จีนปริทรรศน์:คืนชีพวรรณกรรมจีน
  2013-03-18 13:16:49  cri

ตั้งแต่เมื่อปลายปีที่แล้ว หลังจากที่ชาวจีนทั้งประเทศทราบข่าวว่า "โม่เหยียน" ได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลโนเบลสาขาวรรณกรรม กระแสการเฟ้นหาหนังสือของเขามาอ่านก็สะพัดขึ้น และยิ่งลุกโหมเมื่อ "โม่เหยียน" ถูกทางสถาบันสวิสอะคาเดมีประกาศยืนยันว่า เหรียญรางวัลทองคำรูปอัลเฟร็ด โนเบล และเงินรางวัลอีก 8 ล้านโครเนอร์ หรือประมาณเฉียด 7 ล้านหยวน ตกเป็นของเขาอย่างแน่นอน จนในที่สุดหนังสือที่อยู่บนแผงทุกเล่มขาดตลาดในข้ามคืน ซึ่งรวมทั้งฉบับภาษาอังกฤษด้วยเช่นกัน

และในปีนี้ผลงานต่างๆ ของ "โม่เหยียน" ได้รับการพิมพ์ซ้ำอย่างหมดจน พร้อมทั้งคลอดเล่มใหม่ออกมารับกระแส คือเรื่อง "เชิงสื่อผีเหลา" ถ้าแปลเป็นชื่อไทยก็คงได้ประมาณว่า "วัฏสงสารอันเหนื่อยหน่าย" เมื่อปลายปีที่ผ่านมา แต่เรื่อง "กบ" หรือ "หวา" ที่เมื่อปี 2011ได้รับความนิยมมากที่สุด เพราะโดนใจกับการสะท้อนนโยบายลูกคนเดียวของจีน ซึ่งจากการสำรวจของหน่วยงานที่ชื่อว่า "Open Book" ซึ่งเก็บข้อมูลผ่านร้านหนังสือทั่วประเทศระบุว่า ผลงานของ "โม่เหยียน" ขายดีกว่าตอนที่เขายังไม่ได้รับรางวัลถึง 199 เท่า

สถิติบอกว่าในปี 2011 นั้น หนังสือของ "โม่เหยียน" มีส่วนแบ่งในตลาดหนังสือจีนเพียงร้อยละ 0.01 และปี 2012 เพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 0.47 ทั้งที่เขาเขียนหนังสือมากว่า 30 ปีแล้วก็ตาม จนถึงเดือนตุลาคมปีที่แล้วนี่เอง ผลงานและชื่อเสียงของเขาจึงกระฉ่อนจนหยุดไม่อยู่ มีคนเสิร์ชหาชื่อและข้อมูลของเขาผ่านเว็บไซต์ไป๋ตู้ ซึ่งเป็นเสิร์ชเอ็นจิ้นของจีนมากกว่า 900,000 ครั้งต่อวัน

ตัวของ "โม่เหยียน" เองก็กลายเป็นตราสินค้าชนิดหนึ่งขึ้นมาทันที มีงานออกทีวีเป็นว่าเล่น ซึ่งถือได้ว่าเป็นนิมิตรหมายที่แปลกประหลาดสำหรับคนวรรณกรรมที่สามารถแย่งพื้นที่ข่าวบันเทิงจากดารานักแสดงได้มากเป็นประวัติการณ์

นอกจากหนังสือจะขายดีเป็นเทน้ำเทท่าจนต้องให้ลูกสาวมาดูแลผลประโยชน์ด้านการซื้อขายลิขสิทธิ์โดยเฉพาะแล้ว ผลงานเรื่อง "อกใหญ่ก้นผาย" หรือ "เฟิงหรูเฟยถุน" ยังจะได้รับการดัดแปลงเป็นภาพยนตร์อีกเรื่อง และที่สำคัญคาดว่า "จางอี้โหม่ว" ซึ่งเคยกำกับเรื่อง "ข้าวฟ่างสีเพลิง" หรือ "หงเกาเลี่ยง" จะรับงานนี้ไปถ่ายทอดสู่จอเงินอีกครั้ง

ด้านกระทรวงศึกษาธิการเองก็ยังเอาผลงานของเขาไปบรรจุอยู่ในหนังสืออ่านนอกเวลา ระดับประถมก็มีข้อสอบระบุใบหน้านักเขียนว่าคนใดคือ "โม่เหยียน"

