สาธารณรัฐประชาชนจีน ประสบความสำเร็จครั้งใหญ่ในการส่งยานอวกาศเสิ่นโจว -10 พร้อมนักบินอวกาศทั้งสามคนขึ้นสู่อวกาศ เพื่อปฏิบัติภารกิจการทดลองเชื่อมต่อกับ สถานีปฏิบัติการ เทียนกง- 1 และการทดลองทางฟิสิกส์ขั้นพื้นฐาน ในสภาวะไร้น้ำหนัก ระหว่างวันที่ 11-26 มิถุนายน 2556 ที่ผ่านมา พร้อมถ่ายทอดสดการเรียนการสอนทางไกลมาให้กับเด็กนักเรียน และประชาชนชาวจีนทั่วประเทศได้เห็นผ่านทางสถานีโทรทัศน์ CCTV รวมทั้งทำให้คนทั่วโลกได้เห็นปรากฏการณ์ดังกล่าวไปพร้อมๆกัน
การถ่ายทอดสดใช้เวลารวมทั้งสิ้นประมาณ 40 นาที ในวันที่ 20 มิถุนายน 2556 โดยนักบินหญิงคนเดียวในทีม (และเป็นนักบินอวกาศหญิงคนที่สองของจีน) คือ พ.อ.หญิง หวาง ย่าผิง รับบทบาทเป็นคุณครู นำการสาธิตและตอบคำถามเด็กๆ ทางไกล ส่วนนักบินอีกสองคนคือ พลเอก เนี่ย ไห่เซิง หัวหน้าคณะ และพ.อ.พิเศษ จาง เสี่ยวกวง ทำหน้าที่เป็นผู้ช่วยสาธิตการทดลอง พร้อมๆไปกับการบันทึกภาพกิจกรรม และตอบคำถามต่างๆ
กิจกรรมนี้จัดขึ้นในโรงเรียนมัธยมในเขตไห่เตี้ยน กรุงปักกิ่ง โดยมีนักเรียนกว่า 300 คนซึ่งมาจาก ตัวแทนนักเรียนซึ่งเป็นชนกลุ่มน้อย เด็กๆจากชนบท นักเรียนจากเขตปกครองพิเศษฮ่องกง มาเก๊าและไต้หวันร่วมรับชมการถ่ายทอดสดโดยตรงจากในห้องประชุม และยังมีครูกับนักเรียนอีกกว่า 60 ล้านคน ในโรงเรียนกว่า 8 หมื่นแห่ง รวมทั้งชาวจีนทั่วประเทศและคนทั่วโลกก็ได้รับชมผ่านทางโทรทัศน์ด้วย
คำบรรยาย-บรรยากาศการรับชมถ่ายทอดสดในโรงเรียนต่างๆทั่วประเทศ
การสาธิตการทดลองมีหลายกิจกรรม อาทิ การชั่งน้ำหนักนักบินอวกาศในสภาวะไร้น้ำหนักซึ่งต้องใช้เครื่องชั่งพิเศษ พบว่า มีน้ำหนักเพิ่มมากกว่าเมื่อชั่งบนโลกมนุษย์ การทดลองแกว่งลูกตุ้ม เพื่อสังเกตทิศทางการเคลื่อนไหวซึ่งแตกต่างจากบนพื้นโลก เพราะบนโลกมีแรงดึงดูดไว้ทำให้ทิศทางการเคลื่อนจะเป็นแนวซ้าย-ขวา แต่ในสภาพไร้แรงดึงดูด ลูกตุ้มจะเหวี่ยงไปมาจากบนลงล่าง
การทดลอง "ไจโลสโคป" ซึ่งเป็นอุปกรณ์ที่อาศัยแรงเฉื่อยของล้อหมุน เพื่อช่วยรักษาระดับทิศทางของแกนหมุน ประกอบด้วยล้อหมุนเร็วบรรจุอยู่ในกรอบอีกทีหนึ่ง ทำให้เอียงในทิศทางต่างๆ ได้โดยอิสระ นั่นคือ หมุนในแกนใดๆ ก็ได้ โมเมนตัมแรงหมุนทำให้ยังคงรักษาตำตำแหน่งไว้ได้แม้กรอบล้อจะเอียง (ขอให้นึกถึงภาพการเล่น "ลูกข่าง" ในบ้านเรา จะมีลักษณะคล้ายๆกัน)
คุณสมบัติดังกล่าวทำให้สามารถนำหลักการนี้ไปประยุกต์ใช้เพื่อประโยชน์ต่างๆ มากมาย เช่น เข็มทิศ ทำให้เครื่องบินบินโดยอัตโนมัติ สร้างกลไกบังคับทิศทางตอร์ปิโด อุปกรณ์ป้องกันการกลิ้งบนเรือใหญ่ รวมถึงระบบในยานอวกาศ และสถานีอวกาศ)
