กรุงเทพฯ - 28 มีนาคม 2556 สถานเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐประชาชนจีนประจำประเทศไทยร่วมกับบริษัท นานมีบุ๊คส์ จำกัด จัดงานแนะนำหนังสือ "นารีนครา" ขึ้นอย่างยิ่งใหญ่ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงเสด็จพระราชดำเนินเป็นประธานเปิดงาน โดยมีนายก่วนมู่ เอกอัครราชทูตสาธารณรัฐประชาชนจีนประจำประเทศไทย, มิสเตอร์หวัง จุนเจิ้ง รองผู้ว่าการมณฑลหูเป่ย, มาดามหลี เสี่ยวหลิน นายกสมาคมมิตรภาพวิเทศสัมพันธ์แห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน, นางสุวดี จงสถิตย์วัฒนา กรรมการผู้จัดการบริษัทนานมีบุ๊คส์จำกัดและผู้เข้าร่วมงานทั้งชาวไทยและต่างประเทศจำนวนมากร่วมรับเสร็จ
"นารีนครา"เป็นพระราชนิพนธ์แปลนวนิยายจีนในสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ที่แสดงถึงพระปรีชาญาณด้านภาษาและวัฒนธรรมจีน และด้วยทรงสนพระราชหฤทัยในภาษาจีนและจีนวิทยา แม้จะทรงมีพระราชกิจมากมายแต่ก็ทรงพระวิริยะแปลเรื่อง "นารีนครา" ในระหว่างปี 2555 และได้พิมพ์เผยแพร่ในปลายเดือนมีนาคม พ.ศ. 2556
"นารีนครา" หรือชื่อภาษาจีนว่า "ทา-เตอ-เฉิง" เป็นผลงานเขียนโดย "ฉื่อลี่" นักเขียนหญิงผู้สร้างสรรค์งานวรรณกรรมมาอย่างต่อเนื่องทั้งนวนิยายและร้อยแก้ว ได้รับรางวัลทางวรรณกรรมหลายรางวัล อีกทั้งผลงานหลายเรื่องได้รับการสร้างเป็นภาพยนตร์ ละครชุดทางโทรทัศน์ ละครเวที ละครวิทยุ อุปรากรปักกิ่ง รวมทั้งได้รับการแปลเป็นภาษาต่างประเทศ เช่น ภาษาอังกฤษ ฝรั่งเศส สเปน ญี่ปุ่น เกาหลี และเวียดนาม งานเขียนหลากหลายของฉื่อลี่ที่มีนครอู่ฮั่นเป็นฉากหลัง รวมทั้งเรื่อง "นารีนครา" ทุกคำพูดเสมือนดั่งตัวแทนทางจิตวิญญาณของวัฒนธรรมอู่ฮั่น
ภายในงานแนะนำหนังสือ "นารีนครา" สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงพระราชทานพระราชดำรัสแนะนำหนังสือนารีนคราและมีพระราชดำรัสชื่นชมนวนิยายของนักประพันธ์จีนหลายท่านและพระราชดำริแปลหนังสือที่เขียนโดยนักเขียนหญิงของจีนมากขึ้น ระหว่างที่แปลหนังสือเรื่องนารีนครานี้ นอกจากได้เห็นภาพชีวิตของคนธรรมดาทั่วไปในนครอู่ฮั่นผ่านทางตัวละครแล้ว อาหารหูเป่ยที่กล่าวถึงในหนังสือก็ทำให้ทรงสนพระทัยอยากชิมอาหารดั่งกล่าว จึงได้ติดต่อไปยังสถานทูตจีนในประเทศไทยให้แม่ครัวสาธิตและปรุงถวาย แต่แม่ครัวแจ้งว่าไม่สามารถปรุงถวายได้เนื่องจากอาหารเป็นแบบท้องถิ่นจริงๆและเครื่องปรุงบางอย่างหายากแม้แต่อยู่ในประเทศจีนก็หาไม่ได้โดยง่าย และนี่เป็นที่มาของงานเทศกาลอาหารหูเป่ย สาธารณรัฐประชาชนจีน (中国湖北美食节 หรือ Hubei Cuisine Festival) ที่เสด็จพระราชดำเนินทรงไปเปิดงาน ณ ห้องอาหาร Shang Palace Chinese ชั้น 2 โรงแรมแชงกรี-ลา กรุงเทพฯ ในเวลาประมาณ 11.40 น.วันเดียวกัน
