การประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนครั้งที่ 46 เสร็จสิ้นลงเมื่อวันที่ 2 กรกฎาคมที่ผ่านมา โดยที่ประชุมมีความเห็นเป็นเอกฉันท์ว่า ภายใต้สถานการณ์ระหว่างประเทศที่เปลี่ยนแปลงมาโดยตลอด อาเซียนต้องแสดงบทบาทเป็นผู้นำในกลไกความร่วมมือของภูมิภาคเอเชียตะวันออก
นักวิเคราะห์เห็นว่า การจัดประชุมระหว่างอาเซียนและประเทศหุ้นส่วนนั้นเป็นกลไกที่ดีต่อการส่งเสริมความร่วมมือในเอเชียตะวันออก
การประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนครั้งนี้จัดขึ้นที่กรุงบันดาร์ เสรี เบกาวัน ประเทศบรูไนระหว่างวันที่ 29 มิถุนายน – วันที่ 2 กรกฎาคม โดยมีประเด็นการสร้างประชาคมอาเซียน และการขับเคลื่อนความร่วมมือระหว่างอาเซียนกับประเทศหุ้นส่วนคู่เจรจา
แถลงการณ์ร่วมระบุว่า อาเซียนตั้งใจที่จะสร้างประชาคมอาเซียนให้แล้วเสร็จภายในปี 2015 ตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ แต่จำเป็นต้องประเมินกลไกการดำเนินงานอีกครั้ง เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ระหว่างประเทศที่เปลี่ยนแปลง และเพื่อให้อาเซียนสามารถแสดงบทบาทเป็นผู้นำในกลไกความร่วมมือของภูมิภาคเอเชียตะวันออกต่อไป
เจ้าชายโมฮาเหม็ด โบลเกียห์ (Prince Mohamed Bolkiah) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศและการค้าบรูไนกล่าวในที่ประชุมว่า อาเซียนกำลังได้รับความสนใจจากหลายประเทศ
ดังนั้นทรงหวังว่า รัฐมนตรีต่างประเทศจากทุกประเทศในอาเซียนจะมีส่วนส่งเสริมโครงการพัฒนาต่างๆให้คืบหน้า ขยายบทบาทของอาเซียนในกลไกความร่วมมือของภูมิภาคเอเชียตะวันออก และภูมิภาคอื่นๆ อย่างเหมาะสมต่อไป
หลายปีมานี้ เศรษฐกิจของประเทศในเอเชียเติบโตอย่างรวดเร็ว จึงดึงดูดความสนใจจากทั่วโลกมากขึ้น อีกทั้งอาเซียนมีความได้เปรียบด้านภูมิภาค จึงกลายเป็นเวทีสำคัญในการส่งเสริมการแลกเปลี่ยนและความร่วมมือระหว่างประเทศต่างๆ ในเอเชียตะวันออก
นอกจากนี้ กลไกความร่วมมือระหว่างอาเซียนและต่างประเทศได้ ขยายตัวออกไป จากความร่วมมือ 10+1 คืออาเซียนบวกจีน อาเซียนบวกญี่ปุ่น และอาเซียนบวกเกาหลีใต้พัฒนามาเป็นกลไก 10+3 คืออาเซียนบวกจีน ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้
ปัจจุบัน ความร่วมมือระหว่างอาเซียนและต่างประเทศได้พัฒนามาเป็น 10+8 และยังมีการประชุมสุดยอดเอเชียตะวันออก ซึ่งนักวิเคราะห์เห็นว่า อาเซียนต้องการสร้างเครือข่ายความร่วมมือในภูมิภาคเอเชีย โดยมีอาเซียนเป็นศูนย์กลาง
ในช่วงปีหลังๆนี้ ประเทศหุ้นส่วนคู่เจรจาของอาเซียนมีจำนวนเพิ่มขึ้น ผู้เข้าร่วมการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียน และการประชุมอาเซียนว่าด้วยความร่วมมือด้านการเมืองและความมั่นคงในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก หรือARF ครั้งนี้ นอกจากเป็นรัฐมนตรีต่างประเทศจากประเทศต่างๆ ในอาเซียนแล้ว ยังมีรัฐมนตรีต่างประเทศจากประเทศหุ้นส่วนคู่เจรจาของอาเซียนด้วย เช่น จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ สหรัฐฯ รัสเซีย และสหภาพยุโรป และรัฐมนตรีต่างประเทศหรือผู้แทนจากอีกหลายประเทศ เช่น บางกลาเทศ เกาหลีเหนือ มองโกเลีย ปากีสถาน ปาปัวนิวกินี ศรีลังกา และติมอตะวันออก
(NUN/cai)