การทดลองในห้องปฏิบัติการบนอวกาศครั้งนี้ ได้เปรียบเทียบ ไจโลสโคป สองอันพร้อมๆกัน อันหนึ่ง ไม่หมุน ลอยอยู่เฉยๆ เมื่อออกแรงผลักก็จะพุ่งไปข้างหน้า แต่หมุนตัวตีลังกาแบบไร้ทิศทาง ขณะที่อีกอันหนึ่ง ทำให้หมุนรอบตัวเอง เมื่อออกแรงผลักไปข้างหน้า ปรากฏว่า มันยังคงหมุนรอบตัวเองต่อไป และพุ่งไปข้างหน้าในทิศทางเดียว ไม่ตีลังกา กลับหัว หรือหกคะเมนเหมือนอันแรก
มีการทดลองแรงตึงผิวของน้ำ โดยนักบินใช้อุปกรณ์เหมือนกรอบแว่นขยาย แต่ไม่มีเลนซ์ภายใน เอาไปแตะน้ำในถุงพลาสติก แล้วเมื่อดึงออกจากถุง ปรากฏว่า น้ำได้เกาะบริเวณกรอบดังกล่าว หยดน้ำทำหน้าที่เป็นกระจกเลนซ์ขยายใสๆ จากนั้น ไม่ว่าจะเหวี่ยงน้ำหนักหรือเคลื่อนย้ายไปด้านไหน แรงตึงผิวของน้ำ ก็ทำให้เกิดการขยับตัวแต่เพียงเล็กน้อย แต่ยังคงรูปร่างเหมือนเดิม อยู่กับกรอบแว่น ไม่หลุดหรือแตกกระจายออกไป เมื่อนักบินทดลอง ใส่วัสดุบางอย่างที่มีลักษณะแบน เป็นเหมือนพลาสติคและมีลายเชือกถักเงื่อนแบบจีน อันเล็กๆ ใส่ระหว่างแผ่นน้ำดังกล่าว มันก็คงสภาพอยู่ในก้อนน้ำนั้น ไม่หลุดออกมา การทดลองครั้งหลังนี้เรียกเสียงปรบมือได้กราวใหญ่จากนักเรียนที่ชมการสาธิตอยู่
นักบินยังได้ ทดลองเพิ่มปริมาณน้ำในแผ่นน้ำในกรอบแว่นขยายดังกล่าว ทำให้มีขนาดอ้วนขึ้นกลายเป็นก้อนกลมขนาดใหญ่ ซึ่งก้อนน้ำนี้ก็ไม่แตกตัวออก ยังเกาะเป็นก้อนเหมือนเดิม และมีรูปทรงกลมมากๆ จากนั้นนักบินได้ใช้เข็มฉีดยาขนาดเล็กดูดฟองอากาศเล็กๆ ภายในออก ก้อนน้ำจะมีลักษณะเหมือนเลนซ์นูน และใสเป็นกระจกที่ส่องสะท้อนภาพต่างๆได้ นักบิน ทดลอง ใช้เข็มฉีดยา ค่อยๆเพิ่มฟองอากาศขนาดใหญ่เข้าไป ปรากฏว่า ฟองอากาศได้เคลื่อนตัวออกมาที่บริเวณขอบของก้อนน้ำ ไม่สามารถคงรูปฟองอากาศอยู่ภายในได้เหมือนฟองอากาศขนาดเล็กก่อนหน้านี้ จากนั้น มีการฉีดน้ำสีแดงเข้าไปผสม ทำให้ก้อนน้ำ จากเดิมที่เป็นก้อนกลมใสๆกลายเป็นก้อนสีแดง เป็นอันสิ้นสุดการทดลอง
ในระหว่างที่ผู้ชมกำลังสงสัยกันว่า จะมีวิธีเก็บก้อนน้ำที่ว่านี้ได้อย่างไรในอวกาศ คำตอบก็เฉลยออกมา เมื่อนักบินอีกคนหนึ่งเอากระดาษแผ่นขนาดใหญ่สองแผ่นมาประกบก้อนน้ำ เพื่อเก็บและทำความสะอาดในที่สุด เป็นขั้นตอนที่ง่าย ไม่ยุ่งยากเลย
นักบินหญิงอธิบายว่า การทดลองเหล่านี้ สามารถนำความรู้และผลที่ค้นพบ ไปประยุกต์ใช้ได้ เช่น ความรู้เรื่องของเหลวที่จะมีรูปทรงกลมได้โดยไม่ต้องอาศัยแม่พิมพ์ใดๆ และมีลักษณะที่กลมมาก ในภาวะไร้นำหนัก ก็จะนำไปวิจัยทางวิทยาศาสตร์ได้หลายเรื่อง
