสมัครผู้พิทักษ์แพนด้าจากทั่วโลก และหวังว่า ที่เหยา หมิงมีส่วนร่วมจะดึงดูดบุคคลที่มีชื่อเสียงในสังคมให้หันมาแสดงบทบาทสร้างสรรค์ต่อการคุ้มครองหลักแหล่งถิ่นฐานการครองชีพของแพนด้าในธรรมชาติมากยิ่งขึ้นด้วย
การที่เฉิงตูประกาศรับสมัคร "ทูตผู้พิทักษ์แพนด้าจากทั่วโลก" เป็นที่จับตามองกันของสื่อมวลชนทั่วโลกอย่างใกล้ชิด สำนักข่าวเอพี เครือข่ายโทรทัศน์ซีเอ็นเอ็นของสหรัฐฯ หนังสือพิมพ์เหลียนเหอเจ่าเป้า สถานีโทรทัศน์ของสิงคโปร์ หนังสือพิมพ์หมิงเป้าของไต้หวัน ฯลฯ ต่างติดตามรายงานข่าวเกี่ยวกับตำแหน่งงานอาศาสมัครที่น่าใฝ่ฝันสำหรับคนรักสัตว์ และความคืบหน้าของการประกวดทูตผู้พิทักษ์แพนด้าระดับโลก ข่าวที่เกี่ยวข้องได้แพร่หลายอย่างกว้างขวางในสหรัฐฯ อังกฤษ ฝรั่งเศส เบลเยี่ยม ออสเตรีย ฟินแลนด์ เกาหลีใต้ สิงคโปร์ อินเดีย และสเปน เป็นต้น
ประสบการณ์ชีวิตที่จะสัมผัสกับแพนด้า สัตว์ล้ำค่ายิ่งที่มีหน้าตาและกิริยาแสนน่ารักอย่างใกล้ชิด และเดินทางรอบโลกเพื่อถ่ายทอดความรู้การดูแลเลี้ยงแพนด้าให้กับทุกประเทศที่รับแพนด้าจีนไปเลี้ยงอยู่ ย่อมเป็นโอกาสที่น่าใฝ่ฝันของแฟนๆ แพนด้าทั่วโลก ถ้าท่านรักแพนด้าด้วยความจริงใจ และปรารถนาที่จะไปเพลิดเพลินแพนด้าแสนน่ารักในจีนและทั่วโลก ก็รีบไปเข้าร่วมการแข่งขันชิงตำแหน่งงานทูตผู้พิทักษ์แพนด้า เชื่อว่าความรู้ความสามารถที่ท่านได้ครอบครอง จะทำให้แพนด้าที่รับเชิญไปอยู่ในประเทศต่างๆได้รับประโยชน์ที่แท้จริง รวมทั้งหลิน ปิงในสวนสัตว์เชียงใหม่ด้วย
โดย ผาไท