ซึ่งกระแสคลั่งอ่านงานของ "โม่เหยียน" ในประเทศจีนขณะนี้ แม้กระทั่งนักวิชาการวรรณกรรมเองก็ยังระบุว่าเหนือความคาดหมายอย่างมาก ไม่คิดว่างานเขียนที่เป็นวรรณกรรมเชิงสร้างสรรค์หนักๆ จะได้รับความนิยมขนาดนี้ ที่สำคัญยังเกิดปรากฎการณ์ฝนตกทั่วฟ้าขึ้น คือไม่แต่เฉพาะงานของนักเขียนโนเบลชาวจีนคนแรกเท่านั้นที่มีคนติดตามอ่านจำนวนมาก หากผลงานของนักเขียนอื่นๆ ในแนวเคร่งเครียดเพื่อชีวิตและมีความเป็นวรรณกรรมแบบเข้มข้น ก็ได้กลับคืนฟื้นชีพมาได้รับความนิยมอย่างเหลือเชื่อ

"เหอเหยาหมิน" บรรณาธิการจากสำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยเหรินหมินพูดอย่างแปลกใจว่า "งานวรรณกรรมสร้างสรรค์จำนวนหนึ่งที่พิมพ์ออกวางจำหน่ายในเดือนมกราคมที่ผ่านมาขายดีอย่างไม่เคยมีมาก่อน"

หาก "หลู่ซิ่น" ยังมีชีวิตอยู่คงจะปรีดาไม่น้อย และคงไปหาสุราเกาเหลียงไปดื่มฉลองให้ "โม่เหยียน" ด้วยอย่างแน่นอน

เพราะนักเขียนที่ยิ่งใหญ่ทั้งสองมีเหตุการณ์ในชีวิตบางอย่างละม้ายกัน โดยได้มาจากความสามารถทางวรรณกรรม อย่างแรกคือ "หลู่ซิ่น" เคยเป็นรัฐมนตรีกระทรวงศึกษาธิการในยุคซุนยัตเซน และ "โม่เหยียน" ก็เพิ่งได้รับการแต่งตั้งให้เป็นผู้อำนวยการศูนย์การเขียนนานาชาติ ของมหาวิทยาลัยเบจิง นอร์มอล ที่ซึ่งเขาสำเร็จการศึกษามา โดยเป็นคนแรกในประวัติศาสตร์ของจีนที่ได้รับการยกย่องและยกตำแหน่งนี้ให้ อย่างที่สองคือ "หลู่ซิ่น" เป็นผู้ที่ตัวเขาเองอธิบายว่าเป็นการ "จุดไฟในหัวใจที่มืดดำของผู้คนด้วยวรรณกรรม" ด้วยแปลวรรณกรรมต่างประเทศมาให้คนจีนในยุคนั้นอ่าน ในขณะเดียวกันก็เขียนงานที่ทรงพลังออกมาปลุกกระแสสังคมและความรักชาติ โดยในฝ่ายหลังอย่าง "โม่เหยียน" แม้จะมีความหมายของนามปากกาว่า "หุบปาก" แต่เขากลับเป็นผู้ที่ช่วยจุดกระแสวรรณกรรมสร้างสรรค์ให้กลับมาสู่กระแสนิยม ในขณะเดียวกันก็ทำให้วรรณกรรมจีนถูกยอมรับและมีที่ยืนเคียงบ่าเคียงไหล่กับวรรณกรรมจากประเทศระดับแถวหน้าของโลก

ซึ่งในระดับโลกนั้น "โม่เหยียน" ก็ได้ทำให้นักเขียนจีนอีกจำนวนมากโหนกระแสอินเตอร์ดังติดชาร์ตหนังสือยอดนิยมที่ถูกแปลออกไปหลากหลายภาษาด้วย แต่ไม่ได้หมายความว่าผลงานของนักเขียนจีนอื่นๆ ไม่มีคุณภาพ จนต้องพึ่งพาอาศัยชื่อเสียงของ "โม่เหยียน" ออกไป แต่เป็นเพราะเมื่อก่อนต่างชาติให้ความสนใจผลงานของนักเขียนน้อยเกินไป เมื่อมีจำนวนไม่มาก ก็ไม่สามารถทำให้สำนักพิมพ์ต่างประเทศให้ความสนใจแปลเป็นภาษาอังกฤษ โดยเฉพาะสำนักพิมพ์จากอเมริกา ซึ่งเป็นส่วนขับเคลื่อนสำคัญของวงการหนังสือโลก ก็แปลหนังสือจีนเพียงไม่กี่เปอร์เซนต์เท่านั้น ดังนั้น เมื่อผลงานของนักเขียนจีนหลุดเข้าไปในการประกวดรางวัลต่างๆ ระดับนานาชาติ ก็มักไม่ได้รับการคาดหวัง และใส่ใจอย่างที่ควร ซึ่งต้องมีคนหนึ่งคนใดออกไปยืนเด่นเป็นหมุดหมายและการันตีคุณภาพผลงานของประเทศจีนเสียก่อน นานาชาติจึงจะพากันหันมามองอย่างจริงจังมากขึ้น และ "โม่เหยียน" ก็คือผู้ที่ทลายกำแพงนั้นออกไป เปิดทางให้เพื่อนนักเขียนอื่นๆ มีโอกาสได้เดินออกมาสู่สายตาประชาคมนักอ่านโลกมากขึ้น