กิจกรรมการเรียนการสอนครั้งนี้ได้รับความสนใจจากเด็กๆ นักเรียนมัธยมที่อยู่ในห้องถ่ายทอดสดมาก สังเกตจากเมื่อนักบินเปิดโอกาสให้ถาม เด็กหลายสิบคนต่างยกมือกันพรึบพรับ เพื่อขอเป็นคนตั้งคำถาม แล้วจะมีเจ้าหน้าที่วิ่งเอาไมโครโฟนไปยื่นให้ เป็นการเรียนรู้แบบมีส่วนร่วม คำถามหลายข้อก็บอกถึงความสงสัยใคร่รู้ของเด็กๆ อาทิ นักเรียนคนหนึ่งถามว่า ภาพที่เห็นจากนอกโลกเป็นอย่างไร ต่างจากมองจากพื้นโลกไหม เห็นดวงดาวระยิบระยับไหม และเคยเห็น UFO หรือเปล่า
คำถามนี้ เรียกรอยยิ้มจากผู้ที่ได้ฟัง รวมทั้งนักบินอวกาศด้วย นักบินตอบว่า เห็นดวงดาวชัดมาก แต่ไม่ระยิบระยับ ในแต่ละวันจะเห็นพระอาทิตย์ขึ้นถึง 16 ครั้ง เพราะยานโคจรรอบโลก 1 รอบ ใช้เวลา 90 นาที ที่สำคัญ นักบินก็ยังไม่เคยเห็น UFO แต่อย่างใด
นักเรียนอีกคนถามว่า ต้องเตรียมตัวอย่างไร เพื่อมาอยู่ในสภาวะไร้น้ำหนักเป็นเวลานานๆ คำตอบก็คือ การมาอยู่ในสภาพแบบนี้นานๆ จะมีผลต่อสุขภาพด้วย ทั้งกล้ามเนื้อร่างกาย และหัวใจ ดังนั้นทางแก้ไขคือ ต้องออกกำลังกาย พร้อมกับสาธิตว่า มีอุปกรณ์ออกกำลังกายในยานอวกาศด้วย ซึ่งก็ประยุกต์จากโต๊ะอเนกประสงค์ ที่ใช้สาธิตการทดลองก่อนหน้านี้ ทำหน้าที่เป็นแผ่นรองตัวนักบินในการชั่งน้ำหนัก มาเป็นส่วนหนึ่งของจักรยานปั่นออกกำลังกายด้วย
เด็กคนหนึ่งถามว่า อยากรู้ว่านักบินเอาน้ำที่ใช้มาจากไหน แล้วจะมีการ recycle น้ำบนอวกาศหรือเปล่า หรือเอาน้ำที่ใช้แล้วกลับลงมาบนโลก
พลเอก เนี่ย ไห่เซิง หัวหน้าคณะเป็นคนตอบคำถามนี้โดยบอกว่า เอาน้ำมาใช้จากพื้นโลกโดยไม่ได้ทำ recycle ในอวกาศ เพราะต้นต้นทุนสูงมากและต้องใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัยมากๆ ซึ่งขณะนี้ยังไม่จำเป็น แต่ในอนาคตเมื่อจีนสร้างสถานีอวกาศได้แล้ว ก็จะใช้เทคโนโลยี ที่ประหยัด ทันสมัย คำนึงถึงเรื่องสิ่งแวดล้อม และมีแผนจะใช้เทคโนโลยี recycle ด้วย
การทดลองจบลงด้วยความประทับใจ แต่เชื่อว่าเด็กๆอีกจำนวนมากในห้องถ่ายทอดสดคงยังไม่อิ่มเอมใจ เพราะสังเกตจากการยกมือเพื่อตั้งคำถาม มีอีกมาก เพียงแต่เวลาถ่ายทอดมีจำกัดนั่นเอง
ก่อนหน้านี้รายงานข่าวจากสื่อของจีน ก็แสดงให้เห็นกระแสความคึกคักและตื่นตัวของชาวจีนที่รอคอยปฏิบัติการในอวกาศครั้งนี้อย่างใจจดจ่อ ที่สำคัญในโรงเรียนต่างๆ คุณครูได้มอบหมายกิจกรรมให้เด็กนักเรียนได้คิดคำถามของตัวเอง เพื่อจะสอบถามนักบินอวกาศ นอกจากนี้ สำนักงานการบินและอวกาศของจีน ได้ประชาสัมพันธ์ในเวปไซต์ เพื่อเชิญชวนให้เด็กๆส่งคำถามที่อยากรู้ไปให้นักบินอวกาศด้วย
