การประชุมระดับรัฐมนตรีเพื่อหารือมาตรการรับมือกับหมอกควันข้ามแดนของ 5 ประเทศอาเซียน ได้แก่ไทย สิงคโปร์ มาเลเซีย อินโดนีเซีย และบรูไนจัดขึ้นที่กรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย เจ้าหน้าที่จากหน่วยงานสิ่งแวดล้อมของรัฐบาลทั้ง 5 ชาติได้เข้าร่วมประชุม นายบัลธาซาร์ คัมบัวยา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสิ่งแวดล้อมอินโดนีเซียกล่าวในที่ประชุมแถลงข่าวว่า "อินโดนีเซียจะลงนามในสนธิสัญญาป้องกันมลภาวะหมอกควันข้ามแดนก่อนสิ้นปี 2013 หรือภายในต้นปี 2014 เพื่อรับมือกับปัญหาหมอกควันในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้"
ปัญหาหมอกควันทำให้หลายประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เดือดร้อนมานาน วิกฤตหมอกควันมลพิษครั้งร้ายแรงที่สุดเกิดขึ้นเมื่อปี 1997 สร้างความเสียหายทางเศรษฐกิจอย่างใหญ่หลวง เมื่อปี 2002 ประเทศอาเซียนส่วนใหญ่ลงนามในสนธิสัญญาป้องกันมลภาวะหมอกควันข้ามแดน แต่อินโดนีเซียเป็นเพียงประเทศเดียวที่ยังไม่ยอมลงนามในเอกสารฉบับนี้
ในที่ประชุมครั้งนี้ ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องร่วมกดดันกับอินโดนีเซีย ทำให้ฝ่ายอินโดฯ มีแนวโน้มจะตอบรับกับข้อเรียกร้องดังกล่าว นักวิจัยผู้หนึ่งจากสำนักงานวิจัยการบริหารทรัพยากรและสังคมของอินโดนีเซียเห็นว่า เป้าหมายหลักของที่ประชุมครั้งนี้คือผลักดันให้อินโดนีเซียเซ็นสนธิสัญญาป้องกันมลภาวะหมอกควันข้ามแดนโดยเร็ว แต่ยังต้องรอรัฐสภาอินโดนีเซียให้ความเห็นชอบก่อน รัฐสภาอินโดนีเซียเคยปฏิเสธสนธิสัญญาฉบับนี้เมื่อปี 2008 เพราะจะกระทบอุตสาหกรรมน้ำมันปาล์มในประเทศ เขาชี้ว่าเนื่องจากเกาะสุมาตราและบริเวณรอบข้างมีพื้นที่ป่าไม้จำนวนมากการทำเกษตรแผนใหม่โดยไม่ใช้การเผาป่าจะใช้ต้นทุนที่สูงกว่า ซึ่งเกษตรกรจะแบกรับไม่ไหว อีกทั้งหากลดพื้นที่ปลูกปาล์มก็จะทำให้มีผู้ได้รับผลกระทบจำนวนมาก
นักวิชาการบางคนเสนอกลไกใหม่ในการแก้ปัญหาหมอกควันข้ามแดน เช่น นำปัญหานี้เข้ากรอบ "สนธิสัญญาว่าด้วยการบริหารและรับมือฉุกเฉินกับภัยพิบัติของอาเซียน" กำหนดให้สมาชิกอาเซียนทั้งหลายมีความรับผิดชอบที่ชัดเจน และขยายความร่วมมือด้านการทูต ที่สำคัญที่สุดคือ อินโดนีเซียเป็นต้นเหตุของปัญหา ต้องแสดงท่าทีที่ชัดเจนในการรับผิดชอบต่อผลกระทบที่เกิดขึ้น
NUNE/FENG