กรอบแห่งความร่วมมือ 2+7 หมายถึง ความรับรู้ร่วมกัน 2 ประการกับข้อเสนอ 7 ข้อเกี่ยวกับการพัฒนาความร่วมมือระหว่างจีนกับอาเซียนในช่วง 10 ปีข้างหน้า
ความรับรู้ร่วมกัน 2 ประการได้แก่ หนึ่ง การกระชับความเชื่อถือซึ่งกันและกันทางยุทธศาสตร์และพัฒนามิตรสัมพันธ์ฉันประเทศเพื่อนบ้านเป็นพื้นฐานของการผลักดันความร่วมมือระหว่างสองฝ่ายให้รุดหน้าไป สอง การพัฒนาเศรษฐกิจและขยายความร่วมมือที่อำนวยประโยชน์แก่กันเป็นวัตถุประสงค์หลักของการดำเนินความร่วมมือระหว่างสองฝ่ายสู่ระดับลึกยิ่งขึ้น
ส่วนข้อเสนอ 7 ข้อ ได้แก่ การหารือเรื่องการลงนามสนธิสัญญาว่าด้วยความร่วมมือฉันประเทศเพื่อนบ้านระหว่างจีนกับอาเซียน การเริ่มเจรจาเกี่ยวกับการยกระดับของเขตการค้าเสรีจีน-อาเซียนให้สูงขึ้น การเร่งพัฒนาสิ่งอำนวยความสะดวกขั้นพื้นฐานในโครงการเชื่อมโยงระหว่างกันในอาเซียน การกระชับความร่วมมือด้านการเงินและการป้องกันความเสี่ยงทางการเงินภายในภูมิภาค ส่งเสริมความร่วมมือทางทะเล กระชับการแลกเปลี่ยนความร่วมมือด้านความมั่นคง วัฒนธรรม วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและการรักษาสิ่งแวดล้อม
แก่นแท้ของความรับรู้ร่วมกัน 2 ประการดังกล่าวคือ สร้างความเชื่อถือทางยุทธศาสตร์ และพัฒนาเศรษฐกิจเพื่ออำนวยประโยชน์แก่กัน โดยความเชื่อถือทางยุทธศาสตร์เป็นพื้นฐานของทุกอย่าง ไม่มีพื้นฐานนี้ ก็ไม่มีความร่วมมือในขั้นต่อไป ส่วนการอำนวยประโยชน์แก่กันด้านเศรษฐกิจนั้น หมายถึงความร่วมมือต้องสร้างอยู่บนพื้นฐานของผลประโยชน์ร่วมกัน เพื่อทำให้ต่างฝ่ายต่างได้รับประโยชน์จากความร่วมมือนี้ ดังนั้น สรุปแล้วก็คือ ความรับรู้ร่วมกัน 2 ประการเน้นหลักการและพื้นฐาน
ส่วนข้อเสนอ 7 ข้อนั้นรวมถึงความร่วมมือ 7 ด้าน อาทิ การเมือง เศรษฐกิจและการค้า สิ่งอำนวยความสะดวกขั้นพื้นฐาน การเงิน ความมั่นคง วัฒนธรรมตลอดจนความร่วมมือทางทะเล
ในด้านการเมือง จีนเสนอให้หารือเรื่องการลงนามในสนธิสัญญาว่าด้วยความร่วมมือฉันประเทศเพื่อนบ้านระหว่างจีนกับประเทศอาเซียน ซึ่งก่อนหน้านี้จีนกับประเทศต่างๆ ในอาเซียนได้ร่วมกันลงนามในสนธิสัญญาว่าด้วยความร่วมมือฉันมิตรแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยสนธิสัญญาฉบับนี้เป็นสนธิสัญญาระหว่างประเทศอาเซียนฉบับแรก คราวนี้จีนเสนอให้ลงนามสนธิสัญญาแบบทวิภาคีกับประเทศอาเซียน ซึ่งเป็นการปูพื้นฐานทางกฎหมายสำหรับการยกระดับความสัมพันธ์ระหว่างสองฝ่ายขึ้นสู่ระดับสูงยิ่งขึ้น เมื่อเทียบกับสนธิสัญญาฉบับเก่าแล้ว ฉบับใหม่ที่เสนอโดยนายกรัฐมนตรีหลี่ เค่อเฉียงได้เติมคำว่า"ฉันประเทศเพื่อนบ้าน"และเพิ่มเติมเนื้อหาเกี่ยวกับการใช้ความพยายามร่วมกันเพื่อพิทักษ์สันติภาพและเสถียรภาพของภูมิภาคทะเลจีนใต้ ซึ่งมีความสำคัญอย่างยิ่ง
สิ่งที่ทำให้บรรดาประเทศอาเซียนรู้สึกกังวลมากที่สุดคือ จะสามารถอยู่ด้วยกันอย่างปรองดองกับจีนได้หรือไม่ เนื่องจากศักยภาพรวมของประเทศอาเซียนเมื่อเทียบกับจีนแล้วยังห่างกันมาก และเคยเกิดปัญหาต่างๆ นานาในอดีต และปัจจุบันยังคงมีปัญหากรณีพิพาททางทะเลด้วย การที่ฝ่ายจีนเสนอให้พัฒนาความร่วมมือฉันประเทศเพื่อนนั้น เป็นการสร้างหลักประกันทางกฎหมายให้กับการพัฒนาความสัมพันธ์ฉันเพื่อนบ้านระหว่างสองฝ่าย โดยจะไม่ใช้กำลังรุนแรงในการแก้ปัญหา
การที่นายกรัฐมนตรีหลี่ เค่อเฉียงเสนอให้เริ่มเจรจาเรื่องการยกระดับของเขตการค้าเสรีจีน-อาเซียนให้สูงขึ้น ก็เพื่อเพิ่มความสะดวกและอิสระเสรีด้านการค้า ทำให้สองฝ่ายได้รับประโยชน์ร่วมกัน อีกทั้งได้ตั้งเป้าหมายไว้ว่าจะพยายามทำให้ยอดมูลค่าทางการค้าระหว่างสองฝ่ายเป็นถึง 1 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ และการลงทุนต่อกันเป็นถึง 150,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐภายในปี 2020 นอกจากนี้ จีนยังเสนอให้ยกระดับเขตการค้าเสรีพร้อมกับการสร้างความสัมพันธ์หุ้นส่วนทางเศรษฐกิจรอบด้านภายในภูมิภาค ทำให้เขตการค้าเสรีจีน-อาเซียนกลายเป็นเวทีส่งเสริมความสัมพันธ์หุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระหว่างประเทศต่างๆ ภายในภูมิภาค ทำให้จีนกับประเทศอาเซียนกลายเป็นประชาคมที่มีผลประโยชน์เกี่ยวโยงกันและร่วมชะตากรรมเดียวกัน