ช่วงนี้เป็นช่วงที่หนาวที่สุดในรอบปี ตั้งแต่สมัยโบราณ พอถึงช่วงเดือนสิบสอง (ตามจันทรคติ) ผู้คนก็ลงมือเตรียมอาหารประเภทเนื้อสัตว์สำหรับเทศกาลตรุษจีน นั่นก็คือ ความเป็นมาของการรับประทาน "เนื้ออบยามฤดูหนาว" ในสมัยโบราณ อาหารที่นิยมที่สุดในฤดูหนาวก็คือ อาหารประเภทเนื้อสัตว์ ทั้งเนื้อสุนัข เนื้อแพะ และเนื้อสุกร เพราะต้องการสารอาหารและพลังงานเพื่อต้านความหนาว
สมัยราชวงศ์จิ๋นและฮั่นนิยมเนื้อสุนัข
สมัยนี้ไม่ค่อยมีการรับประทานเนื้อสุนัขเท่าไร แต่ในสมัยราชวงศ์จิ๋น (221-206 ปีก่อนคริสตกาล) และฮั่น (206 ปีก่อนคริสตกาล-ค.ศ.220) กลับมีการนิยมกันมาก มากกว่าเนื้อแพะและเนื้อสุกรเสียอีก ส่วนอาชีพฆ่าสุนัขก็เป็นอาชีพที่นิยมเช่นกัน โดยเชื่อกันว่า "เนื้อสุนัขช่วยให้ร่างกายอุ่น เป็นของบำรุงร่างกาย"
หลักฐานโบราณคดีระบุว่า เมื่อเดือนพฤศจิกายน ปี 2010 มีการขุดพบซากโบราณ "ซุปเนื้อสุนัข" ในหม้อทองสัมฤทธิ์ สุสานสมัยราชวงศ์จิ๋นอายุกว่า 2,400 ปี รอบๆ สนามบินเสียนหยาง เมืองซีอัน มณฑลส่านซี ซึ่งเป็นเมืองหลวงของราชวงศ์จิ๋น
สมัยราชวงศ์ถังนิยมทานเนื้อแพะ
พอถึงสมัยราชวงศ์ถัง (ค.ศ 618-907) เนื้อสุนัขไม่ค่อยเป็นที่นิยมอีก ผู้คนหันมารับประทานเนื้อแพะแทน และรับประทานในฤดูหนาวมากที่สุด
วิธีการปรุงเนื้อแพะในสมัยราชวงศ์ถังมีหลากหลาย เช่น "หยางเกิง" หรือ "ซุปเนื้อแพะ" "หยางโร่วเพ่าโหมว" หรือ "แผ่นหมันโถวแช่ในซุปเนื้อแพะ" เป็นอาหารที่มีชื่อเสียงในมณฑลส่านซีตั้งแต่สมัยราชวงศ์ถาง
ซุปเนื้อแพะอร่อยดี เนื้อแพะย่างก็มีอีกรสหนึ่ง อย่าง "สเต๊กเนื้อแพะ" ก็เป็นอาหารอีกอย่างหนึ่งที่ตกทอดมาจนถึงทุกวันนี้
สำนักราชวงศ์ชิงเดือนหนึ่งใช้สุกร 210 ตัว
เมื่อเทียบกับเนื้อสุนัขและเนื้อแพะแล้ว เนื้อสุกรก็เป็นอาหารหลักสำหรับชาวจีนเช่นกัน แต่คนโบราณมีความเชื่อว่า เนื้อสุกร "มีฤทธิ์เย็น มีพิษเล็กน้อย" "ทานเป็นเวลานานจะทำให้อ้วน"
อย่างไรก็ตาม เนื้อสุกรราคาย่อมเยา นับวันได้รับความนิยมมากขึ้น แทบจะเป็นอาหารพื้นบ้านและอาหารสามัญธรรมดา
เอกสารสำนักราชวงศ์ชิง (ค.ศ. 1644-1911) ฉบับหนึ่งระบุว่า ในเดือนอ้าย ปีที่ 44 ของรัชกาลเฉียนหลง ซึ่งตรงกับปี ค.ศ. 1782 แต่ละเดือนทางราชสำนักต้องใช้สุกรกว่า 210 ตัว น้ำหนักกว่า 18,000 ชั่ง นอกจากนี้ ยังรับประทานขาหมู กระเพาะเนื้อหมู หัวใจและปอดหมู น้ำมันหมู ตลอดจนลูกหมูย่าง
ทั้งนี้แสดงว่า เมื่อกิจการเลี้ยงสัตว์เจริญรุ่งเรืองขึ้น ผู้คนก็มีโอกาสรับประทานอาหารประเภทเนื้อสัตว์มากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในฤดูหนาว
(YIM/LING)