อย่างเมื่อเดือนธันวาคมที่ผ่านมา ผลงานเขียนของ "เชิน เขาหยี่" ก็เข้ารอบของการประกวดรางวัลวรรณกรรม "Man Asian Literary Prize 2012" จากนวนิยายชีวิตผจญภัยของเด็กผู้หญิงคนหนึ่งในดินแดนชนบททางตอนเหนือของจีน แม้จะไปไม่ถึงป้ายสุดท้าย แต่ก็ถือได้ว่าเป็นปรากฎการณ์ใหม่

ต่อมาในเดือนมกราคมปีนี้ "เหยียน เหลียนเค่อ" ก็นำนวนิยายเรื่อง "Lenin's Kisses" ไปเข้ารอบ 1 ใน 10 ของรางวัลวรรณกรรมระดับโลก "Man Booker International Prize" ซึ่งกำลังรอลุ้นประกาศผลในเดือนพฤษภาคมที่จะถึงนี้

จริงๆ แล้วเมื่อพูดถึงความเป็นสากลของนักเขียนจีน ก่อนที่ "โม่เหยียน" จะได้รับรางวัลโนเบลนั้น ทางการจีนก็มีการผลักดันมาโดยตลอด บนพื้นฐานความเชื่อที่ว่า "ผลงานวรรณกรรมเท่านั้น ที่จะทำให้ผู้คนทั่วโลกเข้าใจวัฒนธรรมจีนได้อย่างลึกซึ้ง" มากกว่าการส่งเสริมการเรียนการสอนภาษาจีนที่ทำควบคู่กันอยู่เสียอีก จึงมีมาตรการต่างๆ สนับสนุนการแปลผลงานวรรณกรรมจีนสู่ภาษาต่างๆ ทั่วโลก

ซึ่งสำนักงานใหญ่การสื่อสารมวชน สิ่งพิมพ์ วิทยุ ภาพยนตร์และโทรทัศน์แห่งชาติจีน(GAPP) ได้เปิดโครงการสนับสนุนการแปลหนังสือวรรณกรรมและผลงานวิชาการเป็นภาษาต่างประเทศขึ้นในปี 2009 โดยมีกองทุนทั้งหมด 60 ล้านหยวน เพื่อเป็นเงินทุนให้สำนักพิมพ์ต่างๆ ของจีน ผลักดันการซื้อขายลิขสิทธิ์ผลงานให้ได้ ซึ่งก็สำเร็จไปส่วนหนึ่ง คือมีการเซ็นต์สัญญากับกว่า 50 ประเทศ และนวนิยายที่ได้รับความสนใจมากที่สุดก็คือเรื่อง "หมาป่า" หรือ "หลังถู่เถิง" และเรื่อง "ความรักใต้ต้นซานจา" หรือ "ซานจาชูจือเหลี่ยน"

การนี้นักวิเคราะห์ในวงการหนังสือจีนมองว่า ผลงานที่ขายลิขสิทธิ์ออกไปได้นั้น มีเพียงสองเล่มนี้ที่เป็นพระเอก ซึ่งยังถือว่าผลงานจีนยังไม่ได้รับการยอมรับโดยทั่วไป สาเหตุเพราะเรื่องแรกมียอดขายนับล้านเล่มในแผ่นดินจีน จึงมีชื่อเสียงโดด่งดังอยู่แล้ว และเรื่องที่สองได้รับการถ่ายทอดเป็นภาพยนตร์โดยฝีมือการกำกับของ "จางอี้โหมว" ซึ่งมีชื่อเสียงไปโดยปริยาย ดังนั้นจึงยังไม่ถือว่าประสบความสำเร็จเท่าที่ควร แม้ว่าตั้งแต่จัดตั้งโครงการนี้ขึ้นมาจะมีการลงนามกันไปแล้วถึง 350 ฉบับ จากหนังสือราว 900 เรื่องก็ตาม

