กล่าวในแง่หนึ่ง ความเป็นอุตสาหกรรมส่งเสริมการผลิตและอุปทาน ส่วนความเป็นเมืองสร้างความต้องการ มิเพียงแต่ความต้องการที่เกิดจากการมีประชากรย้ายเข้าไปอยู่ในเมืองมากขึ้นเท่านั้น หากยังมีความต้องการด้านการสร้างสิ่งอำนวยความสะดวกขั้นพื้นฐาน สิ่งสาธารณูปโภคและบ้านอยู่อาศัยด้วย ทั้งหมดนี้เมื่อรวมกันแล้วจึงกลายเป็นความต้องการที่ใหญ่มาก
ปี 2011 ระดับความเป็นเมืองของจีนเกินกว่า 50% แล้ว ซึ่งนับว่าเป็นการเปลี่ยนแปลงเชิงประวัติศาสตร์ของโครงสร้างสังคมจีน แต่เบื้องหลังตัวเลขนี้ มีปัญหาแฝงอยู่ไม่น้อย โดยรายงานของกระทรวงทรัพยากรมนุษย์และประกันสังคมแสดงว่า จนถึงปี 2011 เกษตรกรที่เข้าไปทำงานในเมืองกว่า 250 ล้านคน มีไม่ถึง 1 ใน 5 ได้เข้าร่วมระบบประกันสังคม และตัวเลขจากสำนักงานสถิติแห่งชาติระบุว่า ในบรรดาเกษตรกรดังกล่าว มีเพียง 0.7% เท่านั้นมีบ้านที่เป็นของตัวเองอยู่ในเมือง
ผู้นำจีนเคยกล่าวไว้ว่า ความเป็นเมืองไม่ได้หมายถึงจำนวนประชากรในเมืองเพิ่มขึ้นหรือพื้นที่ของเมืองขยายกว้างขึ้นเท่านั้น หากยังต้องมีการเปลี่ยนแปลงจากหมู่บ้านสู่เมืองในด้านต่างๆ อาทิ การพัฒนาธุรกิจแขนงต่างๆ สิ่งแวดล้อมที่เอื้อต่อการอยู่อาศัย การประกันสังคมและรูปแบบการใช้ชีวิตเป็นต้น ความเป็นเมืองที่ด้อยคุณภาพ เกิดจากระบบต่างๆ ดังกล่าวไม่ได้รับการพัฒนาอย่างเพียงพอ นอกจากนี้ การจำกัดในด้านระบบที่ดิน ระบบสำมะโนครัวและระบบอื่นๆ ทำให้กระบวนการพัฒนาที่มุ่งเป้าสู่ความเป็นเมืองซึ่งเกิดขึ้นพร้อมกับการพัฒนาอย่างรวดเร็วของเศรษฐกิจ กลายเป็นสิ่งที่พัฒนาแบบไม่สมบูรณ์