อนึ่ง หูเป่ย (湖北) เป็นมณฑลที่ตั้งอยู่ในเขตภาคกลางของประเทศจีน ติดกับมณฑลเหอหนาน อันฮุย มณฑลเจียงซี มหานครฉงชิ่งและมณฑลซานซี มีทรัพยากรน้ำมากเป็นอันดับสิบของประเทศมีแม่น้ำน้อยใหญ่ทั้งหมดมากถึง 1,193 สาย เนื่องจากหูเป่ยมีชื่อย่อว่า"เอ้อ" (鄂) อาหารของหูเป่ยจึงถูกเรียกว่า"อาหารเอ้อ" มีส่วนผสมหลักมาจากน้ำและปลา อาหารเอ้อได้รับการจัดอันดับว่าเป็นหนึ่งในสิบอาหารที่มีชื่อเสียงมากที่สุดในประเทศจีน
นายก่วนมู่ เอกอัครราชทูตสาธารณรัฐประชาชนจีนประจำประเทศไทยได้กราบบังคมทูลรายงานความสัมพันธ์ด้านวัฒนธรรมไทย-จีนว่า สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีทรงสร้างคุณูปการสำคัญต่อการกระชับความสัมพันธ์และเสริมสร้างไมตรีจิตมิตรภาพระหว่างสองประเทศ ทรงได้รับสัมญญานามว่าเป็นทูตสันถวไมตรีจีน-ไทย โดยนับตั้งแต่ปีค.ศ. 1981 ท่านได้เสด็จไปเยือนประเทศจีนอย่างเป็นทางการทั้งหมด 34 ครั้งและได้เดินทางไปเกือบทุกมณฑลในประเทศจีนอีกด้วย
มาดามหลี เสี่ยวหลิน นายกสมาคมมิตรภาพวิเทศสัมพันธ์แห่งสาธารณรัฐประชาชนจีนได้กราบบังคมทูลรายงานว่า จีนและไทยคือครอบครัวเดียวกัน การที่สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีทรงมีความสนพระทัยและมีพระวิริยะอุตสาหะในการเรียนภาษาจีน ทำให้มีชาวไทยจำนวนมากต้องการที่จะเรียนภาษาจีนตามอย่างพระองค์ท่าน โดยในปีค.ศ.2009 ท่านได้รับการทูลเกล้าฯถวายรางวัลมิตรนานาชาติสิบอันดับแรกของสาธารณรัฐประชาชนจีนจากการลงคะแนนของชาวจีนผ่านทางอินเทอร์เน็ต รางวัลดังกล่าวจัดขึ้นโดยสถานีวิทยุซีอาร์ไอร่วมกับสมาคมมิตรภาพวิเทศน์สัมพันธ์แห่งประชาชนจีนและกรมผู้เชี่ยวชาญต่างประเทศแห่งประเทศจีน เนื่องในโอกาสฉลองครบ 60 ปีของการสถาปนาสาธารณรัฐประชาชนจีน และทรงเป็นชาวเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เพียงพระองค์เดียวที่ได้รางวัลนี้
นางสุวดี จงสถิตย์วัฒนา กรรมการผู้จัดการบริษัทนานมีบุ๊คส์จำกัดกล่าวว่า สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงพระกรุณาพระราชทานพระราชานุญาตให้บริษัทนานมีบุ๊คส์จำกัด จัดพิมพ์เผยแพร่พระราชนิพนธ์แปลอีกครั้ง หลังจากที่ได้รับพระมหากรุณาธิคุณให้จัดพิมพ์พระราชนิพนธ์แปลเรื่องหมู่บ้านเล็กตระกูลเป้า ในปีพ.ศ. 2555 ที่ผ่านมา ครั้งนี้ถือเป็นมงคลวารอีกครั้งหนึ่ง ที่นักอ่านชาวไทยจักได้ชื่นชมพระปรีชาญาณด้านจีนวิทยา ในพระราชนิพนธ์แปล เรื่อง "นารีนครา" นวนิยายที่สื่อถึงใจหญิงแท้จริงแกร่งดังเหล็กกล้า และวิถีชีวิตของผู้คนที่เปลี่ยนไปตามกระแสการพัฒนาประเทศจีนให้ทันสมัย
"นารีนครา" ดำเนินเรื่องผ่านตัวละครสำคัญ 3 ตัว ซึ่งเป็นตัวแทนหญิงรุ่นเก่า รุ่นกลาง และรุ่นใหม่ ซึ่งได้มีปฏิสัมพันธ์ต่อกันในมิติต่างๆ และได้ถ่ายทอดเรียนรู้ซึ่งกันและกัน ในกระแสสังคมที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วและซับซ้อน ตัวละครหญิงทั้งสามนี้ ได้เรียนรู้จากกันและกัน ได้สร้างสายสัมพันธ์และมิตรภาพอันจริงใจเอื้ออาทรต่อกัน ซึ่งเป็นการสร้างความสุขอันแข็งแกร่งและคุณค่าอันมั่นคงแก่ชีวิต
เรียบเรียงและรายงาน: อรอนงค์ อรุณเอก 林敏儿
ภาพ: พันธสัญญา โชติธนพุทธิพงษ์