นอกจากนี้ในงานหนังสือนานาชาติที่จัดขึ้นปักกิ่งแต่ละปี ก็จะมีการพยายามส่งเสริมการแปลหนังสือจีน โดยมีการให้เงินสนับสนุนสำนักพิมพ์ในต่างประเทศด้วย ซึ่งเริ่มมาตั้งแต่ปี 2006 แล้ว แต่ก็ยังไม่สามารถนำผลงานที่เป็นตัวแทนของจีนไปสู่สายตาขอทั่วโลกได้อย่างเต็มที่

จนเมื่อ "โม่เหยียน" เดินเดี่ยวออกไปยืนอยู่บนแถวหน้าของนักเขียนระดับโลกจากการประดับรางวัลโนเบลนั่นเอง หนทางของทางการจีนที่ดูเหมือนมืดสลัวในการส่งเสริมวรรณกรรมจีนให้เข้าไปสู่สากลจึงสว่างแจ้งขึ้นโดยพลัน อีกทั้งสปอร์ตไลต์ที่สาดส่องมานั้นยังฉายไปยังนักเขียนอื่นๆ ที่รอท่าอยู่แล้วอีกหลายคน

เมื่อเป็นเช่นนี้ ทางการจีนที่ดูแลเรื่องหารเผยแพร่วัฒนธรรมผ่านหนังสือและวรรณกรรมนี้ จึงมาคิดสะระตะทบทวนโครงการต่างๆ ที่เคยทำมาก่อนหน้านี้ ว่าทำไมจึงประสบความสำเร็จช้า และถ้าไม่มีเหตุการณ์"โม่เหยียน" วรรณกรรมจีนจะยังต้องใช้เวลาอีกกี่ปีจึงจะเป็นที่ยอมรับได้ขนาดนี้

ในที่สุดจึงเกิดโครงการสนับสนุน "นักเขียน 20 คน ที่โดดเด่นที่สุด" เพื่อให้ออกไปสู่สายตานักอ่านทั่วโลกขึ้น คือจะไม่สนับสนุนแบบกวาดไปทั่วเหมือนแต่ก่อน แต่จะลดแคบลงเพื่อประสิทธิภาพในการเน้นผลงานและการตลาดมากขึ้น รวมถึงการสนับสนุนให้เข้าสู่การประกวดรางวัลต่างๆ มากขึ้น เพราะเห็นอยู่แล้วว่าเป็นใบเบิกทางและการันตีคุณภาพของผลงานได้ดีกว่าให้เงินสำนักพิมพ์ต่างประเทศเอาผลงานไปพิมพ์เฉยๆ โดยไม่มีสัญลักษณ์คุณภาพใดๆ รองรับ

และเมื่อมีชื่อเสียงและรางวัลรองรับ ตลาดการอ่านภายในประเทศเองก็จะเติบโตตามไปด้วย เหมือนเช่นที่ แฟนนักอ่านพากันแห่ไปซื้อผลงานของ "โม่เหยียน" ไม่เว้นแต่ละวัน ซึ่งยอดขายที่เพิ่มขึ้นก็จะทำให้นักเขียนมีรายได้สูงขึ้น มาตรฐานชีวิตความเป็นอยู่ก็จะดีขึ้น เวลาในการผลิตผลงานที่ดีก็จะมีมากขึ้นเป็นเงาตามตัวไปด้วย ซึ่งทั้งหมดทั้งมวลนี้ก็จะส่งเสริมกันเป็นทอดๆ ไป

ดังนั้นนับจาก "เหตุการณ์โม่เหยียน" นี้เป็นต้นไป เราซึ่งเป็นนักอ่านภาษาที่สองก็จะมีโอกาสเห็นงานของนักเขียนจีนมากยิ่งขึ้นในแวดวงหนังสือโลกอย่างแน่นอน

พัลลภ สามสี

ลิงค์ที่เกี่ยวข้อง
ตอบคำถามออนไลน์
ทบทวนรายการน่าสนใจ
ภาพยอดฮิต
เว็บไซต์ึเพื่อนซีอาร์ไอ

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

Play Stop
© China Radio International.CRI. All Rights Reserved.
16A Shijingshan Road, Beijing, China. 100040