นอกจากการทดลองในห้องปฏิบัติการแล้ว นักบินอวกาศยังมีการทดลองทางฟิสิกส์และวิทยาศาสตร์ที่สำคัญอีกหลายเรื่อง โดยเฉพาะภารกิจสำคัญคือ การควบคุมยานอวกาศเสิ่นโจว -10 ให้เชื่อมต่อกับสถานีปฏิบัติการเทียนกง-1 ได้สำเร็จ ทั้งระบบอัตโนมัติและการควบคุมด้วยนักบิน นับเป็นความพยายามครั้ง 5 ที่ยานอวกาศ"เสินโจว "กับห้องปฏิบัติการทางอวกาศ"เทียนกง 1 "เชื่อมต่อกัน ตั้งแต่"เทียนกง 1"ถูกส่งเข้าสู่วงโคจรเมื่อเดือนกันยายนปี. 2554 เป็นต้นมา
ภารกิจครั้งนี้ถือเป็นการปฏิบัติหน้าที่ในห้วงอวกาศเป็นเวลานานที่สุดสำหรับนักบินอวกาศจีนและเป็นการขึ้นสู่ฟากฟ้าครั้งที่สองของ พลเอก เนี่ย ไห่เซิง หัวหน้าคณะ
หลังจากนั้นนักบินทั้งสามคน เดินทางกลับสู่พื้นโลกอย่างปลอดภัย ในเช้าวันที่ 26 มิถุนายน 2556 บริเวณทุ่งหญ้าในเขตมองโกเลียในของจีน ก่อนจะเดินทางกลับมายังกรุงปักกิ่งเพื่อเข้ารับการตรวจสภาพร่างกายดูสภาพความแข็งแรงอีกครั้ง
ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ผู้นำจีน กล่าวว่าการพัฒนาการบินเพื่อสร้างความเข้มแข็งให้ประเทศ เป็นหนึ่งในภารกิจที่ถูกกำหนดไว้แล้ว การส่งยานอวกาศ พร้อมมนุษย์เสินโจวหมายเลข 10 นี้ เป็นส่วนหนึ่งของยุทธศาสตร์ "การเดินหน้า 3 ก้าว"ซึ่งมีความหมายสำคัญต่อการส่งเสริมและปรับปรุงเทคโนโลยีเชื่อมต่อทางอวกาศ ส่งเสริมการพัฒนาห้องทดลองอวกาศและสถานีอวกาศ โดยประธานาธิบดีจีนหวังว่า ผู้เกี่ยวข้องจะนำประสบการณ์ความสำเร็จครั้งนี้เพื่อใช้ต่อยอด เป็นแนวทางในการพัฒนาเทคโนโลยีด้านอวกาศให้ก้าวหน้ายิ่งขึ้นต่อไป เพื่อไปสู่เป้าหมายที่จีนตั้งไว้ว่า จะสามารถสร้างสถานีอวกาศของตัวเองที่นักบินอวกาศสามารถอยู่อาศัยได้นานหลายเดือน เหมือนกับสถานีอวกาศนานาชาติ (ซึ่งเป็นความร่วมมือของหลายประเทศ) หรือสถานีอวกาศเมียร์ ของรัสเซีย โดยคาดว่าจะทำให้สำเร็จภายในปี 2563
การถ่ายทอดสดทางไกลมายังพื้นโลกครั้งนี้ นอกจากจะแสดงถึงพัฒนาการและความก้าวหน้าด้านอวกาศการบินแล้ว อีกด้านหนึ่ง การเปิดโอกาสให้นักเรียนจำนวนมากได้มีส่วนร่วมรับชมอย่างใกล้ชิด ได้มีโอกาสในการซักถาม และตอบคำถามนักบินที่นักบินอวกาศชวนคุย เป็นการเรียนรู้อย่างมีส่วนร่วม โดยเฉพาะตัวของนักบินทั้งสามคนที่ได้รับการต้อนรับอย่างอบอุ่น มีเกียรติ เป็นที่ยอมรับของทั้งผู้นำและชาวจีนทั้งประเทศ ทั้งเกียรติยศ ชื่อเสียงและความสำเร็จที่ได้รับ ก็เชื่อว่าจะเป็นแรงบันดาลใจครั้งสำคัญที่ทำให้เด็กๆ จำนวนไม่น้อย สนอกสนใจในการเรียนรู้ทางวิทยาศาสตร์และอวกาศการบินมากขึ้นในอนาคตต่อไป