今日中国青海艺术展
|
กรุงเทพฯ – 28 ตุลาคม 2556 เวลา 18.30 น. ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศจีน กรุงเทพฯ ได้ทำการเปิดงานนิทรรศการศิลปหัตถกรรมพื้นเมืองชิงไห่ ซึ่งถือเป็นหนึ่งในสามส่วนกิจกรรมหลักในสัปดาห์ศิลปะ "ประเทศจีนปัจจุบัน" งานในครั้งนี้มีสมาพันธ์วงการวรรณคดีและศิลปะแห่งประเทศจีนร่วมมือกับสถานเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐประชาชนจีนประจำประเทศไทยเป็นเจ้าภาพและได้รับการสนับสนุนในการจัดงานจากศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศจีน กรุงเทพฯและสมาพันธ์ศิลปินไทย-จีน
พิธีเปิดได้รับเกียรติจากนายพินิจ จารุสมบัติอดีตรองนายกรัฐมนตรีและประธานสภาส่งเสริมวัฒนธรรมและความสัมพันธ์ไทย-จีน, นายฉิน อี้ว์เซินอุปทูตฝ่ายวัฒนธรรมสถานเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐประชาชนจีนประจำประเทศไทย, นายหลี่ เฉียงกวง เลขาฯสำนักเลขาธิการสมาพันธ์ศิลปะแห่งชาติจีน, นางสาวหลาน ซู่หง ผู้อำนวยการศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศจีน กรุงเทพฯ รวมถึงแขกผู้มีเกียรติทั้งชาวไทยและชาวจีนเข้าร่วมงาน
นายฉิน อี้ว์เซินอุปทูตฝ่ายวัฒนธรรมสถานเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐประชาชนจีนประจำประเทศไทยกล่าวต้อนรับแขกผู้เกียรติและเปิดงานนิทรรศการฯอย่างเป็นทางการ พร้อมเชิญชวนให้ทุกท่านลองสัมผัสกับวัฒนธรรมของชิงไห่ ซึ่งเป็นแหล่งกำเนิดของแม่น้ำสามสาย คือ แม่น้ำเหลือง แม่น้ำแยงซีเกียง และแม่น้ำล้านช้าง
นายพินิจ จารุสมบัติอดีตรองนายกรัฐมนตรีและประธานสภาส่งเสริมวัฒนธรรมและความสัมพันธ์ไทย-จีนได้กล่าวคำปราศรัยในพิธีเปิดไว้ว่า ประเทศจีนกว้างใหญ่ไพศาล มีประชากรถึง 56 ชนชาติและในมณฑลชิงไห่ก็มีประชากรอยู่รวมกันมากมายถึง 53 ชนชาติ โดยทั้งหมดอยู่ด้วยกันอย่างผาสุก ปรองดอง วันนี้มิตรชาวจีนและศิลปินทั้งหลายเดินทางมาจากชิงไห่ซึ่งถือเป็นต้นน้ำ มาเยือนประเทศไทยซึ่งอยู่ช่วงกลางน้ำ ถือเป็นเรื่องน่ายินดีเป็นอย่างยิ่ง ในแง่ศิลปะ วัฒนธรรมและความเชื่อ สิ่งหนึ่งที่สังเกตได้คือแม้เราจะต่างกันในเรื่องรูปแบบทางศิลปะ อย่างเช่น ชาวบ้านตามท้องถิ่นไทยนิยมใช้ไม้แกะสลัก ส่วนทางชิงไห่นิยมทำออกมาในรูปทังก้าหรือภาพปัก แต่ก็มีความเชื่อที่คล้ายคลึงกันในเรื่องของพระพุทธเจ้า นี่คือจุดเชื่อมโยงและแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรมได้เป็นอย่างดี
ภายในงานมีการแสดงนิทรรศการทังก้าชาวทิเบต, งานเย็บปักถักร้อย และงานฝีมือตัดกระดาษ รวมถึงการสาธิตงานศิลปหัตถกรรมพื้นเมืองชิงไห่ ซึ่งได้รับความสนใจอย่างมากจากผู้เข้าร่วมงาน
นายตงจื้อฉายตั้น หนึ่งในศิลปินชนเผ่าทิเบตหวงหนาน มณฑลชิงไห่ ผู้ซึ่งเดินทางข้ามน้ำข้ามทะเลมาสาธิตการทำทังก้าชาวทิเบตเปิดเผยว่า งานนิทรรศการในครั้งนี้เขาได้นำผลงานที่ถือว่าเป็นสุดยอดมาแสดงด้วยจำนวนหลายชิ้น ซึ่งในการทำทังก้าแต่ละครั้งจะใช้เวลามากน้อยต่างกันอยู่ที่ความยากง่าย สำหรับเขางานที่เคยทำเสร็จรวดเร็วที่สุดอยู่ที่ 1 วันและงานที่ใช้เวลานานที่สุดคือ 8 เดือนและมีศิลปินช่วยกันทำงานทั้งหมด 4 คน อุปกรณ์ที่ใช้ในการทำทังก้าทำจากผ้า ใช้เครื่องมือลักษณะคล้ายถ่านดินสอที่มีความเปราะบาง หักง่ายวาดโครงร่างก่อนการลงสีหรือทำขั้นตอนต่อไป หากต้องการลบก็ทำได้ง่ายๆแค่ใช้กระดาษทิชชูปาดเบาๆ ส่วนมากชนเผ่าทิเบตนิยมใช้ทังก้ารูปพระพุทธเจ้าหรือสิ่งศักดิ์สิทธิ์ต่างๆไว้กราบไหว้สักการะภายในบ้าน ได้ยินมาว่าคนไทยก็นิยมกราบไหว้พระพุทธเจ้าเช่นกันแต่ยังไม่มีโอกาสได้เห็นว่ากระทพด้วยวิธีการไหน แตกต่างหรือเหมือนอย่างไร ครั้งนี้เป็นการมาเยือนเมืองไทยครั้งแรกของเขา และยังไม่มีเวลาได้ออกไปชมความงดงามของบ้านเมือง แต่หวังว่าหลังจากงานนิทรรศการเสร็จสิ้นคงได้มีโอกาสเที่ยวชมเมืองไทยอย่างแน่นอน
เรียบเรียงและรายงาน: อรอนงค์ อรุณเอก 林敏儿